prostate cancer screening screening process scaled

ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจง่าย รู้ผลไว เจอก่อนรักษาหายได้

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็น 1 ใน 5 โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ชายไทย และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงเมื่อตรวจเจอในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งมักเป็นระยะที่ไม่มีอาการของโรค การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตามช่วงวัยที่เหมาะสม จะช่วยให้เจอร่องรอยของโรคได้แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ และเพิ่มโอกาสรักษาได้มากขึ้นด้วย แล้วการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมีความยุ่งยากไหม ต้องตรวจอะไรบ้าง หรือควรไปตรวจเมื่อไร ไปดูกันเลย

ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เริ่มตรวจตอนไหน ใครบ้างควรตรวจ?

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นการตรวจหาความผิดปกติและร่องรอยของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนมีอาการ ส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ผู้ชายเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งจะต่างจากการตรวจวินิจฉัยโรคที่เราไปตรวจตอนมีอาการ หรือสัญญาณของโรคมาก่อนแล้ว 

สำหรับคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ เป็นโรคอ้วน มีคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อ แม่ หรือพี่น้อง มีประวัติเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งรังไข่ก่อนอายุ 65 ปี แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเร็วกว่านั้น หรือช่วงอายุประมาณ 40-45 ปี เพราะเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง มีโอกาสเกิดโรคมากกว่าคนทั่วไป  

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 วิธี คือ 

1. การเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (PSA Test)

PSA หรือ Prostatic Specific Antigen เป็นโปรตีนที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก สารชนิดนี้มักจะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ชายทั่วไปจะมีค่า PSA น้อยกว่า 4 นาโนกรัม/มิลลิลิตร หากค่า PSA ในเลือดสูงกว่านี้ อาจมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 

การตรวจดูระดับ PSA ในเลือดมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทำได้ง่าย และความเสี่ยงต่ำ เพียงแค่เจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติเหมือนกับการตรวจสุขภาพทั่วไป แต่ก่อนการตรวจ ควรเตรียมตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ และคลาดเคลื่อนน้อย

  • ก่อนตรวจอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ควรเลี่ยงการถึงจุดสุดยอด การออกกำลังกายอย่างหนักหรือกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อมลูกหมาก อย่างการวิ่ง และการขี่จักรยาน 
  • คนที่มีภาวะหรืออาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จะต้องรักษาให้หายก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรอง

อย่างไรก็ตาม การตรวจ PSA เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถยืนยันได้ว่าคุณเป็นหรือไม่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะค่า PSA ที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลมาจากการใช้ยา ความผิดปกติของต่อมลูกหมาก หรือปัญหาสุขภาพอื่นได้เช่นเดียวกัน หากแพทย์พบความเสี่ยง จะแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่นประกอบการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัย

2. การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam: DRE)

การตรวจทางทวารหนักมักจะทำคู่กับการตรวจหาค่า PSA เพื่อคลำดูลักษณะและรูปร่างของต่อมลูกหมาก ในระหว่างการทำอาจเกิดความรู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายตัวที่เป็นอาการทั่วไป ไม่อันตราย และหายเองได้

ขั้นตอนการตรวจเริ่มจากผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ จากนั้นนอนบนเตียงในท่าตะแคงหรือท่าโค้งแล้วงอตัวให้สุด แพทย์จะสวมถุงมือยาง ทาเจลหรือสารหล่อลื่นบนนิ้วชี้ แล้วสอดนิ้วเข้าไปในรูทวารหนัก เพื่อคลำหาสัญญาณของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากว่ามีขนาดใหญ่ขึ้น ลักษณะหรือรูปร่างที่เปลี่ยนไป สัมผัสเจอก้อนแข็ง หรือขรุขระ 

ผลการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

หากตรวจคัดกรองแล้วไม่พบความเสี่ยง แพทย์จะแนะนำให้เข้ามาตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี เพื่อหาความเสี่ยงก่อนเกิดโรคขึ้น แต่หากผลการตรวจคัดกรองออกมาว่าคุณมีความเสี่ยง ก็อย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลไป นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป แพทย์จะให้ตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลให้แน่ชัดก่อน เช่น การอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตัดตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เป็นต้น 

กรณียืนยันผลวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาขั้นต่อไปร่วมกับผู้ป่วย ซึ่งการตรวจพบโรคในระยะแรกนั้นมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งระยะที่รุนแรง ตรวจสุขภาพครั้งต่อไป ใครมีความเสี่ยงหรือรู้สึกกังวลใจ ก็อย่าลืมไปตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มด้วยอีกรายการ

อย่ารอให้มีสัญญาณโรคร้าย ตรวจเร็ว รู้ผลก่อน สบายใจกว่า เช็กแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ราคาพิเศษเฉพาะที่ HDmall คลิกดูโปร หรือต้องการคำแนะนำ จองวันตรวจล่วงหน้า สอบถามแพ็กเกจที่เหมาะกับคุณ แชทหาแอดมิน ที่นี่ สอบถามฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

Scroll to Top