การหาวคือ การแสดงออกเมื่อรู้สึกง่วงนอน หรือเหนื่อยล้าจนอยากพักผ่อน แต่หลายครั้งที่คุณอาจสังเกตว่า ตนเองมีอาการหาวบ่อยผิดปกติทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้สึกง่วง หรืออ่อนเพลียมากขนาดนั้น
สารบัญ
การหาวคืออะไร?
การหาว (Yawn) คือ กลไกการหายใจของร่างกายผ่านการอ้าปาก และสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อเติมออกซิเจนเข้าไปในปอด การหาวถือเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายอย่างหนึ่งเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือรู้สึกอ่อนเพลีย
การหาวมีหลายแบบ บางคนหาวแค่หายใจเข้าสั้นๆ บางคนหาวเป็นเวลานานหลายวินาที บางคนหาวโดยมีน้ำตาไหลออกมาด้วยหลังจากหาวเสร็จ บางคนหาวแล้วต้องยกแขนยืดกล้ามเนื้อไปด้วย
ผู้ที่มีอาการหาวมากกว่า 1 ครั้งต่อ 1 นาที จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอาการหาวบ่อย (Excessive yawning) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากร่างกายอ่อนล้า ง่วงนอน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพด้านอื่นๆ
สาเหตุของอาการหาวบ่อย
ยังไม่มีผลการศึกษาที่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัดว่า อาการหาวบ่อยนั้นเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยที่อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการหาวบ่อย ได้แก่
1. ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
ผู้ที่มีปัญหานอนหลับยาก นอนดึก นอนหลับไม่สนิทจนร่างกายยังไม่หายอ่อนล้า มักมีอาการหาวบ่อยกว่าปกติ หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับ
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเกี่ยวกับการนอนหลับหลายรายที่ไม่รู้ตัวว่า ตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)
ดังนั้นหากไม่ทราบว่า ตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับหรือไม่ ให้สังเกตว่า มีอาการต่อไปนี้หรือไม่
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงาน หรือการเรียนได้
- มีการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวช้า
- เหม่อลอย
- อ่อนเพลีย รู้สึกง่วงตลอดเวลา
- ปวดเมื่อย หรือรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนล้า
2. เป็นโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล หรือมีอาการวิตกกังวล (Anxiety) เป็นอีกสาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการหาวบ่อยมากกว่าปกติ
เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบไปถึงระบบต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ และระดับพลังงานที่ร่างกายจะดึงออกมาใช้ระหว่างวัน
เมื่อระบบของร่างกายไม่สามารถทำงานได้เต็มที่จะนำมาซึ่งอาการหายใจไม่สะดวก หรือหายใจได้ไม่เต็มปอด ทำให้มีอาการหาวบ่อยกว่าปกตินั่นเอง
ผู้ป่วยโรคนี้รวมถึงผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล หรือเครียดจัด ควรลงปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หรือขอรับการทำจิตบำบัดอย่างเหมาะสมต่อไป
3. โรคซึมเศร้า
อาการง่วงนอน อ่อนเพลีย เป็นอีกอาการที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Depression) อีกทั้งเป็นผลกระทบจากการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) ด้วย ซึ่งอาการนี้สามารถแก้ไขได้โดยปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยา
4. โรคหัวใจ
อาการหาวบ่อยเป็นสัญญาณของการไหลเวียนเลือดภายในหัวใจที่ผิดปกติ และอาการหัวใจวาย (Heart attack) ได้
นอกเหนือจากอาการหาวบ่อยแล้ว ยังมีอาการร่วมอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้ว่า หัวใจเกิดความผิดปกติ เช่น
- รู้สึกแน่น หรือเจ็บหน้าอก
- หายใจถี่กว่าปกติ หายใจไม่ทั่วท้อง
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
5. โรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มักมีอาการหาวบ่อยอยู่เป็นประจำ โดยหนึ่งในปัจจัยของโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิรอบตัวผู้ป่วยที่ร้อน หรือหนาวเฉียบพลัน จนส่งผลต่อสมองของผู้ป่วยได้
6. โรคลมบ้าหมู
ผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู (Epilepsy) อาจมีอาการหาวบ่อยในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังจากเกิดอาการชักซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติที่สมองกลีบขมับ (Temporal Lobe) นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหาวบ่อยในระหว่างเกิดอาการอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นผลมาจากโรคลมบ้าหมู
7. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
อาการหาวบ่อยเป็นผลกระทบจากอาการอ่อนเพลียซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis: MS) รวมถึงอาจเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอื่นๆ ได้ด้วย
อีกทั้งโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งยังเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดอาการหาวบ่อยได้โดยไม่ได้ตั้งใจ
การวินิจฉัยอาการหาวบ่อย
เนื่องจากอาการหาวบ่อยมักเกี่ยวข้องกับระบบประสาท รวมถึงการทำงานของสมองด้วย
หลังจากซักประวัติสุขภาพในเบื้องต้นรวมถึงพฤติกรรมการนอนหลับของคุณแล้ว แพทย์อาจให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG) ซึ่งจะช่วยให้เห็นความผิดปกติเกี่ยวกับคลื่นไฟฟ้าในสมอง รวมถึงสามารถวินิจฉัยโรคลมบ้าหมูได้ด้วย
นอกจากนี้แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งจะทำให้แพทย์ได้เห็นโครงสร้างการทำงานของระบบต่างๆ ว่า มีความผิดปกติในส่วนใด
การรักษาอาการหาวบ่อย
การรักษาอาการหาวบ่อยจะรักษาไปตามสาเหตุ เช่น
- หากอาการหาวบ่อยเป็นผลมาจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์ก็จะพิจารณาปรับเปลี่ยนยาให้ แต่หากเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ทางแพทย์ก็อาจแนะนำให้คุณไปรับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ต่อไป
- หากอาการหาวบ่อยเกิดจากพฤติกรรม แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนใหม่ อาจเป็นการปรับช่วงเวลาเข้านอนใหม่ ออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด หรืองดกิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนนอนเพื่อให้หลับง่ายขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เล่นโทรศัพท์มือถือ
อาการหาวบ่อยมีปัจจัยทำให้เกิดได้หลายอย่าง ทั้งภาวะสุขภาพ ภาวะทางจิต รวมทั้งโรคทางจิตเวช ซึ่งในส่วนนี้จะต้องให้แพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำในการรักษา แต่หากอาการหาวบ่อยเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น นอนดึก เครียด วิตกกังวลมากเกินไป
แนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเพื่อให้ร่างกายไม่อ่อนเพลียเกินไป และสามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำในทุกๆ วันได้เต็มที่ รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสดชื่นและตื่นตัว โดยไม่มีอาการง่วงนอนเข้ามาเป็นอุปสรรค
คำถามที่พบบ่อย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี