the color blindness

ตาบอดสี (Color Blindness)

ภาวะตาบอดสีพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยจะพบภาวะตาบอดสีในผู้ชายประมาณ 8% ของประชากร และในผู้หญิงพบได้ประมาณ 0.5% ของประชากร ตาบอดสีจะแยกแยะบางสีไม่ได้แต่อาการไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด แบ่งตาบอดสีออกได้เป็นหลายประเภทและหลายอาการ

มีคำถามเกี่ยวกับ ตาบอดสี? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ประเภทของตาบอดสี

ดวงตาของคนเราจะมีเซลล์ประสาทที่เรียกว่า เซลล์รูปกรวย (Cones Cell) ที่อยู่ในจอตา (Retina) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่มีความไวต่อแสงอยู่ด้านหลังของดวงตา ทำหน้าที่ในการมองเห็นสีต่างๆ เซลล์รูปกรวยในดวงตานั้นมีอยู่ 3 ชนิด ทำหน้าที่ดูดซับแสงที่ความยาวคลื่นต่างๆ กัน ได้แก่ เซลล์รูปกรวยสีแดง เซลล์รูปกรวยสีเขียว และเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน

เซลล์รูปกรวยเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อประมวลผลออกมาเป็นสีต่างๆ ของภาพ ถ้าเซลล์รูปกรวยที่จอตาได้รับความเสียหาย หรือไม่มีเซลล์รูปกรวยสีใดสีหนึ่ง จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นสีนั้นได้อย่างถูกต้อง หรือเรียกอีกอย่างว่า ภาวะตาบอดสี ซึ่งมี 3 ชนิดหลัก ได้แก่

  1. ตาบอดสีแดงและสีเขียว: มีปัญหาในการแยกความแตกต่างระหว่างสีแดงและสีเขียว พบเป็นส่วนมาก
  2. ตาบอดสีเหลืองและสีน้ำเงิน: มีปัญหาในการแยกความแตกต่างระหว่างสีเหลืองและสีน้ำเงิน
  3. ตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia): คนที่มีภาวะนี้จะไม่สามารถรับรู้สีใดได้เลย และจะมองเห็นทุกสีเป็นสีเทา สีดำ และสีขาว ภาวะนี้เป็นภาวะตาบอดสีที่พบได้น้อยที่สุด

อาการของภาวะตาบอดสี

อาการที่พบบ่อยของภาวะตาบอดสีคือ การมองเห็นสีผิดปกติ เช่น ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีไฟจราจรสีแดงและสีเขียวได้ หรือไม่สามารถแยกความแตกต่างของเฉดสีที่ใกล้เคียงกันได้

ภาวะตาบอดสีจะเริ่มสังเกตเห็นได้ในช่วงวัยเด็ก ขณะที่เด็กกำลังเริ่มเรียนรู้สีต่างๆ ถ้าอาการของภาวะตาบอดสีไม่รุนแรงมาก เด็กก็อาจไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองมีความผิดปกติในการมองเห็นสี ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองหรือบุตรหลานมีภาวะตาบอดสี ก็ควรไปขอรับการตรวจจากแพทย์เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นโรคตาบอดสีจริงๆ หรือเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ

สาเหตุของภาวะตาบอดสี

ภาวะตาบอดสีสามารถเกิดจากพันธุกรรม และเกิดจากโรคต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

ตาบอดสีจากพันธุกรรม (Inherited Color Blindness)

ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมักจะถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติมาจากแม่สู่ลูกชาย

มีคำถามเกี่ยวกับ ตาบอดสี? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ตาบอดสีที่มีสาเหตุจากโรค

ภาวะตาบอดสีอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือการบาดเจ็บที่จอตา ดังนี้

  • โรคต้อหิน (Glaucoma) : ผู้ป่วยจะมีความดันในลูกตา (Intraocular Pressure) สูงกว่าปกติ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทตาที่มีหน้าที่ในการส่งสัญญาณประสาทจากตาไปยังสมองเพื่อประมวลผลว่าขณะนี้กำลังมองเห็นอะไร ทำให้ความสามารถในการมองเห็นและแยกความแตกต่างของสีผิดปกติไป
  • โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular Degeneration) และภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) : ทั้งสองโรคนี้เป็นโรคที่มีความเสียหายเกิดขึ้นที่จอตา ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์รูปกรวย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาตาบอดสีได้ และในบางกรณีถ้ามีอาการรุนแรงมากจะทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด
  • ต้อกระจก (Cataract) : เลนส์หรือแก้วตา (Lens) ของผู้ป่วยจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากโปร่งแสงเป็นขุ่นมัว ทำให้การมองเห็นสีมัวลง

ตาบอดสีสาเหตุจากการใช้ยาบางชนิด

ยาบางชนิดเป็นสาเหตุของการมองเห็นสีผิดปกติได้ เช่น

  • ยาต้านโรคจิต (Antipsychotic) ได้แก่ Chlorpromazine และ Thioridazine
  • ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ Ethambutol ซึ่งใช้ในการรักษาวัณโรค

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดตาบอดสี

  • อายุที่มากขึ้น ทำให้การมองเห็นและการมองเห็นสีแย่ลง
  • สารพิษ เช่น สาร Styrene ที่อยู่ในพลาสติกบางชนิด ก็มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นสี

การวินิจฉัยภาวะตาบอดสี

การทดสอบที่แพทย์จะทำเพื่อวินิจฉัยภาวะตาบอดสีคือ การใช้ภาพชนิดพิเศษที่เรียกว่า แผ่นตรวจตาบอดสี (Pseudoisochromatic Plates) โดยแผ่นตรวจตาบอดสีนี้ เป็นแผ่นภาพที่สร้างขึ้นจากจุดสีขนาดเล็กเป็นรูปตัวเลขหรือเป็นสัญลักษณ์อยู่ภายในภาพ คนที่มีการมองเห็นปกติเท่านั้นจะสามารถมองเห็นตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่อยู่ภายในภาพนี้ได้

แต่ถ้าคุณมีภาวะตาบอดสี คุณอาจมองไม่เห็นตัวเลขหรืออาจมองเห็นเป็นตัวเลขอื่นๆ การทดสอบนี้เป็นการทดสอบสำคัญสำหรับเด็ก ก่อนที่เด็กจะเริ่มเข้าโรงเรียน เพราะสื่อการเรียนการสอนในวัยเด็กเล็กจะประกอบไปด้วยสีสันต่างๆ

การรักษาภาวะตาบอดสี

ภาวะตาบอดสีจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่จักษุแพทย์อาจให้ใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นเลนส์พิเศษที่สามารถช่วยกรองแสงบางสีออกไป เพื่อช่วยให้เห็นสีต่างๆได้ชัดมากขึ้น

การใช้ชีวิตอยู่กับภาวะตาบอดสี

ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีอาจต้องใช้เทคนิคต่างๆ หรือใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น การจดจำลำดับของไฟจราจรจากบนลงล่าง เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ไฟจราจรกำลังแสดงสีอะไรอยู่ การเขียนบอกไว้บนเสื้อผ้าว่าเสื้อผ้าตัวนี้สีอะไร เพื่อให้เลือกสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางโปรแกรม เพื่อเปลี่ยนแปลงสีในคอมพิวเตอร์ออกมาเป็นสีที่คนตาบอดสีมองเห็นได้

ตาบอดสีสามารถขับรถได้หรือไม่

ปัจจุบันสามารถขับรถได้ โดยเจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบกจะมีการทดสอบ หากสามารถบอกความแตกต่างของสัญญาณไฟจราจรได้ ก็สามารถผ่านเกณฑ์และสอบใบขับขี่ได้ตามปกติ ซึ่งคนตาบอดสีส่วนใหญ่แม้จะมองสีแตกต่างไปจากคนปกติ แต่ยังสามารถแยกแยะสีได้ในระดับหนึ่ง ทำให้สามารถสอบใบขับขี่และต่ออายุใบขับขี่ได้ตามปกติ

มีคำถามเกี่ยวกับ ตาบอดสี? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ