โรคกลัวความรักเป็นอย่างไร วิธีสังเกตอาการมีอะไรบ้าง scaled

โรคกลัวความรักเป็นอย่างไร วิธีสังเกตอาการมีอะไรบ้าง

บาดแผลจากการไม่สมหวังเรื่องความรัก หรือถูกคนรักทำร้าย หักหลัง นอกใจ ทำให้หลายคนกลายเป็นคนกลัวความรักไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถเปิดใจรับคนใหม่ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในชีวิต หรือเริ่มความรักครั้งใหม่ได้อีก

หลายคนคงไม่รู้ว่า บนโลกใบนี้มีโรคที่เรียกว่า “โรคกลัวความรัก” อยู่ด้วย และคิดว่า เป็นเพียงอาการของคนที่ยังไม่สามารถลืมอดีตที่เจ็บปวดได้เท่านั้น ปัจจุบันในทางการแพทย์ แพทย์หลายท่านก็ยังไม่นับว่า โรคกลัวความรักเป็นโรคที่ต้องทำการรักษาอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม โรคกลัวความรักจัดเป็นอาการด้านจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อีกทั้งมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ความสนใจจากผู้อื่น รวมทั้งมีบทบาทความสำคัญ

ดังนั้นการรู้จักโรคกลัวความรักรวมถึงรู้จักวิธีสังเกตอาการ และการรักษาอย่างถูกต้องจึงเป็นอีกความรู้ที่เราควรรู้เอาไว้ เพื่อจะได้รู้วิธีรับมือและเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ซึ่งเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ความหมายของโรคกลัวความรัก

โรคกลัวความรัก (Philophobia) มีความหมายตรงไปตามชื่อของโรคคือ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวความรู้สึกรัก กลัวการมีความสัมพันธ์ในเชิงคนรัก หรือในเชิงลึกซึ้งกับผู้อื่น

อาการของโรคกลัวความรัก

อาการของโรคกลัวความรักจะคล้ายกับโรคกลัว หรือ phobia ที่เกิดกับตัวกระตุ้นอื่นๆ แต่โรคกลัวความรักนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเผชิญกับสถานการณ์เกี่ยวกับความรัก เช่น รู้สึกชอบ หรือหลงรักใครบางคน มีคนมาชอบ และต้องการสานสัมพันธ์ในเชิงคนรักด้วย หรือมีการแสดงออกในเชิงความรักกับตนเอง

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เวียนศีรษะ
  • เหงื่อออกมาก
  • ตัวสั่น
  • พยายามหนี หรือหาทางหลีกเลี่ยงออกมาจากสถานการณ์นั้น
  • จังหวะการเต้นของหัวใจเร็ว และแรงขึ้น
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้

นอกจากอาการแสดงทางร่างกาย ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมทางสังคม และระบบความคิดเกี่ยวกับความรักเปลี่ยนไปด้วย ข้อมูลในส่วนนี้ คุณสามารถนำไปใช้สังเกตตนเอง หรือคนใกล้ตัวที่เคยเผชิญเรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับความรักมาก่อน ว่ามีโอกาสเป็นโรคกลัวความรักหรือไม่ เช่น

  • ไม่ไว้ใจใคร ถึงแม้บางคนจะเป็นคนในครอบครัว หรือเป็นเพื่อนเก่าที่คบหากันมานาน
  • ไม่สามารถลืม หรือปล่อยวางจากความทรงจำแย่ๆ ในอดีตได้
  • รู้สึกว่า การหลงรัก หรือเป็นแฟนกับใครสักคนคือ การทำให้เกิดความเจ็บปวด
  • ไม่สามารถเปิดใจให้ตนเองมีความรักครั้งใหม่ได้
  • ไม่อยากพูดคุยและหลีกเลี่ยงบทสนทนาเกี่ยวกับความรัก โดยเฉพาะเรื่องความรักของตนเอง
  • สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกชอบด้วยได้ แต่ไม่อยากต่อยอดความสัมพันธ์ระยะยาวในเชิงคนรักต่อไป บางรายอาจมีความรู้สึกอึดอัดหลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จแล้ว เพราะไม่รู้ว่า หลังจากนี้ควรมีปฏิสัมพันธ์ต่อไปอย่างไร

โรคกลัวความรักไม่ใช่โรคประเภทเดียวกับโรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) แต่ผู้ที่เป็นโรคกลัวความรักก็สามารถมีอาการของโรคนี้ได้ด้วย เนื่องจากโรคกลัวความรักก็เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คุณ หรือคนใกล้ชิดจะไม่ได้มีประสบการณ์ความรักที่เข้าข่ายเป็นโรคกลัวความรักได้ แต่หากมีพฤติกรรมทางสังคมเปลี่ยนไป ก็ควรเข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์ หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด

นอกจากนี้อาจเข้ารับตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากบางครั้งสารเคมีในร่างกาย หรือฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย ก็สามารถทำให้สุขภาพจิตของหลายๆ คนเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงได้ ซึ่งตัวคุณจะไม่มีทางรู้ได้เลย

อาการของโรคความรักจะยิ่งแย่ลงหากผู้ป่วยแกล้งมองข้ามอาการกลัวของตนเอง และคิดว่า อาการน่าจะหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก แต่ความจริงแล้วโรคกลัวความรักจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยจมปลักกับความกลัวมากกว่าเดิม ไม่กล้ามีปฏิสัมพันธ์กับใครแม้ไม่ได้อยู่ในเชิงคนรักก็ตาม

สาเหตุของโรคกลัวความรัก

โรคกลัวความรักมีสาเหตุหลักๆ มาจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดในอดีตโดยไม่จำเป็นต้องเป็นความรักระหว่างหนุ่มสาว หรือในเชิงคนรักเสมอไป แต่อาจเป็นประสบการณ์ความรักแย่ๆ จากคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนรู้จัก หรือคนที่ตนเองไว้วางใจ

หลังจากได้พบประสบการณ์ไม่ดีเหล่านั้น จึงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเชื่อมั่นในความรู้สึกรักได้อีก และรู้สึกว่า ความรักเป็นสิ่งอันตราย สามารถทำร้ายตนเองได้ และพร้อมจะหักหลังทำให้ “เจ็บป่วย” และ “เจ็บปวด” ได้ตลอดเวลา

วิธีวินิจฉัยการเป็นโรคกลัวความรัก

วิธีการวินิจฉัยโรคกลัวความรักจะเป็นการวินิจฉัยภาวะด้านจิตเวช โดยแพทย์อาจดูพฤติกรรมด้านจิตเวชแบบเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องความรัก เพื่อดูตรวจสอบว่า ผู้ป่วยมีลักษณะพฤติกรรมกลัวความรักหรือไม่ เช่น

  • ไม่มั่นใจในตนเอง
  • แยกตัวออกจากสังคม ชอบอยู่คนเดียว
  • ไม่ต้องการมีคนรัก หรือมีครอบครัวเป็นของตนเอง
  • รู้สึกกลัวเมื่อมีคนจะเข้ามาจีบ หรือทำความรู้จัก
  • มีอาการของโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เช่น อยากฆ่าตัวตาย รู้สึกไร้ค่า วิตกกังวลง่าย กลัวการผิดหวังอย่างหนัก
  • มีอาการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาเสพติด

วิธีรักษาโรคกลัวความรัก

การรักษาโรคกลัวความรักโดยหลักๆ จะเป็นการให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์จะสอบถามและให้ผู้ป่วยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องที่ฝังใจ เพื่อหาต้นตอสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกลัวความรัก เหตุการณ์ไหนที่ทำให้เกิดโรคนี้กับผู้ป่วย

หลังจากที่รู้สาเหตุทำให้เกิดโรค จิตแพทย์จะเริ่มให้คำปรึกษา หรือทำจิตบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่ผิด เช่น ความรักเป็นสิ่งน่ากลัว ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่ไว้ใจได้ ตนเองคงไม่มีทางได้เจอความรักดีๆ

ทั้งนี้การทำจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการของโรคได้ รวมถึงสามารถใช้ชีวิตร่วมอยู่กับอาการกลัวความรักที่ยังเหลืออยู่ในจิตใจได้

นอกจากการทำจิตบำบัด จิตแพทย์อาจจ่ายยารักษาอาการวิตกกังวล หรือรักษาอาการซึมเศร้าให้ผู้ป่วยร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการโรคกลัวความรักว่า “อยู่ในระดับใด”

ใช้ชีวิตอย่างไร ไม่ให้เสี่ยงเป็น “โรคกลัวความรัก”

โรคกลัวความรักเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ แต่หากไม่รักษาก็อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนในสังคมได้โดยง่าย และทำให้ยากต่อการทำงาน หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น

สิ่งที่ทุกคนพอทำได้คือ อย่าไว้ใจใครโดยง่าย มีขอบเขตในความสัมพันธ์ที่เข้ามาในชีวิต และหากคุณรู้สึกไม่สบายใจกับใครที่อยู่รอบตัว อย่าเก็บไว้ตามลำพัง ควรหาคนใกล้ชิดเพื่อขอคำแนะนำ หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

หากคุณมีคนใกล้ชิด เพื่อนสนิทที่มีอาการคล้ายกับโรคกลัวความรัก อย่าเร่งรัดที่จะให้เขาได้พบกับความสัมพันธ์ใหม่ๆ จนเกินไป หรือพยายามบังคับ กดดันให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ

ในทางกลับกัน คุณควรเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้รับฟังปัญหา คอยอยู่เคียงข้าง และแสดงให้เห็นว่า คุณเป็นคนที่สามารถไว้ใจ และสามารถอยู่กับความกลัวของเขาคนนั้นได้อย่างไม่รังเกียจ

ความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่ขณะเดียวกันคุณก็จำเป็นต้องคัดกรองคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จะเข้ามาใกล้ชิดกับคุณ และมีปฏิสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน

หากคุณต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากความรัก อย่าปล่อยให้มันทำร้ายคุณในระยะยาว รีบพยายามหาตัวช่วย หาคนที่รู้สึกไว้วางใจและหาวิธีที่จะทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นได้ เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตต่อไป โดยที่อดีตไม่สามารถกลับมาทำร้ายคุณได้อีกจนไม่เป็นตัวของตัวเอง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top