vaginal suppositories what can help 1 scaled

ยาสอดช่องคลอด ตัวอย่างยา ประโยชน์ วิธีใช้

ยาสอดช่องคลอด (Vaginal Suppository) มีลักษณะเป็นของแข็ง รูปร่างกลมรี ใช้สอดเข้าไปภายในช่องคลอด เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ โดยอาศัยสภาวะที่เหมาะสมในช่องคลอด อุณหภูมิร่างกายจะช่วยให้ยาค่อยๆ ถูกดูดซึมในรูปของเหลวอย่างเหมาะสม และออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว

แม้ยาสอดช่องคลอดจะให้ผลได้เจาะจงเฉพาะที่ แต่ก็ควรระมัดระวังในการใช้อย่างมาก และมียาสอดช่องคลอดบางตัวต้องได้รับการสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อหามาใช้เองได้ เนื่องจากจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

ยาสอดช่องคลอด รักษาอะไร มีตัวยาใดบ้าง วิธีใช้ยา

ยาสอดช่องคลอด ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา บรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง และใช้คุมกำเนิด ในรูปแบบที่เป็นยาคุมกำเนิดชนิดสอดทางช่องคลอด โดยยาสอดช่องคลอดมีตัวยาหลากหลายตัวด้วยกัน เช่น 

ยา Clotrimazole (โคลไทรมาโซล) 

ยา Clotrimazole อยู่ในจำพวกยาต้านเชื้อรา ใช้รักษาอาการเหล่านี้ 

  • รักษาอาการคันช่องคลอดจากเชื้อรา คันบริเวณผิวหนังในร่มผ้า
  • รักษาการติดเชื้อราภายในช่องคลอด มีตกขาวสีขาวขุ่น ๆ คล้ายน้ำนม
  • รักษาการติดเชื้อรา เช่น เดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ยีสต์ (Yeast) และเชื้อราอื่น ๆ
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียไตรโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) ที่ทำให้ช่องคลอดอักเสบ

ยา Misoprostol (มิโซพรอสทอล) 

ยา Misoprotsol อยู่ในจำพวกยายุติการตั้งครรภ์ ใช้ชักนำการคลอด (กระตุ้นมดลูกให้เจ็บครรภ์คลอด) โดยจะพิจารณาจากภาวะของมารดาและทารกเป็นสำคัญ

* ยานี้ต้องจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะตกเลือด และก่ออันตรายถึงชีวิตได้ 

ยา Metronidazole (เมโทรนิดาโซล) และยา Clindamycin (คลินดามัยซิน) 

ทั้งคู่เป็นยาปฎิชีวนะ ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย

  • ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคช่องคลอดอักเสบ หรือปากมดลูกอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาอาการตกขาวผิดปกติ เช่น สีเขียว มีกลิ่นเหม็นคาวปลา 
  • รักษาอาการปวดท้องน้อยบริเวณอุ้งเชิงกรานจากภาวะช่องคลอดอักเสบ

แม้จะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะนาน ๆ จะทำให้เสียสมดุลแบคทีเรียที่ดีในช่องคลอด ซึ่งส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและการติดเชื้ออื่น ๆ ตามมา 

หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามซื้อยามาใช้เองโดยเด็ดขาด 

วิธีใช้ยาสอดช่องคลอดแบบต่าง ๆ 

ยา Clotrimazole (โคลไทรมาโซล)

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ล้างทำความสะอาดบริเวณช่องคลอด และใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง
  • นอนอยู่ในท่าเตรียมพร้อมสอดยาด้วยการนอนหงาย งอเข่าขึ้น และแยกเท้าออกจากกันเล็กน้อย
  • ค่อย ๆ สอดเม็ดยาเข้าไปในช่องคลอด และใช้นิ้วดันยาให้ลึก เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการสอดยา

ยา Metronidazole (เมโทรนิดาโซล) และยา Clindamycin (คลินดามัยซิน) 

นอกจากรูปแบบยาเม็ดหรือแคปซูลที่ต้องรับประทานประมาณ 7–14 วัน ก็ยังมีเป็นรูปแบบยาสอดทางช่องคลอดเช่นกัน ขึ้นกับแพทย์ผู้รักษา 

โดยวิธีใช้รูปแบบยาสอดทางช่องคลอด ให้ทำเช่นเดียวกันกับยาสอดต้านเชื้อรา Clotrimazole (โคลไทรมาโซล) 

ผลข้างเคียงจากยาสอดช่องคลอด 

ยาสอดช่องคลอดหลาย ๆ ชนิด อาจก่อให้เกิดอาการต่อไปนี้ เช่น 

  • ระคายเคืองในช่องคลอด และตกขาวมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ เกิดได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น 
    • ช่องคลอดระคายเคืองง่าย
    • ติดเชื้อมาก่อนแล้ว จากการรักษาสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอดได้ไม่ดี 
    • การสวนล้าง
    • ยาออกฤทธิ์กระทบสภาวะที่เหมาะสมในช่องคลอด ทำให้ตกขาวมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ
    • อาการแพ้บริเวณเยื่อบุช่องคลอด เช่น อักเสบ แดง บวม คัน 
  • แสบช่องคลอด หรือช่องคลอดแห้ง เกิดจากการระคายเคือง การติดเชื้อของเยื่อบุช่องคลอด รวมถึงการใช้ยาสอดทางช่องคลอดด้วย 
  • แพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน พุพอง ผิวหนังบวมแดง ผิวลอก หายใจลำบาก ริมฝีปากบวม หน้าบวม ลิ้นบวม คอบวม อาจมีไข้ มีปัญหาในการหายใจ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง

บางครั้ง ยาสอดช่องคลอดอาจรักษาได้ไม่เต็มที่ เพราะการขยับตัวหรือการเคลื่อนไหวอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซึมของยา หรืออาจทำให้ยาไหลออกมาภายนอกได้ 

กรณีมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อ ช่องคลอดแห้ง จำเป็นต้องได้รับยารูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาทาเฉพาะที่ ยารับประทาน หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

ตอบคำถามที่พบบ่อย

ยาสอดช่องคลอด ช่วยกระชับช่องคลอดได้จริงหรือเปล่า

การที่รู้สึกว่าช่องคลอดกระชับเมื่อใช้ยาสอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ผลการรักษาจากยาโดยตรง แต่เป็นอาการช่องคลอดแห้งลง น้ำหล่อลื่นน้อยลง เยื่อบุช่องคลอดบวม ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์และเป็นอันตราย

หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีอาการดังกล่าว อาจทำให้ช่องคลอดถลอกเป็นแผล และอาจติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสอดช่องคลอดจะค่อยๆ ลดลงและหายไปได้เองหลังหยุดใช้ยา

ยาสอดช่องคลอดแบบสมุนไพรมีไหม ดีหรือไม่

ขึ้นชื่อว่าสมุนไพร คนส่วนใหญ่มักคิดว่าปลอดภัย แต่ความคิดนี้ไม่จริงเสมอไป 

เพราะไม่ได้เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี แต่การผสมสมุนไพรที่มีฮอร์โมนเพศหญิงจะส่งผลต่อหลายระบบในร่างกาย ไม่คุ้มกับผลเสียที่เกิดขึ้น 

บางครั้ง ยาสอดที่โฆษณาว่าช่วยกระชับช่องคลอดยังมีการผสมสารส้มเพื่อช่วยลดน้ำหล่อลื่น ทำให้เนื้อเยื่อบวมอีกด้วย 

ที่สำคัญ ยาสอดสมุนไพรเหล่านั้นยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ รองรับ จึงรับประกันไม่ได้ว่าใช้แล้วจะปลอดภัย


จะใช้ยาอะไร ปรึกษาคุณหมอ ปลอดภัย อุ่นใจกว่า คลิกดูแพ็กเกจตรวจภายในดี ๆ ที่ HDmall รวบรวมไว้ให้ได้เลย 

ลองเข้ามาดูแพ็กเกจสำหรับสาว ๆ (หรือคุณผู้ชายก็มาดูได้นะ) 

Scroll to Top