Default fallback image

งูสวัดป้องกันได้ด้วยวัคซีน ฉีดป้องกันก่อนป่วย

เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นงูสวัด นอกจากสร้างความรำคาญใจ ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แถมรอยแผลไว้บนผิวแล้ว ยังอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิตได้ แม้งูสวัดจะรักษาได้ แต่การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนงูสวัดไว้ก่อนย่อมดีกว่าแน่นอน

งูสวัด คืออะไร อาการเป็นแบบไหน

งูสวัด (Shingles) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus: VZV) ชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส สามารถติดต่อกันได้จากการหายใจเอาละอองเชื้อ VZV ที่ผู้ป่วยไอจามออกมาเข้าสู่ร่างกาย การสัมผัสตุ่มน้ำ แผลตกสะเก็ด และสารคัดหลั่งจากตัวผู้ป่วย

หลังการติดเชื้อครั้งแรก (เป็นโรคอีสุกอีใสหายแล้ว) เชื้อจะไปซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำลง เชื้อจะกลับมาก่อโรคอีกครั้ง กลายเป็นโรคงูสวัดขึ้นมา 

อาการงูสวัดเป็นแบบไหน

แรกเริ่มมักจะมีอาการคล้ายไข้หวัด อย่างมีไข้ต่ำ ๆ และอ่อนเพลีย มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย ตามมาด้วยผื่นแดงคัน แล้วค่อย ๆ กลายเป็นตุ่มน้ำพองใส ก่อนจะแตกเป็นแผล แห้งตกสะเก็ดแล้วยุบหายไป 

ลักษณะของตุ่มน้ำงูสวัดจะขึ้นเป็นกลุ่มหรือทางยาวตามแนวเส้นประสาทซีกหนึ่งของร่างกาย ช่วงกึ่งกลางสะดือจนถึงกลางหลัง มักเกิดบ่อยตรงเอว ใต้ราวนม ใบหน้า ส่วนแขนขาจะพบได้น้อยกว่า หลังจากหายแล้ว บางคนอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทเรื้อรังอยู่นานหลายเดือน 

ใครบ้างเสี่ยงเป็นงูสวัด 

งูสวัดเหมือนการกำเริบของเชื้อไวรัสก่อโรคอีสุกอีใสที่ซ่อนในร่างกายเรา คนที่เสี่ยงเป็นงูสวัดต้องเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เพราะเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกัน เพียงแค่ต่างเวลาเท่านั้น

โรคงูสวัดเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในกลุ่มคนต่อไปนี้

  • คนสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากเท่าไร ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ 
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ต้องปลูกถ่ายอวัยวะ ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินรุนแรง หรือข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยคีโมบำบัดหรือฉายรังสี
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาว อย่างเพรดนิโซน (Prednisone
  • คนที่มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ 

ป้องกันงูสวัดได้ด้วยวัคซีน

งูสวัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยวัคซีนงูสวัดมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

1. วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live-attenuated zoster vaccine: LZV)
ผลิตจากเชื้อมีชีวิตที่มีฤทธิ์อ่อนลง มีประสิทธิภาพป้องกันงูสวัดราว 50% และป้องกันอาการปวดตามเส้นประสาทราว 70% จะฉีดเพียง 1 เข็ม 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นช่วยปกป้องยาวนาน 8 ปี เหมาะกับคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นงูสวัดมาก่อน  ยกเว้นคนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันและหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้

2. วัคซีนชนิดซับยูนิต (Recombinant subunit zoster vaccine: RZV)
ผลิตจากโปรตีนของเชื้อไวรัส ช่วยป้องกันงูสวัดได้กว่า 97% และอาการปวดเส้นประสาท 91% จะฉีด 2 เข็ม แต่ละเข็มจะฉีดห่างกัน 2–6 เดือน

วัคซีนชนิดซับยูนิตช่วยปกป้องยาวนาน 10 ปี เหมาะกับคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และคนอายุ 19–50 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน สำหรับคนที่เคยฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นมาก่อน สามารถฉีดวัคซีนชนิดซับยูนิตได้เช่นกัน แต่ต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เดือน

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะค่อย ๆ ลดลงหลังผ่านไป 3–4 ปี  และหลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยอาจพบผลข้างเคียง อย่างปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีนได้ แต่ไม่นานก็จะดีขึ้นได้  

แพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการเลือกชนิดวัคซีนที่เหมาะกับตนเอง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่อเข็มค่อนข้างสูง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุด และลดความเสี่ยงผลข้างเคียงให้ได้มากที่สุด  

นอกจากนี้ ควรเสริมภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้แข็งแรงควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนด้วย โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ตรวจสุขภาพประจำปี และที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย อยู่ใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยงูสวัดหรือเสี่ยงเป็นงูสวัดตั้งแต่เนิ่น ๆ 

ยังไม่เคยฉีดวัคซีนงูสวัดสักเข็มเลยใช่ไหม? HDmall.co.th เขามี แพ็กเกจฉีดวัคซีนงูสวัด ราคาโปร พร้อมส่วนลดสุดคุ้ม ห้ามพลาด!

Scroll to Top