เลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด รักษาปัญหาอย่างตรงจุด scaled

เลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด รักษาปัญหาอย่างตรงจุด

“เส้นเลือดขอด” อาจเป็นภาวะที่หลายๆ คนกำลังเผชิญอยู่ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเส้นเลือดขอดจะไม่ใช่โรคที่มีความอันตราย หรือกระทบกับการใช้ชีวิตประวันมากนัก

แต่การที่เรียวขาของคุณมีเส้นเลือดขอดก็อาจส่งผลต่อความมั่นใจ หรือความกังวลใจเวลาต้องสวมใส่กระโปรงสั้น หรือกางเกงขาสั้น จนต้องหาวิธีแก้ไข

ในอดีตการรักษาโรคเส้นเลือดขอดบางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัด แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและการศึกษาทางด้านการแพทย์ที่พัฒนาไปมาก จึงทำให้รูปแบบการรักษาโรคเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้นหลายแนวทาง

หากพูดถึงวิธีที่เห็นผลไว สะดวก รวดเร็ว และเป็นที่นิยมคงจะหนีไม่พ้น “การเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด”

เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร และมีกี่รูปแบบ?

ระบบไหลเวียนโลหิตของมนุษย์เป็นการลำเลียงเลือดดำจากปลายเท้าเข้าสู่หัวใจ ซึ่งเป็นการต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ในหลอดเลือดดำจะมีลิ้น (Valve) ทำหน้าที่ควบคุมให้กระแสเลือดไหลสู่หัวใจทางเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสเลือดไหลย้อนกลับไปสู่ปลายเท้า

ผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดขอด (Varicose vein) มักเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหลอดเลือดดำเสื่อมสภาพ

สาเหตุการเสื่อมสภาพของลิ้นหลอดเลือดดำเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุ พันธุกรรม การนั่ง หรือยืนนานๆ ส่งผลให้เกิดอาการคั่งในเส้นเลือดนำมาสู่ภาวะเส้นเลือดขอด โดยจะมีลักษณะโป่งพองเป็นก้อน หรือเป็นเส้นเลือดฝอยแตก

ตำแหน่งที่พบเส้นเลือดขอดได้บ่อย ได้แก่ บริเวณน่อง ขาพับ โคนขา และระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก

เส้นเลือดที่มักเกิดอาการเส้นเลือดขอด ได้แก่

  • เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ (Varicose Veins) เส้นเลือดขอดบริเวณนี้เกิดจากผนังเส้นเลือดบางทำให้เส้นเลือดพอง หรืออาจมีลักษณะคดเคี้ยว มีลักษณะเป็นสีเขียวผสมม่วง
  • เส้นเลือดฝอยขนาดเล็ก (Spider Veins) เป็นเส้นเลือดที่อยู่ในชั้นตื้นๆ ของผิวหนัง โดยมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม อาจมีลักษณะเป็นสีแดงไปจนถึงสีน้ำเงิน

การเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด ทำอย่างไร?

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์มีหลักการคือ การใช้แสงเลเซอร์ทะลุผ่านผิวหนังและแทรกตัวเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อให้เม็ดเลือดดูดซับแสงเลเซอร์ จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นพลังความร้อนเพื่อไปทำลายผนังหลอดเลือดในจุดที่มีอาการขอด

วิธีการรักษาด้วยแสงเลเซอร์จะให้ความแม่นยำสูงโดยทำลายเฉพาะหลอดเลือด และไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน นอกจากจะสะดวก รวดเร็ว และไม่สร้างความเจ็บปวดมากนัก ยังเป็นรูปแบบการรักษาที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนหลังการทำ

การเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอดเหมาะกับใคร?

การใช้เลเซอร์รักษาเหมาะกับผู้ที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก หรือเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 มิลลิเมตร

หากมีเส้นเลือดขอด หรือเส้นเลือดฝอยขนาดใหญ่เกิน 2 มิลลิเมตรรวมอยู่ด้วย ไม่ควรรักษาด้วยเลเซอร์ เพราะนอกจากการรักษาจะไม่ได้ผลแล้ว ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำในเวลาอันรวดเร็ว

สิ่งที่อาจทำได้สำหรับคนกลุ่มนี้คือ การรักษาโดยใช้เลเซอร์ หรือคลื่นความถี่วิทยุจากภายในเส้นเลือด (Endovenous ablation)

การรักษาโดยใช้เลเซอร์ หรือคลื่นความถี่วิทยุจากภายในเส้นเลือด

มีกลไกเจาะสายผ่านผิวหนังเข้าไปยังหลอดเลือดดำ เพื่อนำแสงเลเซอร์ หรือคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปภายในเส้นเลือดที่ขอดโดยตรง จากนั้นจะใช้ภาพจากเครื่องอัลตราซาวด์นำทางไปยังเส้นเลือดที่ขอด

เมื่อเข็มอยู่ในเส้นเลือดที่ต้องการรักษาแล้ว ค่อยปล่อยเลเซอร์ หรือคลื่นความถี่วิทยุซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยทำลายผนังหลอดเลือด วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ไม่สามารถรักษาด้วยการเลเซอร์ภายนอกผิวได้

วิธีนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดจากการรักษาน้อยกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่มีแผลเป็น มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกก็ค่อนข้างน้อย และปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญคือ สามารถเข้าถึงหลอดเลือดที่มีปัญหาได้อย่างแม่นยำและให้ผลการรักษาที่ดี แต่ต้องอาศัยทักษะของแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างมาก อีกทั้งเครื่องมือยังมีราคาสูงกว่าการรักษารูปแบบแรก

การเตรียมตัวก่อนการเข้ารับบริการเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด

ผู้ที่สนใจจะเข้ารับการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการเลเซอร์จำเป็นที่จะต้องเข้าพบแพทย์เหมือนการตรวจโรคทั่วไปก่อน เพื่อให้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยและตรวจอย่างละเอียดว่า สภาวะเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นเหมาะกับการรักษารูปแบบใด

แพทย์จะดูจากขนาดของเส้นเลือด ความคดเคี้ยว สีบริเวณเส้นเลือดขอด หรือพิจารณาอาการอื่นๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย

หลังจากแพทย์ได้ทำการประเมินรูปแบบการรักษาแล้ว หากเส้นเลือดของผู้ป่วยมีขนาดเล็ก หรือไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยการเลเซอร์ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวใดๆ ล่วงหน้า

แต่หากเส้นเลือดมีขนาดใหญ่กว่า 2 มิลลิเมตร หรือเส้นเลือดมีความคดเคี้ยวมาก หากต้องทำการรับการรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ หรือคลื่นความถี่วิทยุจากภายในเส้นเลือด

จำเป็นต้องประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนนัดมาทำ โดยอาจมีการงดน้ำและอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนทำ

ข้อควรปฏิบัติหลังการรับบริการเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด

เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เข้ารับการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีการเลเซอร์ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลหลังการรักษา ดังนี้

  • งดแช่น้ำอุ่นภายใน 24 ชั่วโมง
  • งดยกของหนัก ยืนนานๆ หรือการออกกำลังกายหนักๆ เป็นเวลา 3-7 วัน
  • ใส่ผ้ายืด หรือถุงน่องชนิดพิเศษในบริเวณที่ทำการรักษา เพื่อประคองกล้ามเนื้อและเส้นเลือดบริเวณนั้น ส่วนระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือด โดยเส้นเลือดเล็กฝอยให้ใส่ไว้ 1-3 วัน ส่วนเส้นเลือดขอดขนาดกลาง (ขนาดเท่าไส้ปากกา) ควรใส่อย่างน้อย 7 วัน ขึ้นไป หรือขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
  • ควรพบแพทย์ตามนัดภายใน 2-4 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลการรักษา เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการเลเซอร์เพียงครั้งเดียว แต่อาจมีในบางกรณีอาจจำเป็นต้องรักษา 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และสีของเส้นเลือดเป็นหลัก ผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกันไป ซึ่งจำนวนครั้งของการรักษาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

ค่าใช้จ่ายในการเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด

ปัจจุบันการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการเลเซอร์เป็นที่นิยมแพร่หลาย มีให้บริการในสถานพยาบาลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรคำนึงถึงการเลือกแพทย์ หรือสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 15,000-60,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล

นอกจากนี้หากผู้ป่วยเข้ารักษาตามสิทธิการการรักษา ไม่ว่าจะเป็น สิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม จะสามารถเบิกได้ตามข้อกำหนด

หลายคนอาจมองว่า เส้นเลือดขอดที่เรียวขาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะทำให้ขาดความมั่นใจ สร้างความกังวล ต้องเร่งดำเนินการรักษา แต่ก็อาจมีอีกหลายคนที่คิดว่า เส้นเลือดขอดไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่อันตราย และไม่จำเป็นต้องรับการรักษา

จริงอยู่ที่เส้นเลือดขอดมักไม่แสดงอาการ หรือไม่ได้สร้างความเจ็บปวด แต่ในบางกรณีการปล่อยปละละเลยเส้นเลือดขอด ก็อาจนำมาสู่อันตรายในอนาคตได้

ทางที่ดีควรสังเกตอาการ ดูแลรักษาในเบื้องต้นด้วยตนเอง หรือแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่งนานๆ และควบคุมน้ำหนักอยู่เสมอ

หากมีอาการบวม ปวดเมื่อยผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างทันท่วงที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top