ยาแก้ท้องเสียคาร์บอนเป็นอย่างไร รักษาอาการท้องเสียได้จริงหรือไม่ scaled

ยาแก้ท้องเสียคาร์บอน เป็นอย่างไร รักษาอาการท้องเสียได้จริงหรือไม่

เดินทางไกลทีไร หลาย ๆ คนก็คงอยากพกยาแก้ท้องเสียติดกระเป๋าไว้ เพราะนอกจากจะถ่ายเหลว ยังต้องทรมานกับอาการปวดท้องและอ่อนเพลียด้วย 

หนึ่งในยาแก้ท้องเสียยอดนิยมที่คนชอบพกติดกระเป๋า หรือใช้เป็นยาฉุกเฉินประจำบ้านเมื่อท้องเสีย ก็คือ “ยาแก้ท้องเสียคาร์บอน” เม็ดสีดำ ๆ นั่นเอง 

บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับยาแก้ท้องเสียคาร์บอนกัน ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร รักษาอาการท้องเสียได้จริง ๆ หรือเปล่า รวมถึงผลข้างเคียง และข้อควรระวังอื่น ๆ ด้วย 

คุณสมบัติของยาแก้ท้องเสียคาร์บอน

ยาแก้ท้องเสียคาร์บอน (Activated Charcoal) คือ ยาที่มีส่วนผสมของผงถ่าน หรือธาตุคาร์บอนที่ผ่านกระบวนการเคมีเพื่อนำมาใช้รักษาอาการท้องเสีย

ยาแก้ท้องเสียคาร์บอนมีฤทธิ์ดูดซับสารพิษที่ทำให้ท้องเสีย จึงช่วยให้อาการบรรเทาลง และยังช่วยรักษาอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหาร จนเกิดอาการปวดท้องได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยาแก้ท้องเสียคาร์บอนยังไม่ถือว่าเป็นยารักษาอาการท้องเสีย และไม่ได้ทำให้หยุดถ่ายได้ เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียให้ดีขึ้นเท่านั้น 

นอกจากนี้ ด้วยฤทธิ์การดูดซับของยาแก้ท้องเสียคาร์บอน ทำให้ยานี้อาจดูดซับสารหรือยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ได้ ดังนั้น ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกเพื่อความปลอดภัย 

ยาแก้ท้องเสียคาร์บอน กินอย่างไร 

เมื่อเกิดอาการท้องเสีย อย่าเพิ่งรับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอนในทันที แต่สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยสารน้ำที่สูญเสียไปกับอุจจาระ

เพราะยาแก้ท้องเสียคาร์บอนเป็นยาฉุกเฉิน ควรใช้ก็ต่อเมื่อถ่ายมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป แล้วอาการท้องเสียยังไม่ดีขึ้น หรือถ้าเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน คล้าย ๆ อาหารเป็นพิษ ก็สามารถรับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอนได้เช่นกัน

วิธีรับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอน ควรรับประทานขณะท้องว่าง ราว ๆ 1–2 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังอาหาร เพื่อไม่ให้ตัวยาเข้าไปรบกวนการดูดซึมอาหารที่รับประทานเข้าไป 

โดยปกติผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 3 ปี สามารถรับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอนได้ครั้งละ 3-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการท้องเสีย 

แต่ด้วยปริมาณของสารคาร์บอนในยาชนิดนี้แต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน จึงต้องอ่านฉลากหรือสอบถามเภสัชกรเสียก่อน เพื่อรู้วิธีการรับประทานยาที่เหมาะสม

โดยส่วนมากปริมาณยาแก้ท้องเสียคาร์บอนที่คนทั่วไปรับประทานกันจะอยู่ที่ 50-100 กรัม ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีจะอยู่ที่ 10-25 กรัม

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ท้องเสียคาร์บอน 

ผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคประจำตัว ควรรับประทานยานั้น ๆ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนรับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอน เพื่อไม่ให้ตัวยารบกวนการทำงานของยารักษาโรคประจำตัว

นอกจากนี้ ควรงดดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมระหว่างรับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอน หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้รับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอนหลังดื่มนมไปแล้ว 2 ชั่วโมง เพราะนมมีประจุของแคลเซียมที่จะไปรบกวนการดูดซึมสารพิษของคาร์บอนในยาได้ 

การใช้ยาแก้ท้องเสียคาร์บอนในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ในปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยหรือผลการศึกษาใด ๆ ชี้ว่า ยาแก้ท้องเสียคาร์บอนเป็นอันตรายต่อผู้มีครรภ์ 

อย่างไรก็ตาม ถ้ากำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน แพทย์จะได้จ่ายยาแก้ท้องเสียที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ให้ 

ผลข้างเคียงจากยาแก้ท้องเสียคาร์บอน 

  • อาจอุจจาระเป็นสีดำ แต่ไม่ได้เป็นอันตราย เพราะสีดำเป็นเพียงสีจากคาร์บอนเท่านั้น 
  • อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้จากฤทธิ์ยาที่ไปดูดซึมสารพิษภายในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ถ้ารับประทานยาแก้ท้องเสียคาร์บอน แล้วยังมีอาการถ่ายเหลวอย่างต่อเนื่อง  อุจจาระมีมูก หรือเป็นมูกมีเลือดปน รวมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

ถึงจะเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้จริง แต่ยาแก้ท้องเสียคาร์บอนไม่ใช่ยาที่รักษาอาการท้องเสียให้หายขาด 

ถ้ามีอาการท้องเสียและรับประทานยาบรรเทาอาการเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับยาที่ช่วยให้อาการหายขาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ส่งผลข้างเคียงอันตรายต่อร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top