what is dry needling puncture scaled

ฝังเข็มแบบตะวันตก

“การฝังเข็มแบบตะวันตก” อาจเป็นชื่อที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน นึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร คือการฝังเข็มแบบฝรั่งหรือเปล่า แล้วมีการฝังเข็มแบบตะวันออกไหม ใช่การฝังเข็มที่เราเห็นกันบ่อยๆ หรือไม่ ? มาดูกันชัดๆ ว่า การฝังเข็มแบบตะวันตกคืออะไร รักษาโรคอะไรได้บ้าง

การฝังเข็มแบบตะวันตก คืออะไร?

การฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry Needling puncture) เป็นศาสตร์การฝังเข็มแบบตะวันตก บ้างก็เรียก “การฝังเข็มแบบฝรั่ง” หรือ “เข็มสะกิด”

เดิมทีการฝังเข็มแบบตะวันตกจะใช้เข็มสำหรับต่อกับกระบอกฉีดยา นำมาฝังผ่านชั้นผิวหนังลงไปยังทำมุมรอบๆ ปมกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด หดเกร็งเป็นก้อน หรือที่เรียกกันว่า “จุดปวด (Trigger Point)” ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้เข็มสำหรับฝังเข็มแทน เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าและทำให้เจ็บปวดน้อยกว่า

ส่วนการฝั่งเข็มแบบตะวันออกนั้นก็คือ การฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีน (Acupuncture) หรือการฝังเข็มแบบจีน (Chinese Acupuncture) นั่นเอง ซึ่งมีวิธีการและจุดมุ่งหมายแตกต่างจากการฝังเข็มแบบตะวันตก

การฝังเข็มแบบตะวันตก รักษาอะไรได้บ้าง?

จุดมุ่งหมายของการฝังเข็มแบบตะวันตกคือ การฝังเข็มเฉพาะจุดเพื่อให้ Trigger Point เกิดการกระตุกและคลายตัวออก อาการปวดจึงหายไป

การฝังเข็มแบบตะวันตกสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อของโรคและภาวะต่อไปนี้

  • กลุ่มโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial Pain Syndrome, MPS) ซึ่งเกิดจากใช้งานกล้ามเนื้อนานๆ เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ อาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกทับเส้น เอ็นอักเสบ ข้ออักเสบต่างๆ
  • ความเครียด
  • การบาดเจ็บอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เช่น ประสบอุบัติเหตุ
  • การบาดเจ็บไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง
  • โรคของต่อมไร้ท่อ
  • โรคเรื้อรังต่างๆ
  • การขาดวิตามินและแร่ธาตุ

กลไกของการฝังเข็มแบบตะวันตกเป็นอย่างไร?

ปกติแล้วกล้ามเนื้อคนทั่วไปจะมีความยืดหยุ่น หดเข้า ยืดออกได้ แต่ Trigger Point คือ จุดที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งแล้วขดตัวเป็นปมเป็นระยะเวลานาน ไม่มีจังหวะคลายตัวออก จนกล้ามเนื้อส่วนนั้นเกิดเป็นก้อน หรือปมขึ้นมา

Trigger Point จะทำให้เลือดไหลเวียนเข้า-ออก กล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่สะดวก ของเสียที่ปล่อยออกมาจากกล้ามเนื้อจึงพลอยติดค้างสะสมอยู่ด้วย รวมทั้งมีการหลั่งสารกระตุ้นความปวดออกมามาก อธิบายง่ายๆ ว่าเหมือนท่อน้ำเกิดการอุดตันนั่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปอย่างจำกัดเพราะความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนนั้น และอาการปวดร้าวไปยังกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ เช่น ปวดคอแล้วร้าวลงกลางหลัง บางรายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชา รวมทั้งอาจมีอาการเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว น้ำตาไหล ตาแดง

เมื่อ Trigger Point เกิดการกระตุกและคลายตัวออกมาจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีการหลั่งโพแทสเซียมออกมาจึงช่วยลดการปวดได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันกลไกการหลั่งสารกระตุ้นความปวดที่เคยมีก็ลดน้อยลง

เลือดกลับมาไหลเวียนในบริเวณที่ปวดได้อีกครั้ง ส่วนของเสียที่คั่งค้างอยู่ในกล้ามเนื้อก็จะถูกขับออกไป เป็นผลให้ใยกล้ามเนื้อเกิดการเรียงตัวใหม่

ฝังเข็มแบบตะวันตกเจ็บไหม?

โดยทั่วไปแพทย์จะฝังเข็มจนกว่า กล้ามเนื้อจะกระตุกและคลายตัวออกแล้ว จากนั้นแพทย์จะขยับเข็มบริเวณรอบๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะไม่มีการกระตุกอีก แล้วจึงถอนเข็มออก ใช้เวลาราวตำแหน่งละ 5-10 นาที

ระหว่างฝังเข็มจะมีทั้งความปวดเหมือนการกดนวดค้างไว้ เนื่องจากเป็นการฝังเข็มลงไปยังจุดปวด หรือ Trigger Point โดยตรง ซึ่งเป็นจุดที่ไวต่อการกระตุ้นและความปวดนั่นเอง ต่อจากนั้นจะมีอาการเจ็บร้าวตามมาเมื่อTrigger Point กระตุกขึ้นและคลายตัวออก

ส่วนจะปวดร้าวมาก หรือน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับจำนวน หรือขนาดของ Trigger Point ด้วย

หลังจากฝังเข็มเสร็จสิ้น ผู้เข้ารับการฝังเข็มแบบตะวันตกยังจะมีการระบมเหมือนยังมีเข็มคาอยู่ในบริเวณที่ฝังเข็มอีก 3-4 วัน บ้างรู้สึกคล้ายกับการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หากเจ็บปวดมากสามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือประคบร้อน เพื่อบรรเทาอาการได้

แม้การฝังเข็มแบบตะวันตกจะขึ้นชื่อว่า “เป็นการรักษาที่ยิงตรงจุด เจ็บแต่จบ ไม่ยืดเยื้อ” แต่หากต้องการให้ผลดีอย่างต่อเนื่อง ผู้เข้ารับการบำบัดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง “ปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสมด้วย” ดังนี้

  • หลีกเลี่ยง หรือเลิกอิริยาบถ ปัจจัยที่ก่อให้เกิด Trigger Point เช่น การอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ นาน
  • หมั่นออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ
  • ทำกายภาพบำบัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด หาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • หากมีโรคร่วม เช่น ไทรอยด์ ควรเข้ารับการรักษา

Scroll to Top