การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือที่เรียกกันว่า “การฉีดพีอาร์พี (Platelet Rich Plasma: PRP)” เป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่มีอาการระดับปานกลาง ที่มีความปลอดภัยมากและมีโอกาสเกิดอาการแพ้น้อย เพราะเกล็ดเลือดที่จะนำมาใช้นั้นสกัดจากเลือดของตัวเอง
สารบัญ
- ความหมายของการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือการฉีด PRP
- ขั้นตอนในการฉีด PRP เป็นอย่างไร?
- การฉีด PRP รักษาข้อเข่าเสื่อม จะต้องฉีดกี่ครั้ง และเมื่อไรถึงจะเห็นผล?
- การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีด PRP มีข้อดีอย่างไร?
- ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีด PRP
- การดูแลตัวเองก่อน-หลัง การฉีด PRP
- การฉีด PRP รักษาข้อเข่าเสื่อมราคาเท่าไร?
- ความแตกต่างระหว่างการฉีด PRP กับการฉีดน้ำไขข้อเทียม
ความหมายของการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือการฉีด PRP
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือการฉีด PRP เป็นการนำเลือดของผู้ที่ต้องการรับการรักษามาปั่นแยกเกล็ดเลือด แล้วนำมาฉีดรักษาข้อ เอ็น กระดูก และกล้ามเนื้อ
การฉีด PRP สามารถใช้รักษาได้หลากหลายอาการ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นต่างๆ โรครองช้ำ โรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากนี้ยังใช้ฉีดบำรุงผิวหน้า กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังได้อีกด้วย
เกล็ดเลือดนั้นจะมีโกร๊ทแฟคเตอร์ (Growth factor) หลายชนิด ซึ่งช่วยในการซ่อมแซมหลอดเลือด กระดูก และกล้ามเนื้อ กระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์และคอลลาเจน อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยบรรเทาอาการปวดในข้อได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉีด PRP หลังจากที่การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรับประทานยาแก้ปวดแล้วแต่ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งมักใช้รักษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง
ขั้นตอนในการฉีด PRP เป็นอย่างไร?
- แพทย์จะเก็บเลือดของผู้จะรับการฉีด PRP ประมาณ 20 cc เพื่อนำไปปั่นแยกชั้นเกล็ดเลือด ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 นาที จะได้เกล็ดเลือดสีเหลืองใสประมาณ 2 cc
- แพทย์ฉีดเกล็ดเลือดเข้าไปยังบริเวณที่ต้องการทำการรักษา หากเป็นการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมก็จะฉีดบริเวณข้อเข่า
คำแนะนำ: ในช่วงที่รับการรักษาด้วยการฉีด PRP ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาชา ยาต้านการอักเสบ หรือยาสเตียรอยด์ เพราะตัวยาจะไปลดประสิทธิภาพการทำงานของเกล็ดเลือดลง
การฉีด PRP รักษาข้อเข่าเสื่อม จะต้องฉีดกี่ครั้ง และเมื่อไรถึงจะเห็นผล?
จำนวนครั้งในการฉีด PRP จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยส่วนมากจะต้องฉีดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ โดยจะเริ่มเห็นผลการรักษาในช่วง 4-6 สัปดาห์เป็นต้นไป
ทั้งนี้ผลการรักษาด้วยการฉีด PRP จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ฮอร์โมน ความรุนแรงของอาการ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยด้วย
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีด PRP มีข้อดีอย่างไร?
- การฉีด PRP เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อย เพราะใช้เกล็ดเลือดจากตัวผู้ป่วยเอง
- การฉีด PRP อาจทดแทนการใช้ยาฉีดยาสเตียรอยด์ได้ ซึ่งการฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น ข้อสึกกร่อนรุนแรง ข้ออักเสบจากผลึกสเตียรอยด์
ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีด PRP
การฉีด PRP จะต้องเก็บเลือดของผู้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเองมาปั่นแยกเกล็ดเลือด ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเกล็ดเลือดจึงไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ เช่น
- ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง
- ผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำ หรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งกระดูก
- ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด
การดูแลตัวเองก่อน-หลัง การฉีด PRP
- เมื่อจะเข้ารับการฉีด PRP ผู้จะรับการฉีดจะต้องหยุดรับประทานยาต้านการอักเสบและยาสเตียรอยด์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และต้องงดฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณที่ต้องทำการฉีด PRP อย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากตัวยาจะลดประสิทธิภาพการทำงานของเกล็ดเลือดได้
- ก่อนวันที่จะต้องเข้ารับการฉีด PRP ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ จะช่วยให้เก็บเลือดได้ง่ายขึ้น
- หลังจากฉีด PRP ควรงดยาสเตียรอยด์และยาต้านการอักเสบต่อไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล และประคบเย็นได้
การฉีด PRP รักษาข้อเข่าเสื่อมราคาเท่าไร?
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม 1 ครั้ง ราคาเริ่มต้นที่ 5,000-8,000 บาท โดยแพทย์แนะนำให้ฉีด 2-3 ครั้ง เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ความแตกต่างระหว่างการฉีด PRP กับการฉีดน้ำไขข้อเทียม
ในการรักษาผู้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากวิธีฉีด PRP แล้ว บางคนอาจได้รับคำแนะนำให้ฉีดน้ำไขข้อเทียม
การฉีด PRP กับการฉีดน้ำไขข้อเทียมอยู่ในขั้นตอนการรักษาช่วงเดียวกันคือ จะใช้หลังจากที่ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น grup’แต่เป้าหมายในการรักษา 2 แบบนี้แตกต่างกัน
การฉีด PRP จะเป็นการฉีดเกล็ดเลือดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างและซ่อมแซมผิวข้อที่สึกหรอ ในขณะที่การฉีดน้ำไขข้อเทียม เป็นการฉีดสารสังเคราะห์ไฮยารอนิกแอซิด (Hyaluronic acid) เพื่อไปทดแทนน้ำไขข้อที่เสื่อมสภาพและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำไขข้อขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: รู้จักกับการฉีดน้ำไขข้อเทียม หนึ่งในวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
การฉีด PRP และการฉีดน้ำไขข้อเทียม สามารถทำร่วมกันได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมมากยิ่งขึ้น
ผู้รับการฉีด PRP เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม ควรทำกายภาพบำบัดไปด้วย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรง รวมไปถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายหรือดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา