ลูกไม่ถ่าย ทำอย่างไรดี

ลูกไม่ถ่าย ทำอย่างไรดี

ปัญหาลูกไม่ถ่ายตามเวลาที่เหมาะสม หรือท้องผูกนั้น เป็นปัญหาใหญ่หนักอกหนักใจของผู้ปกครองหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะเมื่อลูกไม่ถ่ายในวัยทารก หรือยังเป็นเด็กเล็ก มักยิ่งสร้างความกังวลให้บรรดาพ่อและแม่มือใหม่เป็นอย่างมาก สาเหตุและเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เมื่อลูกไม่ถ่ายรวมถึงวิธีแก้ มีดังนี้

ลูกไม่ถ่ายนานแค่ไหนเรียกว่า ท้องผูก?

ที่เรียกกันว่า “ท้องผูก” ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับลักษณะของอุจจาระที่ถ่ายมาให้เห็น และลักษณะการถ่ายเป็นสำคัญ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ต้องออกแรงเบ่งมาก ในเด็กเล็กอาจถึงกับหน้าดำหน้าแดง กรีดร้อง ก่อนจะถ่ายออกมาเหนียว แข็ง อย่างนี้ก็เรียกว่าท้องผูก

ส่วนความถี่นั้นขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก โดยทั่วไป คือ ลูกไม่ถ่ายประมาณน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือบางตำราอาจนิยามที่ลูกไม่ถ่ายอุจจาระเกิน 3 วัน จึงจะเรียกว่าท้องผูก

แต่ในเด็กเล็ก หากอุจจาระนิ่มดี แม้จะไม่ถ่ายเป็นเวลาหลายวัน ก็ไม่ได้เรียกว่า ท้องผูก เช่น ในเด็กทารกที่กินนมแม่ สารอาหารในนมแม่ส่วนใหญ่สามารถดูดซึมไปใช้ได้เกือบหมด เหลือของเสียที่ต้องกำจัดออกในปริมาณไม่มาก จึงสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน อาจพบระยะเวลานานสุดได้มากกว่า 2 สัปดาห์ แต่ทารกไม่ได้แสดงอาการอึดอัดอะไร อย่างนี้ก็อาจไม่ต้องแก้ไขหรือรักษา และไม่ได้เรียกว่าท้องผูก

ท้องผูก ลูกไม่ถ่าย เกิดจากอะไร?

การที่ลูกไม่ถ่ายหรือมีอาการท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความผิดปกติของลำไส้แต่กำเนิด การแพ้สารประกอบในนมวัว การให้อาหารผิดประเภท ไม่เหมาะสมกับวัย เช่น ให้รับประทานอาหารเสริมที่ย่อยไม่ได้แก่ทารกเร็วเกินไปทำให้ลูกไม่ถ่าย

ส่วนในเด็กโต พบว่ามากกว่า 90% ของอาการท้องผูกในเด็กเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและอุปนิสัยในการขับถ่าย ซึ่งปัจจุบัน พฤติกรรมการรับประทานอาหารและอาหารสำเร็จรูปทำให้เด็กรับประทานผักและผลไม้รวมถึงอาหารที่มีกากใยน้อยลง บางครั้งยังติดดื่มนมมากเกินไป จึงได้แต่ไขมันเป็นหลัก แต่ไม่มีกากใย หรือเด็กบางคนดื่มน้ำน้อยเกินไป ขับถ่ายไม่เป็นเวลา สาเหตุเหล่านี้ทำให้ลูกไม่ถ่ายและท้องผูกมากขึ้น

หากอุจจาระแข็ง ก้อนใหญ่ อาจจะถ่างรูทวารให้ฉีกขาดเป็นแผล เลือดออก (Anal fissure) มีอาการเจ็บจนไม่กล้าเบ่งถ่าย ก็เป็นสาเหตุของท้องผูกได้

ลูกไม่ถ่าย อันตรายไหม?

หากลูกไม่ถ่ายเพราะเป็นโรคท้องผูกที่ไม่เกิดจากสาเหตุผิดปกติทางกาย มักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่จะมีผลกระทบต่อเด็ก เช่น ในเด็กเล็กอาจจะเกิดพฤติกรรมกลัวการถ่ายอุจจาระ เพราะเคยมีประสบการณ์เจ็บทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ ดังนั้นเวลาถ่ายอุจจาระจะไม่กล้านั่ง จะอั้นถ่าย แต่จะถ่ายในท่ายืน ขมิบก้น หรือไปแอบถ่ายในสถานที่ลับตาคนแทน เช่น มุมห้อง และหากอั้นมากๆ ต่อเนื่องอาจจะทำให้อุจจาระสะสมมากขึ้น ยิ่งถ่ายยากและเกิดเป็นแผลฉีกขาดที่ก้นซ้ำๆ เมื่อเจ็บมากก็ไม่อยากถ่าย วนเวียนไปเรื่อยอย่างนี้ และต่อมาจะกลายสภาพเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ที่ก้น จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นริดสีดวงทวาร จึงควรไปพบแพทย์และรักษาแต่เนิ่นๆ

ผลเสียต่อมา เมื่อลูกไม่ถ่ายก็อาจมีอาการปวดแน่นท้อง อึดอัด เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร มีความรู้สึกปวดอุจจาระน้อยลง เนื่องจากลำไส้ใหญ่ที่ขยายยืดออก

หากปล่อยให้ลูกไม่ถ่ายนานๆจนท้องผูกเรื้อรัง อุจจาระที่สะสมจนเต็มล้นก็จะล้นออกมาผ่านรูทวารหนัก โดยที่เด็กไม่รู้สึกปวดอุจจาระแต่อย่างใด เกิดผลกระทบทางจิตใจ เนื่องจากอาจถูกล้อเลียน และมีกลิ่นติดกางเกง ทำให้เข้าใจผิดว่าเกิดท้องเสียเรื้อรังแทน เป็นต้น

ส่วนอาการท้องผูกที่มาจากความผิดปกติทางกาย เช่น โรคลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s disease) พบได้น้อย กว่า 1 ในหมื่น และมักมีประวัติถ่ายผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด

ถ้าหากลูกไม่ถ่ายจนมีอาการท้องผูกมักปวดท้องเป็นอาการนำ ซึ่งถ้าเป็นมากๆ ก็อาจทำให้มีลักษณะการปวดท้องคล้ายกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น หากปวดท้องมากจนเดินตัวงอ ก็อาจคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบได้ แต่โดยทั่วไป อาการปวดท้องจากท้องผูกเพียงอย่างเดียวจะไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เมื่อได้ถ่ายก็จะหายปวดเอง ดังนั้น หากลูกบอกว่าปวดท้อง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการร่วมอื่น เช่น มีไข้ ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะติดเชื้อร่วมด้วยได้ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม

จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูกได้อย่างไร?

ลูกไม่ถ่ายจนมีอาการท้องผูก ป้องกันได้ โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกับการบริโภคอาหารที่มีกากใยอย่างเพียงพอ ในเด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่อยู่แล้ว แต่ลูกไม่ถ่ายหลายวัน หรือทารกอึดอัดแน่นท้อง คุณแม่อาจกินผัก ผลไม้ที่ช่วยระบาย เช่น น้ำลูกพรุน มะละกอ แก้วมังกร ส้ม มะขาม ก็จะช่วยให้ลูกถ่ายง่ายขึ้น และทำการนวดท้องลูก (Baby massage) เพื่อช่วยระบายลม และช่วยเคลื่อนไหวของลำไส้โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ท่า I ใช้ฝ่ามือลูบเป็นเส้นตรงจากใต้ราวนมด้านซ้ายถึงบริเวณท้องน้อยเป็นตัว I (ด้านซ้ายของเด็ก)
  2. ท่า LOVE ใช้ฝ่ามือลูบเป็นตัว L กลับหัวบริเวณท้อง โดยเริ่มลากมือจากซ้ายไปขวาตามแนวนอนถึงใต้ชายโครงซ้าย แล้วลากลงตรงๆถึงบริเวณท้องน้อย
  3. ท่า YOU ใช้ฝ่ามือลูบบริเวณท้องเป็นรูปตัวยูคว่ำ โดยเริ่มจากขวาของเด็กไปทางซ้าย
  4. จบด้วย ท่าปูไต่พุง ใช้นิ้วมือข้างขวาเดินไต่บริเวณท้องน้อย โดยเริ่มจากขวาของเด็กเหมือนกับการเล่นปูไต่
Baby massage I Love You

ต่อมาหากทารกเริ่มรับประทานอาหารเสริม คือหลัง 6 เดือน ก็เริ่มให้อาหารเสริม และค่อยๆ เพิ่มผัก ผลไม้ที่ช่วยระบาย เหมือนอย่างที่แนะนำให้คุณแม่กินตอนยังให้นมลูก โดยทำให้ผลไม้เหล่านั้นนิ่มเละก่อนป้อนลูก เช่น อาจให้ส้มเป็นกลีบ โดยแกะเอาเฉพาะเนื้อวุ้น หรือมะละกอ แอปเปิล ก็ใช้ได้ โดยควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลัก

เมื่อเด็กโตขึ้นมา ควรฝึกให้เด็กบริโภคอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น โดยผลไม้ที่ช่วยในการขับถ่ายที่ดีมากคือ ลูกพรุนและ แอปเปิล นอกจากนี้ควรฝึกดื่มน้ำให้เพียงพอ เมื่อเด็กพร้อมโดยทั่วไปประมาณ 2-3 ขวบ ก็ให้เริ่มฝึกนิสัยการขับถ่าย (Toilet training) ที่สำคัญ ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลการถ่ายอุจจาระของบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยไว้นานให้เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากในการรักษาตามมา หากมีข้อสงสัยประการใด โดยเฉพาะมีความผิดปกติดังนี้ คือ ถ่ายมีเลือดออก ปวดท้องมาก กระสับกระส่าย ดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือจำเป็นจะต้องรักษาด้วยยา ควรนำเด็กมาปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ชนิกา แก้วเกิดศิริ


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top