ใครหลายคนคงรู้จักใบกระท่อมอยู่แล้ว เพราะใบกระท่อมถูกนำมาเป็นยาชูกำลัง (ที่ผิดกฎหมาย) ชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานหรือขับรถได้ทนทานมากยิ่งขึ้น ช่วยในการคลายความเมื่อยล้า และช่วยในการทนต่อความร้อนได้เป็นอย่างดี ใบกระท่อมนั้น สามารถใช้เป็นยารักษาอาการท้องร่วง ท้องเสียได้ และยังเป็นยาระงับประสาทแบบอ่อนๆ ได้ด้วย แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลเสียให้กับผู้ป่วยได้ ไม่ต่างจากการนำใบกระท่อมมาใช้เพื่อการเสพเลยนั่นเอง
สารบัญ
ใบกระท่อมคืออะไร?
ใบกระท่อม เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่พอสมควร มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 10-15 เมตร ใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นสีเขียว ก้านใบมีทั้งสีแดงและสีเขียว ซึ่งไม่มีความต่างกันมากนัก
สามารถพบได้ในจังหวัดปทุมธานีมากเป็นพิเศษ ส่วนในภาคใต้จะพบตามป่าธรรมชาติ เช่น ป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ยะลา
ใบกระท่อมไม่มีชื่อเรียกอื่นๆ นอกจากจะเรียกให้สั้นลงว่า “ใบท่อม”
มีการประยุกต์นำใบกระท่อมที่สำหรับเคี้ยวเฉยๆ ไปผสมเป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อเรียกว่า “4×100 (สี่คูณร้อย)” ซึ่งมีส่วนผสม คือ ใบกระท่อม ยาแก้ไอน้ำเชื่อม โค้กหรือเป๊บซี่ น้ำเปล่า เอามาต้มผสมกันเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มเพิ่มพลัง ซึ่งเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก สำหรับแรงงานและหมู่นักเรียนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ เนื่องจากมีราคาไม่แพงมาก แต่สามารถสร้างความเคลิบเคลิ้มล่องลอย รวมทั้งยังเพิ่มกำลังวังชาได้ดีไม่แพ้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ เลย
สารสำคัญในใบกระท่อม
ใบกระท่อม ประกอบด้วยสารอัลคาลอยด์ 0.5% ได้แก่ ไมทราไจนีน (Mitragynine) 0.25% ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine) ไพแนนทีน (Paynanthine) สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคะลอยด์ที่พบจะแตกต่างกัน ตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว
กระท่อมกับอาการเสพติด
กระท่อม ถือเป็นพืชเสพติด หรือสารเสพติดที่ได้จากธรรมชาติ เพราะผู้ใช้พืชกระท่อมมีพฤติกรรมการใช้และอาการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลในการวินิจฉัยภาวะติดสารเสพติด รวมทั้งมีอาการถอนยาจากใบกระท่อม (kratom withdrawal syndrome) ที่มีลักษณะเฉพาะ
ภาวะเสพติดกระท่อม
ภาวะเสพติดกระท่อม อาจมีร่วมกันหลายข้อ ดังนี้
- มีความต้องการใช้อย่างมาก เวลาเดินทางไปที่อื่นต้องพกพาใบกระท่อมไปด้วย
- ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้ได้ เคยพยายามเลิกใช้กระท่อมแต่ไม่สำเร็จ ควบคุมตัวเองยากมากที่จะไม่ใช้กระท่อม
- มีอาการถอนยา เมื่อลดปริมาณหรือหยุดใช้
- มีอาการทนต่อฤทธิ์ของกระท่อม (Tolerance) ทำให้ต้องใช้ในปริมาณมากขึ้นจึงได้ฤทธิ์เท่าเดิม
- มีความหมกมุ่นกับการใช้กระท่อม ต้องหากระท่อมมาเคี้ยวให้ได้ทุกวัน บางคนต้องมีกระท่อมอยู่ในปากตลอดเวลา และมีกังวลใจเสมอว่าจะหากระท่อมมาใช้ได้อย่างไร
ใบกระท่อม ใช้อย่างไร
การเสพใบกระท่อม ไม่จำเป็นต้องผสมกับอะไรเลย เพียงแค่เคี้ยวเฉย ๆ ก็สามารถใช้ได้
เนื่องจากในใบกระท่อมมีสารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ไมทราไจนีน (Mitragynine)” ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในการกดประสาท เป็นสารจำพวกเดียวกับสารที่อยู่ในยาบ้าแอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide: LSD) หรือเหล้าแห้ง
เมื่อเสพเข้าไปแล้ว หากมีอาการเมื่อยล้าก็จะหายราวกับปลิดทิ้ง เนื่องจากการออกฤทธิ์กดประสาทให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด และยังทำให้ผู้เสพมีจิตใจร่าเริงมากขึ้น
เคี้ยวใบกระท่อม ทำให้เกิดการเสพติดได้ไหม?
โดยทั่วไปแล้ว การเคี้ยวใบกระท่อมไม่ทำให้เกิดการติดจนต้องเคี้ยวทุกวันแต่อย่างใด แต่หากเคี้ยวในปริมาณมากและเป็นเวลาต่อเนื่องทุกวัน ก็มีโอกาสที่จะติดใบกระท่อมได้ แต่หากเคี้ยวเป็นครั้งคราว หรือเป็นยารักษาโรคบางชนิดที่หายแล้วก็หยุดไป ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
- ฤทธิ์แก้ปวดของสาร mitragynine ยังเป็นผลเนื่องจากการลดระดับของสัญญาณการเจ็บปวดไปยังสมองผ่านระบบ noradrenergic system และ serotonergic system และยังช่วยต้านอาการของโรคซึมเศร้า
- ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โดยการทดลองในหนูขาว
- ฤทธิ์ต้านอักเสบ (anti-inflammatory effect) มีรายงานการศึกษาคุณสมบัติต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลของกระท่อม โดยฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาว ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูโดยยับยั้งการอักเสบภายใน 3 ชั่วโมงแรก
- ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดใบกระท่อมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งสารสกัดในชั้นน้ำของกระท่อม มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์กลูต้าไธโอน (Glutathione Transferase: GST) ในหนูขาว
อาการของผู้ที่ติดใบกระท่อม
เมื่อเสพหรือเคี้ยวใบกระท่อมไปแล้ว 5-10 นาที ใบกระท่อมจะออกฤทธิ์กดประสาทให้ผู้เสพมีความกระปรี้กระเปร่า สดชื่น ไม่รู้สึกอยากอาหาร ไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว
แต่หากอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนเมื่อไร จะเกิดการหนาวสั่นคล้ายกับจะเป็นไข้ หากเสพไปนานๆ จะพบว่าผิวของผู้เสพมีความคล้ำลงจนดูเหมือนผิวแห้ง มีอาการท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ ทำให้ถ่ายยากกว่าปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียนจากอาการเมาใบกระท่อม
ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้เสพเคี้ยวใบกระท่อมเลย โดยไม่ทำการฉีกออกจากก้านใบเสียก่อน ก้านจะตกลงไปอยู่ในลำไส้ ซึ่งไม่สามารถย่อยได้ก็จะกลายเป็นสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ เป็นเหตุให้ร่างกายต้องแสดงกลไกป้องกันตัวด้วยการสร้างผังพืดมาหุ้มก้านใบกระท่อมนั้นไว้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
หากหยุดเคี้ยวใบกระท่อมก็จะส่งผลให้มีปัญหากับร่างกายดังต่อไปนี้
- ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ทำงานไม่ได้
- ปวดเมื่อยตามตัวและกระดูกส่วนต่างๆ บางรายที่เสพมากเกินไป อาจพบว่าแขนกระตุกเองได้
- มีอารมณ์ซึมเศร้า เซื่องซึม ไม่พูดกับใคร หรือไม่ก็อาจจะก้าวร้าวไปเลย
- มีอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย
- มีความดันหรืออุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติ