splenomegaly disease disease definition scaled

ภาวะม้ามโต อันตรายกว่าที่คิด รู้จักสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

ม้ามโต เป็นภาวะหรืออาการที่พบได้ทุกเพศทุกวัย และไม่ใช่โรค ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการชัดเจน บางคนอาจตรวจเจอตอนไปตรวจสุขภาพ 

วันนี้ HDBlog จะพาทุกคนไปรู้จักกับภาวะม้ามโตในหลาย ๆ แง่มุมกันว่า ม้ามโตเกิดจากอะไร รู้ได้ยังไงว่าม้ามโต สังเกตเองได้ไหม และมีวิธีป้องกันหรือเปล่า รวมทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะม้ามโตไว้ในบทความนี้แล้ว  

ภาวะม้ามโต (Splenomegaly) คืออะไร

ม้าม เป็นเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบน้ำเหลืองและระบบภูมิคุ้มกัน อยู่บริเวณช่องท้องด้านซ้าย ใกล้กระเพาะอาหาร 

ม้ามมีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในกระแสเลือด ช่วยกรองเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติออกจากเลือด 

โดยปกติ ม้ามจะยาวประมาณ 12 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70–200 กรัม โดยอาจจะแตกต่างไปตามน้ำหนัก ส่วนสูง และเพศ 

ภาวะม้ามโตเป็นภาวะที่ม้ามใหญ่ขึ้น อาจขยายยาวเป็น 20 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น และอาจหนักถึง 1–2 กิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติในร่างกาย 

อาการม้ามโต เป็นแบบไหน มีสัญญาณเตือนไหม

คนส่วนมากจะตรวจเจอภาวะม้ามโตโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ หรือพบแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น ๆ เพราะม้ามโตไม่ได้มีอาการที่แสดงออกมาชัดเจน แต่อาจมีบางอย่างที่บ่งบอกได้ เช่น 

  • รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง หรือปวดท้องด้านซ้าย (เป็นบริเวณที่ม้ามอยู่) และลามไปยังหัวไหล่ด้านซ้ายด้วย หรือมีอาการเจ็บปวดบริเวณท้องด้านซ้ายอย่างรุนแรงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ
  • รู้สึกอิ่มทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร หรืออิ่มเร็วกว่าปกติ ถึงจะกินไปนิดเดียว เพราะกระเพาะอาหารโดนม้ามที่ขยายตัวกดทับ 
  • มีอาการของโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เพราะม้ามโตรุนแรงอาจทำให้เม็ดเลือดต่าง ๆ ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น จนเซลล์เม็ดเลือดแดงลดต่ำ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง 
  • ร่างกายติดเชื้อบ่อย 
  • มีรอยฟกช้ำ หรือเลือดออกง่าย 

เมื่อมีอาการผิดปกติในข้างต้น หรืออาการไม่ดึขึ้นภายใน 2–3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ

รู้สึกกังวลใจ อยากเช็กสุขภาพช่องท้อง ดูความผิดปกติของม้าม HDmall.co.th รวมมาให้แล้ว หาแพ็กเกจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ราคาโปรโมชัน พร้อมเปรียบเทียบราคาจากรพ. และ คลินิกใกล้บ้านคุณได้ คลิกเลย หรือทักมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ที่นี่  

ม้ามโต เกิดจากอะไร มีสาเหตุอะไรบ้าง

ภาวะม้ามโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มีสาเหตุที่พบบ่อย ๆ เช่น 

  • โรคของตับ เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด 
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (EBV: Epstein Barr Virus ซึ่งก็คือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอซิส) การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น วัณโรคปอด โรคซิฟิลิส และการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ
  • การติดเชื้อปรสิต เช่น โรคมาลาเรีย โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไขข้ออักเสบ โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE
  • มะเร็งของต่อมน้ำเหลือง และระบบเซลล์ของเม็ดเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN (Myeloproliferative Neoplasms: MPNs)
  • ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia) เป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายก่อนอายุขัย เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคธาลัสซีเมีย   
  • โรคเมแทบอลิกที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม ซึ่งกระทบต่อการทำงานของตับและม้าม เช่น โรคโกเชร์ (Gaucher Disease) โรคนีแมนน์พิก (Niemann-Pick Disease)
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น มีการกดทับ หรือเกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดดำบริเวณตับหรือม้าม  

ภาวะม้ามโตเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่บางกลุ่มอาจเสี่ยงเกิดภาวะม้ามโตได้มากกว่าปกติ เช่น 

  • เด็กและวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ 
  • ผู้ป่วยโรคเมแทบอลิกจากพันธุกรรม อย่างโรคโกเช่ร์ (Gaucher) โรคนีแมนน์พิก (Niemann–Pick) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและม้าม   
  • คนที่อาศัยหรือไปเที่ยวบริเวณที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย 

การวินิจฉัยภาวะม้ามโต แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

เริ่มแรก แพทย์จะต้องซักประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ร่วมกับการตรวจร่างกายด้วยการคลำบริเวณท้องด้านซ้ายส่วนบน ซึ่งแพทย์อาจคลำเจอม้ามที่โตได้ในขั้นตอนนี้ 

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยยืนยันผล เช่น  

  • การตรวจเลือด เพื่อวัดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดในร่างกาย และค่าเอนไซม์การทำงานของตับ 
  • การถ่ายภาพรังสี เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อติดตามการไหลเวียนของเลือดที่เข้าและออกจากม้าม การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) จะช่วยให้เห็นภาพของม้ามและบริเวณโดยรอบ ว่าม้ามขยายใหญ่ขึ้นและเบียดอวัยวะอื่นหรือไม่
  • การตรวจเพิ่มเติม บางกรณีที่ต้องหาสาเหตุให้แน่ชัด อาจมีการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากตับ และการตรวจไขกระดูก 

ภาวะม้ามโต รักษาได้ไหม หายเองได้หรือเปล่า

ภาวะม้ามโตไม่มีวิธีรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แพทย์จะเน้นรักษาต้นเหตุที่ทำให้ม้ามโต และดูแลตามอาการ เช่น 

  • ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย 
  • รักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง 
  • ให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาอาการม้ามโตจากโรคธาลัสซีเมียและภาวะเม็ดเลือดแดงแตก 
  • กรณีหาสาเหตุไม่ได้ และไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์จะให้เฝ้าระวังอาการไปก่อนราว ๆ 6–12 เดือน 

สำหรับผู้ป่วยที่ม้ามโตมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เม็ดเลือดแดงอื่น ๆ ถูกทำลาย หรือม้ามโตจากสาเหตุที่ไม่มีวิธีรักษา แพทย์อาจต้องตัดม้าม ซึ่งอาจทำให้ภูมิคุ้มกันบางส่วนของร่างกายลดลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น      

ภาวะม้ามโต เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

ม้าม เป็นอวัยวะที่นิ่ม เมื่อขยายใหญ่กว่าปกติ และได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือการเล่นกีฬา อาจทำให้ม้ามแตกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเลือดออกในช่องท้อง จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 

นอกจากนี้ ม้ามโตจะทำให้ปริมาณของเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาวที่ดีในเลือดลดน้อยลง ทำให้ร่างกายติดเชื้อและเกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะโลหิตจางด้วย    

ภาวะม้ามโต ป้องกันได้ไหม 

ภาวะม้ามโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุป้องกันไม่ได้ เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคทางพันธุกรรมบางโรค 

แต่บางสาเหตุ อย่างการติดเชื้อต่าง ๆ อาจลดความเสี่ยงต่อโรคลงได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น   

  • คนที่มีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะม้ามโต ควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง และดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ 
  • ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย ควรดูแลและป้องกันตนเองจากยุงกัดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ 
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดภาวะม้ามโตได้ 

เพราะม้ามโตไม่ค่อยแสดงอาการ การตรวจสุขภาพและอัลตราซาวด์ช่องท้องจะช่วยลดความเสี่ยงได้ ลองเข้ามาดูโปรอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือแพ็กเกจสุขภาพอื่น ๆ ในราคาประหยัด ผ่าน HDmall.co.th คลิกเลย หาอันไหนไม่เจอ แช็ตมาถามแอดมินของเราได้ ที่นี่

อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านได้ที่ HDBlog 

Scroll to Top