ใส่หูฟังนานๆ ทำให้สูญเสียการได้ยินหรือไม่

ใส่หูฟังนานๆ ทำให้สูญเสียการได้ยินหรือไม่

ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1910 นาทาเนียล บอลด์วิน (Nathaniel Baldwin) ชาวอังกฤษ ได้คิดค้นประดิษฐ์ชุดหูฟังวิทยุเป็นคนแรก ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ใช้ควบคู่กับสมาร์ตโฟนหรือแล็ปท็อปที่ขาดไม่ได้ ก็คือ “หูฟัง” นั่นเอง

หูฟังของหลายค่ายต่างแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ทันสมัย มีลูกเล่นหลากหลาย หลายคนจึงใช้หูฟังติดหูเป็นเวลานาน ในบทความนี้จะอธิบายถึงว่า การใช้หูฟังนั้นเป็นอันตรายต่อการได้ยินหรือไม่ เปิดเพลงดังเท่าไรถึงจะเป็นอันตราย ใช้หูฟังได้นานแค่ไหนถึงจะปลอดภัย

การใส่หูฟังมีผลต่อการสูญเสียการได้ยินหรือไม่ อย่างไร?

การได้รับเสียงดังจนเกินไปย่อมเป็นอันตรายต่อการได้ยิน ทำให้สูญเสียการได้ยินจากเสียงได้ (Noise-induced hearing loss) เสียงจากหูฟังก็เช่นกัน หากผู้ฟังเปิดเสียงดังเกินไป ฟังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สูญเสียการได้ยินได้

ตามคำแนะนำในผู้ที่ทำงานซึ่งต้องได้รับมลภาวะทางเสียง ของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control:CDC) กำหนดให้ไม่ควรได้รับเสียงความดัง 85 เดซิเบล ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมง

ซึ่งมีการศึกษาวิจัยว่า หากได้รับเสียงดังเท่านี้เกินเวลา 8 ชั่วโมงจะเป็นอันตรายต่อการได้ยิน และในทุกๆ ความดังที่เพิ่มขึ้น 3 เดซิเบลจาก 85 เดซิเบลนั้น จะสามารถรับเสียงได้ติดต่อกันนานลดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อความเข้าใจและประมาณความดังของเสียงต่างๆ ที่ชัดเจน จึงทำเปรียบเทียบดังตารางด้านล่าง

ความดัง เปรียบเทียบความดังกับสิ่งใกล้ตัว ระยะเวลาที่ไม่ควรได้รับเสียงติดต่อกันเกิน
85 dB เสียงนกหวีด, เสียงรถจักรยานยนต์, เสียงในที่มีการจราจรหนาแน่น 8 ชั่วโมง
88 dB 4 ชั่วโมง
91 dB เสียงแตรรถยนต์, เสียงเครื่องตัดหญ้า, เสียงเครื่องจักรในโรงงาน 2 ชั่วโมง
94 dB 1 ชั่วโมง
97 dB เสียงไซเรนในระยะประมาณ 30 เมตร, เสียงขุดเจาะถนน 30 นาที
100 dB 15 นาที

มีการสำรวจค่าเฉลี่ยของหูฟังที่คนทั่วไปฟัง พบว่ามีความดังประมาณ 100 เดซิเบล ซึ่งหมายความว่า ไม่ควรได้รับเสียงความดังนี้ติดต่อกันเกิน 15 นาที แต่โดยปกติแล้ว การฟังเพลงหรือใช้หูฟังในกิจกรรมต่างๆ มักจะเกิน 15 นาทีแน่นอน

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า พฤติกรรมการใช้หูฟังของคนทั่วไปนั้นเป็นอันตรายต่อการได้ยิน

หูฟังแต่ละประเภทมีผลต่อการสูญเสียการได้ยินต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

การใช้หูฟังแต่ละประเภทนั้น ถ้าเสียงที่เข้าไปในหูมีความดังเท่าๆ กัน ก็จะมีผลต่อการสูญเสียการได้ยินไม่แตกต่างกัน แต่การออกแบบหูฟังแต่ละประเภททำให้เสียงที่เข้าสู่หูของผู้ฟังมีลักษณะต่างกัน

เช่น การใช้หูฟังแบบครอบหู (Headphones) จะมีค่าเฉลี่ยความดังที่ใช้ต่ำกว่าการใช้หูฟังแบบเอียร์บัด (Earbuds) ประมาณ 9 เดซิเบล นั่นหมายความว่า จะสามารถใช้หูฟังได้เป็นระยะเวลานานสูงสุดที่จะไม่เป็นอันตรายได้แตกต่างกันถึง 8 เท่า

นอกจากนี้ การใช้หูฟังประเภทได้ยินผ่านกระดูก (Bone conduction headphones) จะมีประโยชน์ในเรื่องของความปลอดภัยในการขับขี่พาหนะบนถนน เนื่องจากสามารถได้ยินเสียงผ่านเข้าไปในรูหูได้ปกติ ขณะกำลังใช้หูฟังชนิดนี้

โดยสรุปแล้ว หูฟังแต่ละชนิดมีการออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกัน ผู้ฟังควรเลือกชนิดที่เหมาะสม และควรหยุดพักบ้าง ไม่ฟังต่อเนื่องนานเกินไป

นอกจากเรื่องสูญเสียการได้ยิน การใส่หูฟังนานๆ ยังทำให้เกิดผลอะไรได้อีกบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว ในรูหูมีเชื้อแบคทีเรียต่างๆ มากมาย แต่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากในสภาวะปกติ เชื้อแบคทีเรียไม่ได้เจริญเติบโตได้ดีพอที่จะเป็นอันตราย

แต่เมื่อมีการใช้หูฟังนานๆ บ่อยๆ จะมีการสะสมของแบคทีเรียจากความชื้น เหงื่อจากการออกกำลังกาย และสิ่งต่างๆทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อในบริเวณหูชั้นนอก (Otitis externa) ได้

นอกจากนี้การใช้หูฟังที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับรูหู เช่น ใส่หูฟังแน่นจนเกินไป อาจทำให้มีอาการเจ็บและเกิดเป็นแผลบริเวณรูหูได้ ซึ่งแผลจากการเสียดสีจากหูฟังก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการอักเสบติดเชื้อบริเวณหูชั้นนอกได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมใกล้ตัวอย่างการใส่หูฟังต่อเนื่องนานๆ ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการผิดปกติได้ ดังนั้นจึงหมั่นระมัดระวังการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นเวลานาน และหาโอกาสตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้พบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะแรกๆ หรือปรึกษาแพทย์ออนไลน์หากพบความผิดปกติบริเวณหู

ข้อแนะนำการใช้งานหูฟังให้ปลอดภัย

คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หูฟัง ทั้งการเลือกชนิดหูฟัง การปรับระดับความดัง และวิธีเก็บรักษาทำความสะอาด มีดังนี้

  • เปิดความดังของหูฟังไม่เกิน 60-70% ของความดังสูงสุด
  • แนะนำให้ใช้กฎ 60/60 หมายถึง ฟังที่ระดับความดังไม่เกิน 60% ของความดังสูงสุด เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที แล้วพักการใช้งานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาทีก่อนการใช้ครั้งถัดไป
  • ใช้หูฟังแบบครอบหูแทนการใช้งานหูฟังแบบอื่นๆ เพื่อตัดเสียงรบกวนจากภายนอก จะได้ใช้ความดังของหูฟังในระดับที่ต่ำลง
  • ใช้หูฟังที่สามารถตัดเสียงรบกวนได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Noise-cancelling headphones หลักการทำงานคือการตัดเสียงรบกวนที่มีความถี่ต่ำออกไป เช่น เสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม การจราจรที่หนาแน่น ผู้คนพูดคุยกันในที่สาธารณะ

โดยการปล่อยคลื่นที่ตรงกันข้ามกับคลื่นความถี่ต่ำนั้น ทำให้มีการแทรกสอดของคลื่นจากหูฟังและคลื่นจากเสียงรบกวน เมื่อมีเฟส (Phase) ที่ตรงกันข้ามกัน เสียงรบกวนนั้นจึงหายไป การใช้หูฟังชนิดนี้จึงทำให้ใช้ความดังในการฟังลดลงนั่นเอง

  • ทำความสะอาดหูฟัง ด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์หมาดๆ เช็ดสิ่งสกปรกออกไปอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • ไม่ใช้หูฟังร่วมกับผู้อื่น
  • เก็บรักษาหูฟังในที่แห้งและสะอาด

เขียนบทความโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล

Scroll to Top