women cancers age screening when to get check scaled

5 มะเร็งในผู้หญิงที่ควรตรวจคัดกรอง เริ่มตรวจตอนอายุเท่าไหร่ดี

นอกจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีมะเร็งอีกหลายชนิดที่พบบ่อยในผู้หญิง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งปอด การตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เจอความผิดปกติ หากเป็นมะเร็งจะช่วยให้รับการรักษาได้ไว คำถามคือ แล้วอายุเท่าไหร่ที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิง แล้วต้องไปตรวจถี่แค่ไหนถึงจะดี บทความนี้มีคำตอบมาฝากกันแล้ว 

มะเร็งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเซลล์เกิดความผิดปกติที่สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้ และลุกลามไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทางระบบเลือดหรือระบบน้ำเหลือง แม้ว่าสาเหตุยังไม่รู้แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความผิดปกตินี้ เช่น อายุมาก โรคประจำตัว โรคทางพันธุกรรม ฮอร์โมน พฤติกรรมการกินอาหาร หรือกระทั่งสภาพแวดล้อม เราจึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิงอย่างมาก แม้ในช่วงวัยที่มีความเสี่ยงน้อยก็ตาม หากตรวจเจอจะช่วยให้เราเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย     

1. มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่พบในเพศหญิง โดยเฉพาะช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป มักเกิดบริเวณเต้านม ท่อน้ำนม รวมถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้และไหปลาร้า ในระยะแรกมักไม่เกิดอาการใด ๆ แต่เราสามารถตรวจเต้านมด้วยตัวเองเบื้องต้น เพื่อหาความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของเต้านม อย่างคลำเจอก้อน ลักษณะหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปได้   

ช่วงอายุที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม 

  • อายุ 20 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และตรวจโดยแพทย์ทุก 3 ปี
  • อายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์เป็นประจำทุกปีเพิ่มเติม
  • คนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยฉายรังสีบริเวณหน้าอก แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และตรวจโดยแพทย์ทุก 6-12 เดือน  

2. มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) มักพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-50 ปี มีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ชนิดก่อมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 45, 31 และ 33 ผู้หญิงส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์  โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ตอนอายุน้อย โดยเชื้อเอชพีวีจะอยู่ในร่างกายได้นาน 10-15 ปี ก่อนจะพัฒนาไปสู่มะเร็งปากมดลูก  

ช่วงอายุที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  

  • อายุ 25-65 ปี ผู้หญิงอายุ 25 ปี และมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรืออายุ 30 ปี ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เลือกตรวจจาก 2 วิธีต่อไปนี้
    • ตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear, Pap Test) หรือตรวจตินเพร็พ (Thin Prep) ทุก 1-2 ปี  
    • ตรวจหาเชื้อเอชพีวีทุก 3-5 ปื หรือตรวจหาเชื้อเอชพีวีร่วมกับวิธีอื่น (Co-Testing) อาจจะเป็นแปปสเมียร์หรือตินเพร็พ ทุก 5 ปี
  • อายุ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ กรณีผลตรวจช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปกติอาจหยุดตรวจได้ 

3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Colorectal Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในหญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ก่อให้เกิดปัญหาขับถ่ายและย่อยอาหาร ทำให้ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นได้ นอกจากคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งชนิดนี้มาก่อน ตัวเองมีประวัติเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงของโรคมักมาจากการพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารแปรรูปหรือไขมันสูง 

ช่วงอายุที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

  • อายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจอุจจาระทุกปี หากพบความผิดปกติควรตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องทุก 5-10 ปี 
  • อายุ 75 ปีขึ้นไป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
  • คนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนในครอบครัวมีประวัติติ่งเนื้อหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีปัจจัยเสี่ยงอื่น แนะนำให้เริ่มตรวจตอนอายุ 40 ปี หรือตรวจให้เร็วขึ้นก่อนอายุที่คนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 5 ปี 

4. มะเร็งตับ

มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่เกิดในเนื้อตับ โดยเซลล์มะเร็งอาจเกิดที่ตับโดยตรง หรือแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคตับแข็ง พยาธิใบไม้ในตับ ดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารเคมีและสารพิษ การกินอาหารหมักดองหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ในช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ ทำให้มักจะตรวจเจอในระยะท้าย ๆ ที่รักษาได้ยากหรือรักษาไม่ได้แล้ว จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองเป็นประจำ 

ช่วงอายุที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งตับ

  • อายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเลือดหาค่าการทำงานของตับและหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha-fetoprotein: AFP) หรืออัลตราซาวด์ตับทุก 6-12 เดือน บางกรณีอาจแนะนำให้ตรวจช่องท้องส่วนบนเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan)
  • คนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นโรคตับแข็ง มีภาวะไขมันพอกตับ หรือคนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งตับ แนะนำให้เริ่มตรวจที่อายุ 25 ขึ้นไป หรือตามที่แพทย์แนะนำ    

5. มะเร็งปอด

ขึ้นชื่อว่ามะเร็งปอดก็มักเกิดอาการในระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ปัจจัยหลักของโรคมักมาจากการสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่มือสอง สารเคมี สารพิษ มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 รวมถึงปัญหาสุขภาพ อย่างวัณโรคหรือถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตอนที่มะเร็งเริ่มลุกลามไปแล้วหรือในช่วงระยะที่ 3-4 

ช่วงอายุที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

  • อายุ 50-80 ปี และมีประวัติสูบบุหรี่จัดเป็นเวลานาน แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose CT) ทุกปี โดยพิจารณาจากประวัติการสูบบุหรี่
  • คนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งปอด ตัวเองมีประวัติโรคปอดเรื้อรังหรือมะเร็งปอด ได้รับควันบุหรี่มือสอง หรือทำงานที่ได้สัมผัสสารเคมี แก๊ส หรือฝุ่นละออง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม

สิ่งสำคัญในการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิงคือ ไม่ละเลยและเริ่มตรวจในช่วงอายุที่เหมาะสมเป็นประจำ เพราะนอกจากเจอความผิดปกติได้ก่อนมีอาการ หรืออาการยังไม่รุนแรง ทำให้ได้รับการรักษาได้ไว และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

ตรวจเจอก่อน มะเร็งอาจไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด หาโปรตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิงแบบครบ ๆ รวมมาให้แล้วที่ HDmall.co.th เลือกรพ. และคลินิก พร้อมเปรียบเทียบราคาก่อนจอง สะดวกสุด ๆ คลิกดูโปร 

Scroll to Top