ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า มีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และโรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ว่ากันว่า สาเหตุมาจากพวกมันมีความแข็งแรงมากขึ้น บ้างก็ว่าพวกมันมีการกลายพันธุ์มากยิ่งขึ้น
สารบัญ
รู้จักไวรัส
ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 20-300 นาโนเมตร และเป็นปรสิตภายในของสิ่งมีชีวิต (Obligatory intracellular parasite) จำเป็นต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น หรือที่เรียกว่า โฮสท์ (Host) ในการดำรงชีวิตและเพิ่มจำนวน
การอาศัยเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่นในการดำรงชีวิตและมีการเพิ่มจำนวนของไวรัส จนก่อให้เกิดโรคในสิ่งมีชีวิตนั้น และมีการส่งต่อไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นี่เองที่ทำให้ไวรัสถูกเรียกกันว่า “สิ่งที่ทำให้เกิดโรคติดต่อ (infectious agents)”
สามารถทำให้เกิดผลตั้งแต่ไม่สบายเล็กน้อยไปจนถึงเกิดโรคที่ทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ในทุกๆ ปีจะดูเหมือนว่า ไวรัสมีความแข็งแกร่งและส่งผลต่อมนุษย์มากขึ้น และด้วยความที่ร่างกายของมนุษย์ค่อยๆ เปลี่ยนไป จุลชีพเหล่านี้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนสภาพเพื่อเอาตัวรอดเช่นกัน
หากพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ไวรัสจำเป็นต้องแข็งแรงขึ้นเพื่อให้สามารถรุกล้ำและเข้าไปอาศัยอยู่ในโฮสท์ หรือเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นให้ได้
ไวรัสและระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างไร?
เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทั้งแบบไม่จำเพาะ (Non-specific immunity) และแบบจำเพาะ (Specific immunity) จะเริ่มทำงานโดยมองว่า “ไวรัสเป็นผู้บุกรุก”
ระบบภูมิคุ้มกันจำเป็นต้องทำลายไวรัสและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสให้สำเร็จ ก่อนที่มันจะเข้าไปในเซลล์และก่อโรค หากไม่เป็นเช่นนี้ มันก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา เนื่องจากเมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์ มันก็จะแบ่งตัวได้มากขึ้น
การที่จะเกิดขึ้นได้เร็วหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
- ความแข็งแรงของไวรัสในการหลบหลีกเซลล์เพชรฆาต (Natural Kill cell (NK cell))
- ความสามารถของไวรัสในการหลบหลีกแอนติบอดี (Antibody)
- ความสามารถของไวรัสในการหลบหลีกไซโตทอกซิกทีเซลล์ (Cytotoxic T cell) ที่ร่างกายหลั่งออกมา
- เซลล์เพชรฆาต แอนติบอดี และไซโตทอกซิกทีเซลล์ ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ล่าช้า หรือทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือไม่
ตัวอย่างเช่น การเป็นไข้ หรือการอาเจียนคือ การกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมประเภทหนึ่งของร่างกาย นอกจากนี้ร่างกายของมนุษย์ยังมีภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในภายหลัง (Acquired Immunity)
หมายความว่า ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากมีการติดเชื้อครั้งแรกและจดจำไวรัสที่เคยติดเชื้อและกำจัดไปแล้วได้ ภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะมีความจำเพาะในการกำจัดเชื้อนั้นๆมาก
เมื่อฉีดวัคซีน ร่างกายก็จะได้รับเชื้อโรคระดับเบาเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถเรียนรู้ที่จะกำจัดเชื้อโรคนั้นๆ ออกไปได้อย่างมีประสิทธิผล นี่จึงเป็นเหตุผลว่า “ทำไมถึงมีอาการเป็นไข้ หลังจากฉีดวัคซีน” นั่นเอง
ทำไมไวรัสถึงแข็งแรงขึ้น?
ในปัจจุบันสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ไวรัสมีความแข็งแรงมากขึ้นนั้นมาจาก “การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมรวมถึงการใช้ผิดวิธี การใช้ยาผิดประเภท ไม่ตรงต่อเชื้อ และการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ”
เหล่านี้เองที่ทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียไม่ถูกกำจัด และตัวไวรัสเองก็จะเกิดการพัฒนากลายพันธุ์ หรือเปลี่ยนการจัดเรียงรหัสพันธุกรมใหม่เพื่อให้ตัวไวรัสไม่ถูกกำจัดโดยยาเหล่านั้น และยังทำให้จุลชีพชนิดอื่นๆเกิดการกลายพันธุ์ตามมาอีกด้วย
อะไรที่ทำให้ไวรัสที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตมีจำนวนมากขึ้น
ระบบภูมิคุ้มกันจะจำว่า ไวรัสเป็นศัตรูและหาทางรับมือกับมันหลังจากนั้น ซึ่งในปัจจุบันอาจดูเหมือนว่า เราติดเชื้อได้เร็วขึ้นและไวรัสบางชนิดก็ทำให้เราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน
อย่างไรก็ตาม มีโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไม่น้อยกว่า 350 โรคที่พบได้ทั่วโลก และมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นประมาณทุก 18 เดือน
สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการเดินทาง สภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน สงคราม การมีประชากรมากเกินไป และการเปลี่ยนแปลงของอาหาร
แม้ว่าเราจะใช้ยาต้านไวรัส มันก็ไม่ได้หมายความว่าไวรัสจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกาย เพียงแต่ยาต้านไวรัสจะไปลดประสิทธิภาพการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของไวรัส หรือยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเท่านั้น
วิธีเอาชนะไวรัสที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยง่าย ด้วยวิธีต่อไปนี้
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่นำไปสู่การติดเชื้อไวรัส
- ติดตามข่าวสารการระบาดของโรคเสมอ
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาด
เมื่อร่างกายของเราแข็งแรง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำไปสู่การติดเชื้อไวรัสแล้ว รับรองว่า เชื้อไวรัสย่อมเข้าสู่ร่างกายเรายากขึ้นๆ หรือหากมีการติดเชื้อจริง ความรุนแรงของโรคย่อมลดน้อยกว่าผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ภกญ. เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์