กำมะถัน แร่ธาตุแห่งความสวย

กำมะถัน แร่ธาตุแห่งความสวย

หลายคนรู้จัก “กำมะถัน (Sulfur)” ในฐานะแร่ธาตุธรรมชาติที่มีผงผลึกสีเหลือง ๆ และเป็นส่วนประกอบของแก๊สไข่เน่าสุดเหม็นแสบจมูก แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว กำมะถันมีประโยชน์มากมายในวงการการแพทย์ด้วย

กำมะถัน ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญต่อร่างกาย ช่วยบำรุงทั้งผม เล็บ และผิว จนขึ้นชื่อว่าเป็น “แร่ธาตุแห่งความสวยงาม (Beauty mineral)” เลยทีเดียว 

วันนี้ HDBlog จะพามารู้จักกับประโยชน์ของกำมะถัน และข้อควรระวังกัน     

คุณสมบัติของกำมะถัน

กำมะถัน คือแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่โลหะ มีคุณสมบัติทางเคมีเป็นกรด สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ พบในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ 

ปกติแล้ว กำมะถันจะอยู่ในรูปของแข็ง เป็นผลึกสีเหลือง ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น แต่ถ้าทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น ๆ ก็จะเกิดกลิ่นขึ้นมาได้ เช่น เมื่อรวมตัวกับไฮโดรเจน ก็จะเกิดแก๊สที่มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า

สำหรับกำมะถันที่อยู่ในอาหาร เมื่อกินเข้าไปก็จะถูกดูดซึมในลำไส้พร้อมกันกับกรดอะมิโน จากนั้นร่างกายจะนำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกพร้อมกับเหงื่อและปัสสาวะ ทำให้เรามีกำมะถันแค่ 0.25% ของน้ำหนักตัวเท่านั้น

บทบาทของกำมะถัน กับประโยชน์ดี ๆ ต่อร่างกาย

  • เป็นส่วนประกอบของเคราติน (Keratin) ที่พบในเส้นผม ขน และเล็บ การกินกำมะถันจะช่วยบำรุงให้ผมเงางาม เล็บแข็งแรง ดูสุขภาพดี
  • ช่วยสังเคราะห์คอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นองค์ประกอบในชั้นผิว ที่ช่วยกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้น จึงช่วยบำรุงให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม ไม่แห้งกร้าน
  • ช่วยสังเคราะห์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระดูกและข้อต่อ ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น ลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อและอาการปวดข้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) 
  • ช่วยผลิตอินซูลิน (Insulin) เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
  • ช่วยกำจัดสารพิษจากอาหารและสารระเหยต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ ควันบุหรี่
  • ช่วยล้างสารพิษในตับ
  • ช่วยบำรุงการทำงานของสมองและระบบประสาท
  • เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญ และการใช้ออกซิเจนในเซลล์ ช่วยให้เซลล์มีพลังงานและทำงานได้เป็นปกติ

อาหารที่มีกำมะถันสูง

กำมะถันจะพบได้ในอาหารหลายชนิด ซึ่งอาหารที่มีปริมาณกำมะถันสูง ได้แก่ 

  • อาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เครื่องใน นม อาหารทะเล กุ้ง หอย ปู
  • ผัก เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า กะหล่ำปลี ผักใบเขียว ถั่วงอก
  • ผลไม้ เช่น อะโวคาโด สับปะรด แอปเปิล ราสป์เบอร์รี 
  • ธัญพืช เช่น ถั่วนานาชนิด และข้าวซ้อมมือ

ร่างกายมีกำมะถันน้อยไป–มากไป ส่งผลอย่างไร 

เมื่อร่างกายขาดกำมะถัน จะทำให้ผิวแห้งหรือหยาบกร้านผิดปกติ ผมหลุดร่วง ไม่แข็งแรง และเล็บแตกเปราะ

กรณีที่รับกำมะถันจากอาหารมามากเกินไป ยังไม่พบว่ามีอันตรายรุนแรง เพราะร่างกายขับธาตุส่วนเกินออกได้ แต่กำมะถันในรูปอนินทรีย์ (แบบที่กินไม่ได้) นั้น พบว่ามีพิษต่อร่างกาย

ร่างกายต้องการกำมะถันเท่าไร ถึงเพียงพอต่อวัน

การกินอาหารที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ จะช่วยให้เราได้รับทั้งโปรตีนและกำมะถันที่เพียงพอไปพร้อม ๆ กัน 

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเอ็มเอสเอ็ม (Methysulferfonylmethane: MSM) ที่มีสารอาหารหลักจากกำมะถันแบบอินทรีย์ร่วมกับวิตามินบีรวม โดยวิตามินบีจะช่วยเสริมการทำงานของกำมะถันในร่างกายให้ดีขึ้น 

การกินเอ็มเอสเอมในปริมาณ 1,000–4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (แบ่งวันละ 2-3 ครั้ง) พร้อมกับอาหาร จะช่วยรักษาปัญหาผิว แก้อาการภูมิแพ้ 

นอกจากนี้ การกินเอ็มเอสเอ็มร่วมกับกลูโคซามีน (Glucosamine) ยังช่วยลดอาการข้ออักเสบและปวดตึงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการดูแลสุขภาพ ดังนั้น อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยตัวเราเองกันนะ 


แพ็กเกจตรวจสุขภาพดี ๆ ที่ HDmall.co.th รวบรวมให้ จองง่าย ได้คิวไว ใกล้บ้าน รับประกันคุณภาพ หรือ Add Line มาสอบถาม คลิก 

เพราะ Health ดี อะไรก็ดี อ่านบทความสุขภาพความรู้แบบรอบด้านได้ที่ HDBlog


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ปิยาภรณ์ กิตติสุรัตน์พงศ์


ที่มาของข้อมูล

  • Butawan, M, Benjamin, R, Bloomer, R., Methylsulfonylmethane: Applications and Safety of a Novel Dietary Supplement. Nutrients. 2017
  • Jacob, Stanley W., Appleton, Jeremy. MSM: The Definitive Guide. Topanga, CA: Freedom Press, 2003.
Scroll to Top