constipation at phyathai 2 hospital 2

ท้องผูกเรื้อรัง สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ รีบดูแลก่อนสาย!

ภาวะท้องผูกเรื้อรัง สัปดาห์หนึ่งถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง เบ่งยาก อุจจาระแข็ง บางคนถึงขั้นมีเลือดออกขณะขับถ่าย ภาวะเหล่านี้อันตราย ไม่ควรนิ่งนอนใจ
เพราะอาจเป็นอาการแสดงของโรคร้ายแรงต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร อย่างมะเร็งลำไส้ได้! 

ท้องผูกอันตรายขนาดนั้นเลยจริงเหรอ? ถ้าอยากรักษาอาการท้องผูกต้องทำอย่างไร?
บทความนี้ พญ. ณัฐธิดา ศรีบัวทอง คุณหมอเฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ จากโรงพยาบาลพญาไท 2 จะมาให้คำตอบกัน จะน่าสนใจแค่ไหนมาดูกันเลย!

อาการหรือโรคทางเดินอาหารที่มักพบได้บ่อยในคนไทยปัจจุบัน

สำหรับอาการหรือโรคทางเดินอาหารที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย กรดไหลย้อน โรคกระเพาะ แต่ปัจจุบันคุณหมอณัฐธิดาได้สังเกตว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องท้องผูกมากขึ้นเรื่อยๆ

อาจเป็นเพราะสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยอาการท้องผูกกับผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องที่มาคู่กัน เพราะยิ่งอายุมากขึ้น การทำงานของระบบทางเดินอาหารจะลดประสิทธิภาพลง การย่อยอาหารก็ทำได้ยากขึ้น ยิ่งถ้าผู้สูงอายุบางคนมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะเกิดท้องผูกได้มากขึ้น

นอกจากนี้แล้วไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ก็มีความเร่งรีบ บางคนอาจไม่มีเวลาใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ทั้งในด้านการเลือกรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ การออกกำลังกาย รวมไปถึงการเข้าห้องน้ำ หลายคนมีพฤติกรรมการอั้นอุจจาระบ่อยๆ เนื่องจากชีวิตที่เร่งรีบ ซึ่งการทำแบบนี้เป็นประจำอาจเป็นสาเหตนำไปสู่อาการท้องผูกเรื่องรังได้

โดยทั่วไปแล้วถ้ามีอาการท้องผูกในระยะแรกอาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แค่ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการขับถ่ายให้เหมาะสมก็จะทำให้อาการท้องผูกค่อยๆ ดีขึ้น 

แต่ในบางคน โดยเฉพาะในคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป อาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่นๆ ในทางเดินระบบอาหาร ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยอาการที่ควรรีบพบแพทย์ มีดังนี้

  • ผู้ที่มีท้องผูกสลับกับท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่มีอุจจาระลำเล็กลง
  • ผู้ที่อุจจาระมีมูก มีเลือดปน
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งลำไส้

ท้องผูก

ท้องผูกเรื้อรังอันตรายไหม?

อาการท้องผูกเรื้อรัง ถ้าไม่ได้มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยก็ถือเป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่อาจรบกวนคุณภาพชีวิตได้ โดยผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังมักจะรู้สึกอึดอัด แน่นท้องอยู่บ่อยๆ ถ้าปล่อยไว้นานๆ ไม่รีบรักษาก็อาจทำให้อุจจาระแข็งตัวจนลำไส้อุดตันได้

แต่ความอันตรายที่แท้จริงของอาการท้องผูก คือ คนไข้ส่วนใหญ่มักปล่อยปละละเลย ไม่สนใจที่จะหาสาเหตุของอาการว่าที่จริงแล้วอาการท้องผูกที่เป็นอยู่เป็นแค่อาการท้องผูกที่ทำให้การขับถ่ายลำบากเท่านั้น หรือเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่นๆ ที่รุนแรงมากกว่าอย่างโรคมะเร็งลำไส้ อุ้งเชิงกรานหย่อน หรือความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนัก

นอกจากนี้ การพยายามที่จะรักษาท้องผูกด้วยตนเองด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น การสวนทวารด้วยตัวเอง การพยายามดีท็อกซ์ลำไส้ทุกๆ วัน การใช้นิ้วมือหรือสายฉีดชำระกระตุ้นทวารหนักเพื่อให้ขับถ่าย 

การทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีในการขับถ่าย และยังอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ทวารหนักจนเกิดแผลและมีเลือดออกมากได้ แนะนำว่าถ้ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง การเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

การรักษาท้องผูกเรื้อรังมีอะไรบ้าง?

การรักษาท้องผูกเรื้อรังมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยในช่วงแรกที่อาการไม่รุนแรงมาก อาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น

  • ดื่มน้ำมากขึ้น โดยน้ำช่วยทำให้อุจจาระนุ่มและเคลื่อนตัวในลำไส้ได้ง่ายขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ที่มากพอ อย่างผัก ผลไม้ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของร่างกายจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ช่วยทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • สร้างนิสัยที่ดีในการขับถ่าย โดยการพยายามเข้าห้องน้ำเวลาเดิมในทุกๆ วัน โดยเฉพาะหลังมื้อแรกของวัน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการขับถ่ายมากที่สุด เพราะเมื่อเรารับประทานอาหารเช้า อาหารที่เพิ่งรับประทานเข้าไปจะไปกระตุ้นให้ลำไส้ขับของเสียเดิมออก หลังรับประทานอาหารเช้า เราจึงควรเข้าห้องน้ำและพยายามถ่ายถึงแม้จะไม่รู้สึกปวดท้องก็ตาม และไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือตอนขับถ่าย การทำเช่นนี้เป็นประจำจะช่วยให้เราเกิดนิสัยที่ดีในการขับถ่ายได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาระบายอย่างต่อเนื่อง ยาระบายส่วนใหญ่ในท้องตลากมักมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หากเราทานยาระบายชนิดนี้เป็นประจำ เมื่อไม่ได้ทานยาลำไส้จะขี้เกียจ บีบตัวลดลง และนานๆไปเมื่อทานยาจำนวนเท่าเดิมอย่างต่อเนื่องก็อาจเจอปัญหาว่าฤทธิ์ของยาไม่รุนแรงพอที่จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้อีก จึงไม่แนะนำให้ซื้อยาระบายรับประทานเองอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ จนเกิดอาการท้องผูกเรื้อรังได้

หากปรับพฤติกรรมตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับคำแนะนำที่เหมาะสม โดยมากแล้วการรักษาเริ่มต้นสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง คือ การใช้ยา โดยคุณหมอจะพิจารณาจ่ายยาที่ช่วยให้คนไข้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น โดยวิเคราะห์จากสาเหตุ อาการ ควบคู่ไปกับการใช้เทคนิคเฉพาะของทางสาขา

ทั้งนี้หากมีการปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาแล้ว อาการท้องผูกเรื้อรังยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจทางระบบทางเดินอาหารเพิ่มเติม เพื่อดูว่าคนไข้มีความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่ เช่น มีอุ้งเชิงกรานหย่อน มีลำไส้กลืนกัน หรือภาวะเรกโตซีล (Rectocele)

ขับถ่าย

การฝึกขับถ่ายคืออะไร?

การฝึกขับถ่าย (Bowel Training) เป็นวิธีที่ช่วยปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรังหรือมีปัญหาควบคุมการขับถ่าย เช่น ผู้ที่มีแรงเบ่งไม่มากพอ ผู้ที่ไม่สามารถรู้สึกได้ว่ามีอุจจาระอยู่ในช่องท้อง ผู้ที่กล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักทำงานไม่สัมพันธ์กันในขณะที่ขับถ่าย โดยปัญหาควบคุมการขับถ่าย มักเกิดจากพฤติกรรมที่เร่งรีบ การมีปัญหาปัสสาวะเล็ดจึงพยายามอั้นปัสสาวะ การอั้นอุจจาระบ่อยๆ 

โดยทั่วไปของการฝึกขับถ่ายคุณหมอจะเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมและกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น การสร้างความเข้าใจให้กับคนไข้ว่าความรู้สึกแบบไหนคือความรู้สึกที่เราจะต้องไปเข้าห้องน้ำ หรือในบางคนที่มีปัญหาเรื่องการเบ่งถ่ายอุจจาระ คุณหมอก็จะทำการแนะนำวิธีการเบ่งและคลายกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีให้

ขั้นตอนการฝึกขับถ่าย

ผู้ที่สนใจที่จะเข้ามาตรวจเพื่อทำการฝึกการขับถ่าย ไม่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ สามารถเข้ามาพบคุณหมอได้เลย

โดยขณะที่ตรวจคุณหมอจะสอดสายเล็กๆ เข้าไปทางรูทวาร จากนั้นคุณหมอจะปล่อยให้คนไข้ลองถ่ายอุจจาระด้วยตนเอง เพียงเท่านี้คุณหมอก็จะสามารถวินิจฉัยได้แล้วว่าความผิดปกติในการขับถ่ายของคนไข้มาจากสาเหตุใด 

โดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียง 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนที่คนไข้จะต้องจำความรู้สึกขณะที่คุณหมอสอนแล้วกลับไปทำตามที่บ้านต่อเป็นประจำ

โดยทั่วไปแล้วจำนวนครั้งในการเข้ารับการฝึกขับถ่ายจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่คนไข้จะเข้ารับการฝึกเพียง 2-3 ครั้ง ก็จะสามารถกลับไปขับถ่ายได้ตามปกติแล้ว

การส่องกล้องทางเดินอาหารคืออะไร?

การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy) เป็นกระบวนการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า กล้องส่องทางเดินอาหาร (Endoscope) เข้าไปตรวจความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยเครื่องมือนี้จะส่งภาพจากภายในทางเดินอาหารมายังจอแสดงผล ทำให้แพทย์มองเห็นภายในของระบบทางเดินอาหารได้ชัดเจน อีกทั้งยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่เจอแผล หรือติ่งเนื้อได้อีกด้วย

การส่องกล้องทางเดินอาหาร

โดยการส่องกล้องทางเดินอาหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

    • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน (Upper Endoscopy หรือ Gastroscopy) เป็นการส่องกล้องลงไปทางปาก การส่องกล้องด้วยวิธีจะใช้ในการตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง โรคกระเพาะอาหารหรือปวดท้องเรื้อรัง ผู้ที่มีปัญหากลืนติด กลืนลำบาก
    • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องลงไปทางทวารหนัก การส่องกล้องด้วยวิธีจะใช้ในการตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ไปจนกระทั่งลำไส้เล็กส่วนปลาย ซึ่งการส่องกล้องด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เพราะถ้าหากพบความผิดปกติในลำไส้ เช่น ติ่งเนื้อ เนื้องอก แผลต่างๆในลำไส้ การส่องกล้องจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติและทำการรักษาได้ทันที การตัดติ่งเนื้อโดยการส่องกล้อง แท้จริงแล้วถือเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะแพทย์จะทำการตัดติ่งเนื้อที่พบก่อนที่มันจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้เสมอ

สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเจ็บปวดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกังวล เพราะในขณะที่ส่องกล้องคุณหมอจะมีการให้ยานอนหลับอ่อนๆ ควบคู่ไปกับยาแก้ปวด ทำให้แทบไม่รู้สึกถึงความรู้เจ็บขณะทำเลย

ใครที่เหมาะกับการส่องกล้องทางเดินอาหาร?

  • ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง ที่รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีอุจจาระสีดำ
  • ผู้ที่อุจจาระมีมูก มีเลือดปน
  • ผู้ที่มีท้องผูกสลับกับท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่ท้องเสียนานกว่า 2 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งลำไส้
  • ผู้ที่มีประวัติน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่มีภาวะซีด

ข้อดีของการส่องกล้องทางเดินอาหาร

  • สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้ในคราวเดียว เป็นหัตถการที่ไม่อันตราย และไม่เจ็บ ไม่มีแผล ไม่ต้องพักฟื้น หลังทำสามารถกลับบ้านใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ทันที
  • สำหรับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ หากไม่ได้เป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงสูง และผลการส่องกล้องปกติ สามารถเว้นการตรวจได้นานถึง 10 ปี

ข้อจำกัดของการส่องกล้องทางเดินอาหาร

  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ลำไส้ทะลุ มีเลือดออกที่ลำไส้ แต่กรณีเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมาก

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหาร

ก่อนที่จะเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารคนไข้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน โดยผู้ที่จะส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน สามารถเตรียมตัวได้ง่ายๆ เพียงงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน ก่อนวันที่จะเข้ารับบริการเพียงเท่านี้ก็สามารถเข้ารับบริการได้เลย

ส่วนในผู้ที่เข้ารับบริการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง อาจมีการเตรียมตัวที่ซับซ้อนกว่า เพราะการที่คุณหมอจะสามารถสังเกตเห็นและรักษาติ่งเนื้อเล็กๆ ที่เกาะอยู่บริเวณลำไส้ได้ ลำไส้จะเป็นที่จะอยู่ในสภาพที่เหมาะสมก่อน

การเตรียมตัวสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง สามารถทำได้โดยการงดผัก ผลไม้เป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากอาหารที่มีไฟเบอร์มากมักจะค้างอยู่ในลำไส้และอาจบังติ่งเนื้อได้ ส่วนอาหารชนิดอื่นๆ ยังคงทานได้ปกติ 

นอกจากนี้จะต้องเตรียมลำไส้ให้สะอาดโดยการทานยาถ่ายหรือยาระบาย โดยถ้าต้องเข้ารับการส่องกล้องตอนเช้า สามารถทานยาได้ตั้งแต่ตอนเย็นของวันก่อนหน้า หรือถ้าหากไม่สะดวกที่จะเตรียมลำไส้ด้วยตนเอง สามารถมาที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมลำไส้ในช่วงเช้า และเข้ารับการส่องกล้องในช่วงบ่ายวันนั้นได้เลย

อย่างไรก็ตาม ยารักษาโรคประจำตัวบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกขณะส่องกล้องได้ ในบางรายคุณหมออาจแนะนำให้งดยาชนิดนั้นไปก่อน ทั้งนี้การงดยาบางชนิดจำเป็นที่จะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอ เพราะการงดยาบางชนิดเอง อาจส่งผลอันตรายที่รุนแรงกับคนไข้ได้

มะเร็งลำไส้

ขั้นตอนการส่องกล้องทางเดินอาหาร

ขั้นตอนการส่องกล้องทางเดินอาหารนั้นไม่ซับซ้อน โดยเมื่อคนไข้มาถึง คุณหมอก็จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจสุขภาพเบื้องต้นก่อน ในส่วนของกระบวนการในการส่องกล้อง คุณหมอจะให้ยานอนหลับและยาแก้ปวดที่จะช่วยลดกังวลและความเจ็บปวดขณะทำ จากนั้นคุณหมอจะใส่เครื่องมือ(กล้อง)ลงไปตามทางทางเดินอาหาร และบังคับกล้องให้ไปตามทางของทางเดินอาหาร ทางเดียวกันกับที่อาหารเข้าไปเวลาที่เรารับประทานอาหาร หากขณะที่ส่องกล้องพบความผิดปกติใดๆ คุณหมอก็จะทำการรักษาให้โดยทันที การตัดติ่งเนื้อลำไส้นั้นไม่เจ็บ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไรเลยขณะที่แพทย์ทำหัตถการ

การดูแลตัวเองหลังการส่องกล้องทางเดินอาหาร

หลายๆ คนมักเข้าใจว่าหลังการส่องกล้องจำเป็นที่จะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลก่อน แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะจริงๆ แล้ว หลังการส่องกล้องคนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและสามารถรับประทานอาหารได้ทันที

อย่างไรก็ตามอาจต้องคอยสังเกตอาการด้วยตนเองว่ามีอาการผิดปกติอะไรหรือเปล่า เช่น การมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้องมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการตัดติ่งเนื้อ ทั้งนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

วิธีการป้องกันไม่ให้ท้องผูกเรื้อรัง สุขภาพทางเดินอาหารดีระยะยาว

การป้องกันท้องผูกเรื้อรัง และการส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหารในระยะยาว สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม

  • ดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร หรือมากกว่านั้นหากออกกำลังกายหนัก
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ที่มากพอ อย่างผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เมล็ดเจีย หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและไขมันสูง เช่น ฟาสต์ฟู้ด ขนมกรุบกรอบ และอาหารทอด 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของร่างกายจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ นอกจากจะช่วยทำขับถ่ายได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นอีกด้วย
  • การจัดการความเครียด ลำไส้นั้นเปรียบเหมือนสมองที่ 2 ของร่างกาย ดังนั้นการที่มีความเครียดมากๆ อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติได้ โดยอาจฝึกลดความเครียด โดยการฝึกสมาธิ การฝึกการหายใจ หาเวลาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย
  • เคี้ยวอาหารให้ช้าลง ฟันเป็นระบบย่อยอาหารอีกสิ่งหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้เราย่อยอาหารได้ดีขึ้น หากเรารับประทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวข้าวเพียงไม่กี่ครั้งต่อคำก็อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้องได้

พญ. ณัฐธิดา ศรีบัวทอง โรงพยาบาลพญาไท 2

การดูแลระบบทางเดินอาหาร เป็นเรื่องของการปรับวิถีชีวิตในระยะยาว หากดูแลอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดท้องผูกเรื้อรังและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องได้

Scroll to Top