เมื่ออายุมากขึ้น หนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือ สมองและความจำของเรา จากอาการหลง ๆ ลืม ๆ คิดช้าลง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัวเหมือนเคย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสุขภาพสมองที่เสื่อมลง
ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับสมองและความจำมากมาย จนกระทบถึงต่อคุณภาพชีวิตได้ การเริ่มดูแลสุขภาพสมองตั้งแต่วันนี้ ย่อมดีกว่ารอให้เกิดโรคขึ้นแล้ว ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามช่วงวัย
สารบัญ
วิธีบำรุงสมองและความจำให้แข็งแรง
เพื่อให้สมองและความจำทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้อายุมากขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสม
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังมีผลดีต่อสมองหลายอย่าง โดยช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้มีการสร้างเซลล์ประสาทขึ้นใหม่ มีการเชื่อมต่อกันได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมความดันโลหิต ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และความเสื่อมของสมอง อีกทั้งยังช่วยลดความเครียดที่มีผลเสียต่อสมอง และปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น
การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย ควรเป็นการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่งเหยาะๆ (ต้องไม่มีปัญหาข้อเข่า) การเต้นแอโรบิก การรำมวยจีน การว่ายน้ำ หรือการเดิน ควรเลี่ยงการออกกำลังที่ใช้แรงปะทะ
โดยทั่วไป แนะนำให้ผู้สูงอายุออกกำลังกาย 20–30 นาที/วัน และมีการอบอุ่นร่างกายก่อน ประมาณ 5–10 นาที ช่วงแรกให้ออก 2–3 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่อยเพิ่มจำนวนวันขึ้น และควรเลือกรูปแบบให้เหมาะกับสภาพร่างกาย คนที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ร่วมด้วย
2. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพสมอง
ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารที่จำเป็นต้องการทำงานของสมองในปริมาณเหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ในร่างกายและสมอง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้สด
รวมถึงไขมันดีที่มีข้อมูลชี้ว่าส่งผลดีต่อสุขภาพสมอง เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาทะเลชนิดต่าง ๆ อย่างปลาแซลมอน ปลาทูน่า และถั่วเปลือกแข็ง อย่างอัลมอนด์ และวอลนัต
3. เพิ่มความฟิตให้กับสมอง
การฝึกฝนสมองให้ได้ทำงานอยู่เสมอมีความสำคัญในการรักษาการทำงานของสมอง ช่วยสร้างเซลล์ใหม่ ๆ ในการเชื่อมต่อกันของสมอง และป้องกันเซลล์สมองลดลง ซึ่งสามารถทำกิจกรรมในรูปแบบต่อไปนี้ได้
- การอ่านและเรียนรู้สิ่งใหม่: การอ่านหนังสือ เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ หรือทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน
- การทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด: การแก้ไขปริศนา คณิตศาสตร์ หรือการเล่นดนตรี
4. สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี
การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านของระบบประสาท และอารมณ์ โดยอาจเริ่มจากการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือครอบครัว ซึ่งช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น
หรืออาจเข้าร่วมกิจกรรมแบบกลุ่มที่ตัวเองชื่นชอบ เช่น เข้าคลาสงานฝีมือ เข้าวัด หรือทำงานจิตอาสา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง
5. ปรับการนอนหลับให้มีคุณภาพ
การนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสมอง เนื่องจากสมองจะจัดการกับของเสียภายในสมอง ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ลดการอักเสบ สมองทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้เรื่องของความจำ เพราะสมองของเราจะจัดเรียงความทรงจำในขณะนอนหลับ
ผู้สูงอายุที่เจอกับปัญหาด้านการนอน อย่างการนอนกรน นอนไม่หลับ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา และวางแผนการนอนหลับให้เหมาะสม
นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว ควรดูแลสุขภาพด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในสมอง การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะส่งผลต่อสมองโดยตรง
วิธีเหล่านี้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถทำได้ และควรฝึกทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างนิสัยที่ดีในการดูแลสุขภาพร่างกายและสมอง
การตรวจสุขภาพร่างกายและสมอง สิ่งที่ผู้สูงวัยควรใส่ใจเพิ่ม
การดูแลตัวเองเป็นอย่างดีจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะป้องกันโรคเหล่านั้นได้ทั้งหมด การตรวจสุขภาพยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ โดยทั่วไปควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจสุขภาพจะช่วยติดตามดูสุขภาพโดยรวม และค้นหาสัญญาณเสี่ยงของโรคต่าง ๆ หากตรวจพบเร็วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ช่วยชะลออาการ บรรเทาความรุนแรง และรักษาคุณภาพชีวิตไม่ให้แย่ลง
คนที่มีความเสี่ยงโรคสมอง เช่น มีโรคประจำตัว ใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องนานหลายปี สูบบุหรี่ คนในครอบครัวมีประวัติโรคสมอง ดื่มแอลกอฮอล์หนัก หรือเคยบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจสุขภาพสมอง เพื่อคัดกรองโรคสมองที่มักพบในผู้สูงอายุ อย่างโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน หรือภาวะความจำเสื่อมอื่น ๆ
หรือหากพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับสมอง อย่างความจำผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือเป็นบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน พูดช้า ติดขัด หลงทาง ร่างกายเคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคสมองได้
การดูแลสุขภาพร่างกายและสมอง กับการตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสม มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคสมองและการเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของตัวผู้สูงอายุ รวมถึงลูกหลานและคนในครอบครัวด้วย
ดูแลตัวเองอย่างเดียวอาจไม่พอ เข้าสู่ช่วงสูงวัยควร ตรวจสุขภาพสมองและระบบประสาท กับแพทย์เชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลชั้นนำเพิ่มเติม จองผ่าน HDmall.co.th รับราคาพิเศษ ไม่ต้องใช้โปรเสริม