การมีลูกอาจไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตคู่เสมอไป สามีภรรยาหลายคู่จึงมักทำหมันเพื่อคุมกำเนิดไม่ให้มีบุตร และยังเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ให้ผลลัพธ์ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดวิธีอื่น
เมื่อพูดถึงการทำหมัน หลายคนจะคิดว่า ต้องเป็นฝ่ายหญิงมากกว่าที่ทำ ซึ่งความจริงแล้วการทำหมันนั้นสามารถทำได้ทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่สามีภรรยา นอกจากนี้การทำหมันในปัจจุบันยังไม่ได้มีขั้นตอนการผ่าตัดที่ซับซ้อน หรือน่ากลัวอย่างแต่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีหลายเทคนิคการผ่าตัดที่ผู้ทำหมันสามารถปรึกษากับแพทย์ก่อนได้
สารบัญ
ความหมายของการทำหมัน
การทำหมัน (Sterilization) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรซึ่งจะมีหัตถการแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง และเพศชาย
การทำหมันชาย
การทำหมันชาย (Vasectomy) คือ การคุมกำเนิดแบบถาวรของเพศชายเพื่อไม่ให้เชื้ออสุจิไหลเข้าไปปฏิสนธิในรังไข่จนเกิดการตั้งครรภ์ได้ เหมาะสำหรับผู้ชายที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือต้องการคุมกำเนิด
การทำหมันชายมีขั้นตอนและกระบวนการไม่ซับซ้อนเท่ากับการทำหมันหญิง ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากถึง 99% อีกทั้งการทำหมันชายนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศแต่อย่างใด ผู้ชายที่ทำหมันแล้วยังสามารถเกิดอารมณ์ทางเพศ และมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนทำหมันชาย
ตัดขนบริเวณอวัยวะเพศให้สั้นที่สุดแต่ไม่จำเป็นต้องโกน จากนั้นอาบน้ำชำระร่างกายโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศให้สะอาด สวมใส่กางเกงที่ใส่สบาย ไม่รัดจนเกินไป แล้วมาโรงพยาบาลพร้อมกับญาติ 1 คนเพื่อช่วยทำเอกสารและรอพากลับบ้าน
วิธีการทำหมันชาย
โดยหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
- การทำหมันแบบทั่วไป (Conventional Vasectomy)
แพทย์อาจวางยาสลบผู้เข้าผ่าตัด แล้วฉีดยาชาบริเวณถุงอัณฑะที่มีท่ออสุจิ จากนั้นจะใช้มีดกรีดแผลประมาณ 1-2 เซนติเมตร แล้วจะใช้อุปกรณ์จับท่ออสุจิทั้ง 2 ข้างมาผูกไว้แล้วตัดท่อออก จากนั้นเย็บปิดแผลด้วยไหมละลายให้เรียบร้อยหลังจากนั้นแพทย์อาจให้ผู้เข้าผ่าตัดรอดูอาการที่โรงพยาบาลอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ - การทำหมันแบบเจาะ (Non-Scalpel Vasectomy)
แพทย์จะฉีดยาชาให้ผู้เข้าผ่าตัด จากนั้นจะใช้เครื่องมือปลายแหลมเจาะผิวหนังเข้าไปผูกและตัดท่ออสุจิผ่านการใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อขยายภาพถุงอัณฑะให้ชัดเจนขึ้นบาดแผลจากการทำหมันวิธีนี้จะมีความยาวเพียง 3 มิลลิเมตร -1 เซนติเมตรเท่านั้น ผู้เข้าผ่าตัดไม่ต้องดมยาสลบ ไม่เย็บแผล และสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังทำหมันเสร็จ
ผู้ที่ทำหมันชายยังต้องดูแลตนเองให้เหมาะสมหลังการทำหมันเสร็จสิ้น เช่น งดออกกำลังกายหนักๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ งดการขี่จักรยาน หรือขี่มอเตอร์ไซค์เพราะจะทำให้แผลถูกกดทับและกระทบกระเทือน รวมทั้งทำความสะอาดแผลให้สะอาดและซับแผลให้แห้งเสมอ
นอกจากนี้ยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทันทีหลังทำหมัน เพราะเชื้ออสุจิบางส่วนอาจยังตกค้างอยู่ในท่อนำอสุจิ และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ แต่ควรรอประมาณ 2 เดือนหลังจากทำหมัน หรือมีการหลั่งประมาณ 10-20 ครั้งแล้ว จากนั้นให้นำตัวอย่างน้ำอสุจิไปให้แพทย์ตรวจว่า ยังมีเชื้ออสุจิหลงเหลืออยู่หรือไม่
ในระหว่างนั้นหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ก็ให้ใช้วิธีสวมถุงยางอนามัยไปก่อน
การทำหมันชายอาจมีกระบวนการไม่ซับซ้อน แต่หากผู้เข้าผ่าตัดดูแลตนเองอย่างไม่เหมาะสม ปล่อยให้แผลสกปรก หรือทำให้แผลกระทบกระเทือนมากๆ ก็สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ลูกอัณฑะบวม แผลติดเชื้อ มีเลือดคั่งในลูกอัณฑะ หรืออาจพบผลแทรกซ้อนอื่นได้บ้าง เช่น อาการปวด (post vasectomy pain syndrome) หรือเกิดผลกระทบทางจิตใจชึ่งมักพบในผู้ที่ตัดสินใจทำหมันแต่อายุยังน้อยมากกว่ากลุ่มที่ตัดสินใจทำหมันที่อายุมากแล้ว
ดังนั้น หลังจากทำหมันแล้วต้องสังเกตแผลผ่าตัดว่า มีอาการบวม เลือดออก มีน้ำหนองไหล หรือรู้สึกปวดผิดปกติหรือไม่ หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที
การทำหมันหญิง
การทำหมันหญิง (Tubal ligation) คือ การคุมกำเนิดแบบถาวรของเพศหญิงผ่านการผ่าตัดให้ท่อนำไข่อุดตันเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิเข้ามาผสมกับไข่จนเกิดการปฏิสนธิได้
ส่วนการทำหมันหญิงด้วยการตัดมดลูก (hysterectomy) มักใช้เฉพาะกรณีที่มีโรคอื่นร่วมด้วย
การทำหมันหญิงจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมมากกว่าการทำหมันชาย โดยช่วงเวลาที่สามารถทำหมันหญิงได้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่
1.ช่วงเวลาหลังคลอด (Post-partum sterilization)
เรียกอีกชื่อว่า “การทำหมันเปียก” เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงนิยมทำหมันกันมากที่สุด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 24-48 ชั่วโมงหลังคลอดบุตร เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ผนังหน้าท้องของผู้หญิงกำลังยืดหยุ่น มดลูกอยู่ในตำแหน่งสูงตรงกับระดับสะดือ จึงสามารถผ่าตัดทำหมันบริเวณท่อน้ำไข่ได้ง่าย
การทำหมันวิธีนี้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากทำหมันเปียกแล้ว 4-6 สัปดาห์
2.ช่วงเวลาที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Interval sterilization)
เป็นการทำหมันที่ไม่เกี่ยวข้องกับช่องเวลาของการตั้งครรภ์ หรือเป็นการทำหมันหลังคลอดบุตรไปแล้ว 6 สัปดาห์ เรียกอีกชื่อว่า “การทำหมันแห้ง” ผู้ที่ต้องการทำหมันแห้งจะต้องตรวจสุขภาพอวัยวะสืบพันธุ์ และตรวจโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ให้แน่ใจเสียก่อนว่า มีความพร้อมที่จะทำหมันแล้ว
นอกจากนี้ยังต้องตรวจให้แน่ใจด้วยว่า “ไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ในขณะนั้น”
แต่หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ทำหมันแห้งแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังทำหมันไปแล้ว 7 วัน หรือหลังจากไม่มีอาการแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัด
การทำหมันหญิงไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% โดยประสิทธิภาพของการทำหมันจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของผู้ทำหมัน ความยาวของท่อนำไข่ วิธีการทำหมัน ซึ่งจะทำให้โอกาสการกลับมาตั้งครรภ์แตกต่างกันไป
นอกจากนี้การทำหมันหญิงยังมีข้อเสียบางอย่างที่ผู้เข้าผ่าตัดควรปรึกษากับแพทย์ และพิจารณาเกี่ยวกับแผนการทำหมันกับครอบครัวให้ดีเสียก่อน เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก โอกาสที่ท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งจะไม่อุดตัน อาการปวดอุ้งเชิงกรานหลังทำหมันเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ทำหมั่นไปแล้ว แต่เกิดความคิดว่า ต้องการจะมีบุตรอีกครั้ง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ก็มักจะเสียใจที่ไม่สามารถมีบุตรได้อีก ดังนั้นก่อนทำหมัน คุณผู้หญิงจึงควรไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน
วิธีทำหมันหญิง
- การทำหมันผ่านการผ่าตัดหน้าท้อง (Minilaparotomy) เป็นวิธีทำหมันที่ไม่ซับซ้อน ทำได้ง่าย และนิยมทำหลังคลอด แต่ก็สามารถทำได้กับการทำหมันแบบแห้งเช่นกัน แต่แผลผ่าตัดจะยาวกว่า
- การทำหมันผ่านการส่องกล้อง (Laparoscopic approach) มีข้อดีคือ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว แต่ต้องให้ผู้เข้าผ่าตัดดมยาสลบก่อน
- การทำหมันทางช่องคลอด (Vaginal approach) เป็นการผ่าตัดที่มีกระบวนการซับซ้อนกว่า ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า แต่มีข้อดีคือ จะไม่มีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง หรือบริเวณสะดือเลย
- การทำหมันด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocoagulation) เป็นการทำหมันโดยการจี้ไฟฟ้าเพื่อทำลายท่อนำไข่อย่างน้อย 3 เซนติเมตร
- การทำหมันด้วยวิธี Pomeroy Technique เป็นการทำหมันที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยการยกท่อนำไข่ขึ้นมาเป็นวงแล้วผูกด้วยไหมละลาย จากนั้นแพทย์จะตัดท่อนำไข่ที่อยู่เหนือรอยผูกออก
- การทำหมันด้วยวิธี Parkland Technique เป็นการทำหมันด้วยการเปิดเอ็นยืดหลอดมดลูก (mesosalpinx) แล้วผูกด้วยไหมละลายทั้งส่วนต้น และส่วนปลายของเอ็น จากนั้นแพทย์จะตัดท่อนำไข่ตำแหน่งตรงกลางระหว่างส่วนต้นกับส่วนปลายเอ็นออก เพื่อให้ปลายท่อนำไข่แยกออกจากกัน
- การทำหมันโดยใช้วัสดุเข้าไปอุดกั้นท่อนำไข่ (Mechanical methods) โดยอาจไม่ใช่การทำให้ท่อนำไข่อุดตันเสมอไป แต่อาจเป็นการรัดท่อนำไข่ด้วยซิลิโคน หรือตัวหนีบที่ทำจากไทเทเนียม
โดยปกติหลังจากทำหมันเสร็จแล้ว ผู้หญิงหลายคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อ แต่ก็ยังต้องพักผ่อนให้มาก งดออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้แผลกระทบกระเทือน รวมถึงสังเกตแผลผ่าตัด หรืออาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทำหมัน เช่น
- ปวดท้อง หรือปวดอุ้งเชิงกราน
- ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มีปริมาณเลือดมากขึ้น หรือน้อยลง หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
อาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากทำหมัน แต่หากรู้สึกปวดท้องน้อยมากผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดมาก และไม่ใช่เลือดประจำเดือน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากการติดเชื้อในท่อนำไข่ หรือท่อนำไข่ทะลุ
การทำหมันหญิงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศแต่อย่างใด ผู้หญิงที่ต้องการทำหมันจึงไม่ต้องกังวลว่า การทำหมันจะส่งผลให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เพียงแต่ผู้ทำหมันส่วนมากมักจะคิดไปเองว่า สมรรถภาพทางเพศของตนเองลดหย่อนลงไปหลังจากทำหมันแล้วเท่านั้น
ผู้หญิง หรือผู้ชาย ใครควรทำหมัน?
ความจริงแล้ว ประสิทธิภาพในการทำหมันเพื่อคุมกำเนิดของผู้หญิงกับผู้ชายนั้นไม่แตกต่างกัน เพียงแต่อาจอยู่ที่ความประณีตของแพทย์และเทคนิคการผ่าตัดว่า ช่วยคุมกำเนิดได้ดีขนาดไหน
ดังนั้น หากคู่สามีภรรยาที่กำลังปรึกษาว่า ใครควรทำหมันดี ก็ต้องตอบว่า “สามารถทำได้ทั้งคู่ ไม่แตกต่างกัน”
แต่จากข้อมูลการทำหมันชาย และทำหมันหญิงที่กล่าวไปข้างต้น การทำหมันหญิงจะมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่าการทำหมันชายมาก หากคำนึงในแง่ความสะดวกสบาย และรวดเร็ว การทำหมันชายจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
การทำหมันให้มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากที่สุด นอกจากจะต้องอาศัยความประณีต และเทคนิคการทำหมันที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแล้ว ความพร้อมของสภาพร่างกาย และการหมั่นกลับมาตรวจการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำ ก็มีส่วนทำให้คุณสามารถคุมกำเนิดได้อย่างไร้กังวลเช่นกัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย