การลดน้ำหนักเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายคนทำไม่สำเร็จ เนื่องจากขาดความสม่ำเสมอ กำลังใจ หรือเหตุผลอื่นๆ เมื่อลดน้ำหนักถึงจุดหนึ่งที่ทนไม่ไหวแล้ว จึงล้มเลิกความตั้งใจไป
การปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อจัดโปรแกรมลดน้ำหนักจึงมีความสำคัญ เพราะผู้ชำนาญการจะคอยให้เทคนิคต่างๆ เช่น ของว่างที่กินแก้ขัด วิธีกินอาหารเพื่อสุขภาพให้อร่อยขึ้น เป็นต้น
เมื่อมีผู้ชำนาญการคอยกำกับดูแลให้คำแนะนำที่เหมาะสม ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้สำเร็จ
สารบัญ
ปรึกษาแพทย์เพื่อลดน้ำหนักคืออะไร?
การปรึกษาแพทย์เพื่อการลดน้ำหนักคือการให้แพทย์ซักประวัติเพื่อเก็บข้อมูล และนำไปประเมินเป็นแผนการลดน้ำหนักที่เหมาะสมกับแต่ละคน
บางโปรแกรมการปรึกษาแพทย์ อาจมีการตรวจสุขภาพบางรายการประกอบด้วย เช่น
- ตรวจน้ำตาลในเลือด
- ตรวจคอเลสเตอรอล
- ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์
- ตรวจโกรทฮอร์โมน
- ตรวจฮอร์โมนความเครียด
- ตรวจองค์ประกอบร่างกาย
- ตรวจ DNA เพื่อการลดความอ้วน
รายการตรวจอาจมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ให้บริการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้แพทย์แนะนำแนวทางการลดน้ำหนักโดยยึดตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย โรคประจำตัว และอายุของแต่ละบุคคล
แพทย์หรือนักโภชนาการจะช่วยประเมินวิธีการลดน้ำหนักเบื้องต้นให้ได้ ว่าผู้รับบริการควรปรับเปลี่ยนสิ่งใด อาจเป็นพฤติกรรม หรือผ่าตัดขนาดกระเพาะ
ตรวจ DNA เพื่อการลดความอ้วนคืออะไร?
การตรวจ DNA เพื่อการลดความอ้วน คือการเก็บตัวอย่างจากบริเวณกระพุ้งแก้มไปตรวจในห้องปฎิบัติการ เพื่อหาลักษณะเฉพาะของแต่ละคนที่อาจเป็นประโยชน์กับโปรแกรมลดน้ำหนัก
เพราะ DNA ของทุกคนมีความแตกต่างกัน ทำให้ร่างกายแต่ละคนไวต่อสารอาหาร การเผาผลาญ และอื่นๆ ต่างกันออกไปด้วย
การตรวจ DNA จะช่วยให้ทราบข้อมูลดังกล่าว และอาจช่วยให้สามารถวางแผนโปรแกรมลดความอ้วนได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ มีการศึกษาจากประเทศอังกฤษเปรียบเทียบ DNA ของผู้เข้าร่วมที่มีรูปร่างอ้วนและผอม รวมกว่า 3,607 คน พบว่าคนอ้วนและคนผอมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
จึงเป็นสาเหตุที่ร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่ออาหารและเครื่องดื่มแตกต่างกัน แม้จะเป็นอาหารชนิดเดียวกันก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้พันธุกรรมจะมีความเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวของแต่ละคน แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่มีพันธุกรรมเหมือนคนอ้วนจะไม่สามารถลดน้ำหนักได้เลย
วิธีการที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนักก็ยังคงเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิต
ตรวจองค์ประกอบร่างกายคืออะไร?
การตรวจองค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition) คือการตรวจเช็กสัดส่วนไขมันกับมวลต่างๆ ในร่างกายที่ไม่ใช่ไขมัน เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก เพื่อดูว่าสมส่วนกับไขมันที่มีหรือไม่
องค์ประกอบของร่างกายอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- ไขมัน (Body fat) มักจะแทรกอยู่ตามเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง และรอบๆ อวัยวะต่างๆ แบ่งออกเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และไขมันที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย
- มวลที่ไม่ใช่ไขมัน (Non-fat mass) ส่วนนี้จะประกอบไปด้วย กระดูก น้ำ กล้ามเนื้อ อวัยวะ และเนื้อเยื่อต่างๆ มวลที่ไม่ใช่ไขมันจะใช้การเผาผลาญไขมันเพื่อให้ได้พลังงาน
ปริมาณไขมันกับมวลที่ไม่ใช่ไขมันจะถูกคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ช่วยบอกได้ว่าองค์ประกอบของร่างกายคุณมีไขมันเกินมาประมาณเท่าไร ทำให้สามารถวางแผนลดน้ำหนักได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การตรวจวัดองค์ประกอบร่างกายจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Bioelectrical Impedance Analysis: BIA ลักษณะคล้ายเครื่องชั่งน้ำหนัก
เครื่อง BIA จะปล่อยกระแสไฟฟ้าต่ำๆ ไหลผ่านร่างกายเพื่อตรวจวัดองค์ประกอบของร่างกาย เนื่องจากไขมันจะนำไฟฟ้าได้ไม่ค่อยดีนัก ทำให้เครื่องสามารถวัดมวลได้ว่ามีไขมันและมวลที่ไม่ใช่ไขมันมากเท่าไร
แม้กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยผ่านร่างกายจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ผู้ที่ใช้อวัยวะเทียม ผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจ และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งกับแพทย์ก่อน เพราะอาจเกิดผลกระทบ
โปรแกรมลดน้ำหนักประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
อย่างที่หลายคนทราบว่าการลดน้ำหนักควรใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน จึงจะสามารถลดน้ำหนักโดยไม่กระทบสุขภาพ
หลังจากปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการแล้ว อาจได้รับคำแนะนำแผนการลดน้ำหนักซึ่งมีแนวทางปฎิบัติตนหลายอย่าง ตัวอย่างที่อาจพบอาจมีดังนี้
- แนวทางปรับเปลี่ยนการกินและออกกำลังกาย ผู้ชำนาญการอาจให้คำแนะนำด้านการกินและการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับแต่ละคน รวมถึงวิธีการจดบันทึกรายละเอียดในแต่ละวัน ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมการปฎิบัติตัวมากขึ้น
- แนวทางการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันมีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำหนักด้วย เช่น เวลาเข้านอนที่เหมาะสม การจัดการกับความเครียด การเก็บอาหารฟาสฟู้ดส์ไว้ในบ้าน และอาจรวมถึงข้อดีข้อเสียของการใช้ยาลดความอ้วน
- แนวทางการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนัก หลายคนตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักปริมาณมากๆ ในเวลาอันสั้น เมื่อทำไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้จึงเกิดความท้อแท้และเลิกไป ดังนั้นผู้ชำนาญการจะให้คำแนะนำในการกำหนดเป้าหมายเป็นรายสัปดาห์ อาจลดประมาณ 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์แต่เน้นความสม่ำเสมอแทน
- การประเมินจากนักโภชนาการ เมื่อทำการจดบันทึกชีวิตประจำวันและอาหารการกินอย่างต่อเนื่อง จะค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักทีละน้อย นักโภชนาการอาจปรับเปลี่ยนคำแนะนำและแนวทางการปฎิบัติให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเป็นระยะ
โดยสรุปแล้ว การปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการเพื่อการลดน้ำหนัก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับคนที่อยากลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ไม่เสียสุขภาพ และไม่หนักหนาจนเกินไป