เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่มือใหม่อาจกังวล ไม่รู้ว่าจะเริ่มดูแลตัวเองจากตรงไหน มีเรื่องอะไรบ้างที่ไม่ควรทำ หรือต้องระมัดระวังขณะตั้งครรภ์ เราจะมาไขข้อสงสัยให้คุณแม่กัน
สารบัญ
1. ห้ามสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
ข้อนี้เป็นข้อห้ามพื้นฐาน คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ การดื่มขณะตั้งครรภ์จะทำให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เรียกว่ากลุ่มอาการ FAS (Fetal alcohol syndrome) ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพอื่น
รวมถึงห้ามสูบบุรี่และใช้สารเสพติดทุกชนิด เพราะส่งผลเสียต่อทารกโดยตรง เช่น เด็กเสี่ยงพิการแต่กำเนิด ปากแหว่ง เพดานโหว่ง เสียชีวิตเฉียบพลันในขวบปีแรก (SIDS) คุณแม่เองมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และเสี่ยงต่อการแท้งได้
2. ห้ามอบไอน้ำ อบซาวน่า และแช่ออนเซน
การอบไอน้ำ ซาวน่า หรือแช่ออนเซน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ หลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defects) ของทารกในครรภ์ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในภาวะที่มีความร้อนสูง (Hyperthermia) ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสมอง ไขสันหลัง และกระดูกสันหลังของทารกตั้งแต่กำเนิด
นอกจากนี้ ควรเลี่ยงกิจกรรมอื่นที่อาจทำให้ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์มีอุณหภูมิสูง โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างหลอดประสาทนี้ เช่น โยคะร้อน พิลาทิสร้อน การออกกำลังกายที่หนักหน่วงเกินไป หรือการอยู่ในสถานที่มีอากาศร้อนมาก
3. ห้ามสัมผัสอึแมว
เชื้อปรสิต Toxoplasma gondii ที่พบมากในอึของแมว สามารถก่อโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคไข้ขี้แมวขึ้นได้ ถ้าคุณแม่ทำความสะอาดกระบะทรายแมวโดยไม่ระวัง หรือใช้มือเปล่าสัมผัสอึแมว อาจทำให้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว
หากเกิดการติดเชื้อขึ้น คุณแม่ที่สุขภาพแข็งแรงดีมักไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก แต่เชื้อสามารถติดต่อไปสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรก ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาท การมองเห็น การได้ยิน ตับม้ามโต ตัวเหลือง หัวโต
4. ห้ามดื่มนมวัวเกินวันละ 1 แก้ว
นมวัวมีโปรตีนที่ชื่อว่า อัลฟา เบต้า เคซีน เป็นปริมาณมาก สารเหล่านี้จัดเป็นสารแปลกปลอม (Antigen) ถ้าคุณแม่ดื่มนมวัวมากเกินความจำเป็นขณะตั้งครรภ์ ร่างกายทารกจะสร้างสารภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้นมาต่อต้านโปรตีนจากนมวัว
เมื่อคลอดออกมา ทารกมีโอกาสแพ้นมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว ปัจจุบันเลยมีคำแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มนมวัวเพียงวันละ 1 แก้ว หรือสลับกับนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วก็เพียงพอแล้ว หากคุณแม่กลัวขาดแคลเซียม สามารถกินอาหารเสริมแคลเซียมชนิดอื่นแทน
5. ห้ามยืน เดิน และนอนเป็นเวลานาน
คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากหรือตั้งแต่ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป ไม่ควรยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ขาหรือเท้าบวมจากน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้น อาจเสี่ยงเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา มีอาการปวดหลัง หรือเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคต
รวมถึงคุณแม่ไม่ควรนอนนานด้วยเช่นกัน น้ำหนักครรภ์จะไปกดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง หรืออาจกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ร่างกายบวม ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจหน้ามืดได้
ทางที่ดีคุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรับเปลี่ยนท่าทางทุก 1–2 ชั่วโมง หรือยืดเส้นยืดสายบ่อย ๆ เพื่อช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น
6. ห้ามกินตามใจปาก
การตั้งครรภ์จะทำให้คุณแม่หิวบ่อยและกินมากกว่าปกติ เพราะร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารมากขึ้นสำหรับตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ ยิ่งคุณแม่ที่มีลูกแฝดอาจต้องการพลังงานมากเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว แต่ใช่ว่าจะกินอะไรตามใจก็ได้
คุณแม่ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ กินปริมาณพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะการกินไม่ถูกสัดส่วน กินอาหารที่มีแป้งหรือน้ำตาลสูง ทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แถมพลังงานก็ไม่ได้ส่งต่อไปยังลูกโดยตรง คุณแม่จะอ้วนขึ้นแทน
7. ห้ามกินยาพร่ำเพรื่อ
การกินยาเองโดยที่ไม่ได้ไปหาหมอหรือปรึกษาคุณหมอก่อน อาจเป็นอันตรายต่อทารก ทำให้เด็กในครรภ์ไม่สมบูรณ์ เจริญเติบโตช้า เสี่ยงเกิดมาพิการ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ที่ลูกน้อยกำลังสร้างอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
บางครั้งอาจเป็นยาสามัญประจำบ้านที่เราคุ้นชิน เช่น ยาแก้ไอบางกลุ่ม หรือยารักษาสิว ก่อนคุณแม่จะกินยาหรือใช้ยาอะไร ควรสอบถามคุณหมอฝากครรภ์ก่อนจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัย ไม่กระทบต่อสุขภาพครรภ์
ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ลดความเสี่ยงตอนตั้งครรภ์ HDmall.co.th มัดรวม โปรฝากครรภ์ ให้แล้ว สามารถเลือกแพ็กเกจฝากครรภ์ จากโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านที่สนใจ แล้วจองได้เลย