หากเริ่มสงสัยว่า ตนเองกำลังตั้งครรภ์ แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบด้วยเครื่องมือมาตรฐานและกังวลว่าอาจกำลังตั้งท้องโดยไม่รู้ตัว การสังเกตอาการเหล่านี้ในเบื้องต้นนี้ก็อาจช่วยตั้งสมมติฐานได้เบื้องต้นว่า “ตนเองตั้งครรภ์หรือไม่”
สารบัญ
- อาการเบื้องต้นซึ่งเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์
- ชุดตรวจตั้งครรภ์วัดการตั้งครรภ์จากอะไร?
- วิธีการอ่านผลชุดตรวจการตั้งครรภ์
- ประเภทของชุดตรวจตั้งครรภ์ ราคา และวิธีใช้
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการอาการเบื้องตนของการตั้งครรภ์
- 1. หากประจำเดือนขาด แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ หมายความว่าอย่างไร?
- 2. ปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจครรภ์เป็นลบ นอกจากการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
- 3. ทำไมหลายครั้ง เราถึงรู้สึกเหมือนกำลังตั้งครรภ์
- 4. หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ช่วงเวลาไหนที่จะเริ่มแสดงอาการของการตั้งครรภ์?
- 5. หากมีอาการคลื่นไส้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ แสดงว่า ท้องใช่ไหม?
- 6. มีอาการคล้ายคนท้อง แต่มีเลือดออกมาจากช่องคลอด หมายความว่าอย่างไร?
- 7. ถ้าไม่มีอาการคนท้อง แสดงว่า เราไม่ได้ท้องใช่ไหม?
อาการเบื้องต้นซึ่งเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์
อาการเบื้องต้นที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มักเป็น ได้แก่
- รู้สึกเจ็บ และคัดตึงหน้าอก หญิงตั้งครรภ์ขนาดของเต้านมจะขยายมากขึ้นเรื่อยๆ หัวนม และลานนมโตขึ้น สีคล้ำขึ้น อาจเห็นตุ่มเล็กๆ ขึ้นบริเวณลานนมร่วมด้วย อาการจะชัดมากในช่วง 5-6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
- ปัสสาวะบ่อย เพราะขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้จุปริมาณปัสสาวะได้น้อยลง จึงปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
- เหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย ความเครียด ความเหนื่อยล้า และความอ่อนเพลีย เป็นอาการเบื้องต้นของหญิงตั้งครรภ์บางราย
- สิว ผิวคล้ำขึ้น มีฝ้า เป็นอาการที่ไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า คุณกำลังตั้งครรภ์ แต่ก็เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนมากสีผิวของหญิงตั้งครรภ์มักคล้ำขึ้นจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สังเกตได้ตรงบริเวณรอบสะดือ ข้อพับต่างๆ บางรายอาจเกิดฝ้า หรือสิวที่ใบหน้าด้วย สิ่งสำคัญก็คือ หญิงตั้งครรภ์จะต้องระมัดระวังการใช้ยารักษาสิวและฝ้า เพราะยาบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ หากต้องการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้ง
- หิวกระหายอาหารบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของเปรี้ยว ของดอง ไอศกรีม หรือจะเป็นอาหารแปลกๆ
- คลื่นไส้และแพ้ท้อง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ โดยมักเกิดตอนท้องว่างในช่วงเช้า หรือบางรายก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
- อาการปวดท้องเฉพาะที่ เป็นอาการที่พบได้ในหญิงที่มีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ โดยอาจเกิดจากการขยาย หรือบีบตัวของมดลูก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องเฉพาะที่อย่างรุนแรงควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเลือดไหลมากผิดปกติจากการปวดท้องร่วมด้วย
- ท้องป่อง หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจเห็นท้องที่นูนชัดขึ้นได้ แต่อาการท้องป่องนี้ก็อาจมาจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น เป็นอาการก่อนมีประจำเดือน หรือท้องอืด
- มีเลือดออกไม่ตรงกับรอบเดือน ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ หรือมาไม่ตรงรอบ ไม่ใช่สีแดงสด รอบเดือนลักษณะนี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน ทางที่ดีควรจดบันทึกรอบเดือนเป็นประจำ เพราะจะช่วยในการคาดคะเนโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
- รอบเดือนขาด รอบเดือนขาดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ วิธีดูแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แต่ในบางครั้งรอบเดือนอาจแค่มาช้า เพื่อความแน่ใจควรใช้ชุดตรวจครรภ์ตรวจเพื่อยืนยันผลจะดีกว่า
อาการที่บ่งบอกว่า กำลังตั้งครรภ์นั้น ค่อนข้างหลากหลาย บางครั้งอาจเป็นอาการร่วมกับภาวะอื่นๆ เช่น ก่อนมีรอบเดือน หรือความเครียด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำอาการดังกล่าวมายืนยันผลของการตั้งครรภ์ การใช้ชุดตรวจครรภ์ตรวจเพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ หรือไปตรวจการตั้งครรภ์กับแพทย์โดยตรงจะเป็นวิธียืนยันผลที่ดีที่สุด
ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งในการตรวจครรภ์ด้วยตนเองคือ ควรตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์มากกว่า 1 ยี่ห้อในแต่ละครั้ง เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้ว่าต่างกันหรือไม่ หากตรวจพบว่า ไม่ท้อง ก็ควรตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไปเพื่อยืนยันผลที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
ชุดตรวจตั้งครรภ์วัดการตั้งครรภ์จากอะไร?
ชุดตรวจตั้งครรภ์เป็นอุปกรณ์เล็กๆ ที่สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยตัวเองจากการตรวจปัสสาวะ ในทางการแพทย์ เรียกว่า การทดสอบหาฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรก
หากแถบสีแดงขึ้น 2 ขีด หมายความว่า คุณกำลังตั้งครรภ์
วิธีการอ่านผลชุดตรวจการตั้งครรภ์
วิธีการอ่านผลคือ หลังจากหยดน้ำปัสสาวะในที่ตรวจครรภ์แล้ว แนะนำให้อ่านค่าหลังจากที่ทิ้งไว้ 5 นาที จะเป็นค่าที่แม่นยำที่สุด โดยขีดในแถบวัดจะมี 2 ขีด คือ C (Control Line) และ T (Test Line)
ผลที่เกิดขึ้นจะมี 3 ประเภท ดังนี้
- มีขีดขึ้น 1 ขีดที่ C หมายถึง น่าจะไม่ท้อง
- หากเริ่มมีการตั้งครรภ์ ขีดจะขึ้น 2 ขีด เป็นแถบคู่กัน หมายถึง กำลังท้อง
- หากขึ้นขีดเดียวที่ T หมายถึง อ่านค่าไม่ได้ หรือชุดทดสอบเสีย ควรซื้อชุดใหม่มาทดสอบ
หมายเหตุ: เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด ควรตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงที่ประจำเดือนขาดไปแล้ว 10-14 วัน ซึ่งผลที่ได้จะชัดเจนกว่า 90% เลยทีเดียว
ประเภทของชุดตรวจตั้งครรภ์ ราคา และวิธีใช้
- แบบปัสสาวะผ่าน เป็นชุดตรวจครรภ์ที่ราคาค่อนข้างสูง ใช้ง่าย ไม่ต้องเก็บปัสสาวะใส่ถ้วยให้เลอะเทอะ และมีผลค่อนข้างแม่นยำ
- แบบตลับ หรือแบบหยด เป็นชุดตรวจครรภ์ที่ประกอบด้วยถ้วยตวงปัสสาวะและหลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ ข้อดีของชุดตรวจแบบนี้คือ สามารถควบคุมปริมาณปัสสาวะได้ โดยใช้เพียงแค่ 3-4 หยดเท่านั้น ทำให้ช่วยลดโอกาสแผ่นทดสอบเสียจากการดูดน้ำปัสสาวะได้
- แบบแถบจุ่ม ที่ตรวจครรภ์แบบนี้ บางยี่ห้อจะมีถ้วยตวงปัสสาวะด้วย แต่บางยี่ห้อจะไม่มี ข้อดีคือ ราคาถูกที่สุดในชุดตรวจทั้ง 3 แบบ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำปัสสาวะสูงเกินขีดที่กำหนด เพราะอาจทำให้แผ่นทดสอบเสื่อมสภาพได้
คำแนะนำในการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง
- การตรวจปัสสาวะ ควรใช้ปัสสาวะหลังจากตื่นนอนตอนเช้า เพราะเป็นปัสสาวะใหม่จะให้ผลดีที่สุด
- ควรใช้ที่ตรวจครรภ์หลายๆ ชนิดพร้อมกัน เป็นการวัดผลจากหลากหลายทางเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากที่ตรวจครรภ์วิธีใดวิธีหนึ่ง
- ที่ตรวจครรภ์แต่ละประเภทมีวิธีใช้งานที่แตกต่างกัน ควรอ่านคำแนะนำอย่างละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ควรทำซ้ำอีก 2-3 วันถัดมา เนื่องจากการตรวจครั้งแรกระดับฮอร์โมน HCG อาจจะยังต่ำ อาจมีการตั้งครรภ์แล้วแต่ตรวจไม่พบ แต่จะชัดเจนขึ้นในอีก 2-3 วันถัดมา
อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มั่นใจควรไปรับการตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคลินิก หรือสถานพยาบาลอีกครั้ง เพราะหากพบว่า มีการตั้งครรภ์แล้วจะได้ฝากครรภ์ในลำดับต่อไป เพื่อติดตามดูแลครรภ์และผู้ตั้งครรภ์ได้ทันท่วงที
ในระหว่างนี้ถึงแม้จะยังไม่แน่ใจว่า ตั้งครรภ์หรือไม่ แต่คุณก็ต้องระวังเรื่องการรับประทานยา เพราะยาปฏิชีวนะบางชนิดมีผลร้ายแรงต่อทารกในครรภ์มาก จึงควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษจนกว่าจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากแพทย์
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการอาการเบื้องตนของการตั้งครรภ์
1. หากประจำเดือนขาด แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ หมายความว่าอย่างไร?
ตอบ ทั้งประจำเดือนและผลตรวจครรภ์ ต่างมีปัจจัยที่ทำให้คลาดเคลื่อนได้ทั้งนั้น โดยในส่วนของประจำเดือน การที่ประจำเดือนไม่มาอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรืออาการเจ็บป่วย จนส่งผลให้รอบเดือนมาไม่ปกติ
ส่วนผลตรวจครรภ์ก็อาจเป็นไปได้ว่า กำลังตั้งครรภ์ แต่ชุดตรวจที่ซื้อมาไม่มีประสิทธิภาพพอจึงทำให้ผลออกมาเป็นลบ หรือคุณอาจไม่ได้ตั้งครรภ์จริงๆ ผลตรวจจึงออกมาเป็นลบก็เป็นไปได้เหมือนกัน
กรณีนี้เพื่อความมั่นใจจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ให้ได้ผลที่มั่นใจได้ที่สุด
2. ปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจครรภ์เป็นลบ นอกจากการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
นี่เป็นคำถามที่พบบ่อยที่สุด บางคนมีอาการเหมือนกำลังตั้งครรภ์ทุกประการ แต่ผลตรวจครรภ์กลับเป็นลบ จึงลังเลว่า ควรจะเชื่อจากอาการ หรือเชื่อผลตรวจครรภ์ดี
จริงๆ แล้วผลตรวจครรภ์นั้นถือว่า แม่นยำพอสมควร แต่ก็มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ผลออกมาเป็นลบได้เช่นกัน ได้แก่
- อายุครรภ์ไม่มากพอ ชุดทดสอบจะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครรภ์เกินกว่า 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นหากอายุครรภ์ยังไม่ครบสัปดาห์ โอกาสที่จะตรวจไม่เจอนั้นสูงมาก ทางที่ดีควรตรวจซ้ำในสัปดาห์ถัดไปเพื่อยืนยันผลอีกที
- ปัสสาวะเจือจางเกินไป ปัสสาวะที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบควรมีความเข้มข้นมากพอ เช่น เป็นปัสสาวะที่เก็บตอนเช้าหลังตื่นนอน หากเก็บปัสสาวะหลังจากดื่มน้ำมากๆ ปัสสาวะที่ได้จะเจือจาง ยิ่งถ้าอายุครรภ์ยังไม่มากด้วยแล้ว ก็มีโอกาสตรวจไม่เจอได้เหมือนกัน และไม่ควรนำปัสสาวะที่เก็บค้างไว้มาตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่เก็บใหม่จะดีที่สุด
- ชุดทดสอบเสื่อมคุณภาพ หลายๆ ครั้ง ชุดทดสอบที่เสื่อมคุณภาพก็ทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้ ควรตรวจสอบก่อนทุกครั้งว่า ชุดทดสอบนั้นหมดอายุหรือไม่ ที่ซองมีรอยฉีกขาด หรือเก็บไว้ในที่ที่มีความชื้นหรือไม่ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ในการตรวจทุกครั้ง จะต้องปรากฏขีดที่แถบ C เสมอ หากตรวจแล้วพบว่า มีขีดขึ้นขีดเดียวที่แถบ T นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่เป็นเพราะชุดทดสอบนั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
- ไม่ปฏิบัติตามคู่มือของชุดทดสอบ ชุดทดสอบแต่ละแบบแต่ละยี่ห้อ จะมีวิธีการใช้ระบุไว้ ซึ่งผู้ตรวจต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เช่น
- ชุดทดสอบแบบจุ่ม: ต้องจุ่มไม่ให้เกินขีดที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะอ่านผลไม่ได้
- ชุดทดสอบแบบหยด: ต้องหยดน้ำปัสสาวะ 3-5 หยด ตามที่กำหนดไว้ หากหยดน้อยเกินไปก็อาจทำให้ตรวจไม่พบ
- เวลาในการอ่านผล: บางชุดทดสอบจะกำหนดให้อ่านผลภายใน 5-10 นาที หลังหยด หรือจุ่มน้ำปัสสาวะ หากอ่านผลเร็ว หรือช้าเกินไปก็อาจได้ผลที่ไม่ถูกต้องได้
- ชุดทดสอบแบบจุ่ม: ต้องจุ่มไม่ให้เกินขีดที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะอ่านผลไม่ได้
3. ทำไมหลายครั้ง เราถึงรู้สึกเหมือนกำลังตั้งครรภ์
ตอบ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่หลายคนกลับมีอาการคล้ายกับกำลังตั้งครรภ์ นั่นก็เพราะผู้หญิงทุกคนจะมีการเปลี่ยน แปลงของฮอร์โมนระหว่างมีรอบเดือน หรือก่อนมีประจำเดือนเกิดขึ้น ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับคนท้อง เช่น คัดตึงหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย นอกจากนี้อาการประจำเดือนไม่มาตามปกติยังอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วย ความเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอได้ ดังนั้นประจำเดือนที่หายไป จึงไม่ได้หมายความว่า “คุณตั้งครรภ์เสมอไป”
หากมีความกังวลเกี่ยวกับการมีอาการคล้ายคนตั้งครรภ์ แต่ไม่กล้าไปปรึกษาใคร หรือไม่มีเวลาไปพบแพทย์ ปัจจุบันมีหลายแห่งเปิดให้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงแล้ว หรือจะปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับสุขภาพจิต ความเครียด ความกังวลใจ ก็มีให้บริการเช่นกัน
บริการเหล่านี้ยังสามารถเลือกได้ว่า จะเปิดกล้องเพื่อเห็นหน้าแพทย์ที่ให้คำปรึกษา หรือแค่โทรศัพท์พูดคุยปรึกษากับแพทย์แบบไม่ต้องเปิดกล้อง ก็มี สะดวกสบายเป็นที่สุด
4. หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ช่วงเวลาไหนที่จะเริ่มแสดงอาการของการตั้งครรภ์?
ตอบ อาการเริ่มของการตั้งครรภ์มักจะเริ่มแสดงออกมาเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 หรือ 6 ของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนขาดครั้งล่าสุด หรือ 6 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนครั้งล่าสุดมา
5. หากมีอาการคลื่นไส้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ แสดงว่า ท้องใช่ไหม?
ตอบ อาการคลื่นไส้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ได้ยืนยัน 100% ว่า คุณไม่ได้ตั้งครรภ์แน่นอน เพราะหากผลตรวจออกมาเป็นบวก นั่นหมายความว่า คุณอาจตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว และเพิ่งเริ่มมีอาการในช่วงนั้น
6. มีอาการคล้ายคนท้อง แต่มีเลือดออกมาจากช่องคลอด หมายความว่าอย่างไร?
ตอบ หากแน่ใจแล้วว่า ตนเองตั้งครรภ์แต่มีเลือดไหลออกมา ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้งได้
แต่หากยังไม่แน่ใจว่า ตั้งครรภ์หรือไม่ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะนั่นอาจเป็นเลือดประจำเดือนก็ได้ หรือเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเป็นเลือดที่เกิดจากไข่ซึ่งผสมกับตัวอสุจิเรียบร้อยแล้วก็ได้ และนั่นก็เป็นสัญญาณบอกว่า คุณกำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่ทางที่ดีควรไปตรวจกับแพทย์โดยตรงจะแน่นอนที่สุด
7. ถ้าไม่มีอาการคนท้อง แสดงว่า เราไม่ได้ท้องใช่ไหม?
ตอบ ถึงแม้คุณจะไม่มีอาการคนท้องเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ได้ตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจไม่มีสัญญาณบ่งบอก หรืออาการแพ้ท้องใดๆ เลยก็ได้ แต่มารู้ตัวอีกที ก็พบว่า ตนเองตั้งครรภ์ได้หลายสัปดาห์แล้ว
หลายคนที่กำลังสงสัยว่า ตนเองกำลังตั้งครรภ์หรือไม่ แนะนำให้จดบันทึกรอบเดือนอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หมั่นสังเกตอาการ หรือสัญญาณของร่างกายว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและเพื่อการยืนยันผลที่ชัดเจน ควรใช้เครื่องมือทดสอบการตั้งครรภ์หลายๆ ยี่ห้อเพื่อให้แน่ใจ หรือไปพบแพทย์เพื่อขอตรวจครรภ์โดยตรงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
บทความแนะนำ
- อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ สังเกตก่อนท้องไม่รู้ตัว
- อาการคัดเต้าคนท้อง ต่างจากก่อนมีประจำเดือนไหม ?
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี