นิ่วในไต

นิ่วในไตคืออะไร? รวมสัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณเป็นนิ่วในไต!

โรคนิ่วในไต สามารถเป็นได้ทั้งผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ในวัยหนุ่มสาว โดยเป็นนิ่วที่พบได้บ่อยกว่านิ่วในอวัยวะอื่นๆ บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับนิ่วในไตกันว่า เกิดขึ้นจากอะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง

นิ่วในไต คืออะไร

นิ่วในไต คือ การตกผลึกของสารก่อนิ่วในไตจนเกิดเป็นก้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลึกแคลเซียมออกซาเลต และบางครั้งอาจเป็นแคลเซียมฟอสเฟต ยูริก หรือสารอื่นๆ ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นิ่วมีหลากหลายชนิดและมีขนาดที่แตกต่างกันไป อาจเกิดขึ้นก้อนเดียว หรือหลายก้อน และแม้จะเกิดขึ้นในไต แต่ก้อนนิ่วก็มีโอกาสหลุดลงมาในท่อไตจนถึงบริเวณกระเพาะปัสสาวะได้

นิ่วในไตพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นนิ่วมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า และในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้บ่อยในทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งอาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ต่างกัน

สาเหตุการเกิดนิ่วในไต

โรคนิ่วในไตส่วนมากเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  1. การอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ทำให้ร่างกายสูญเสียเหงื่อได้ง่าย ประกอบกับพฤติกรรมดื่มน้ำน้อย จึงทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงขึ้น และเกิดเป็นตะกอนนิ่วได้
  2. การรับประทานอาหารบางอย่างเป็นประจำ เช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูง มีโปรตีนสูง หรือมีโซเดียมสูง ทั้งนี้การรับประทานอาหารจะถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงก็ต่อเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจึงสามารถรับประทานอาหารเหล่านี้ได้โดยที่อาจจะไม่มีผลต่อการเกิดโรค
  3. การมีภาวะยูริกในเลือดสูง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเกาต์ หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในช่วงการรับเคมีบำบัด และผู้ที่กำลังใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านการขับกรดยูริก เช่น ยากันชักเฟนิโทอิน (Phenytoin)

อาการของนิ่วในไต

นิ่วในไตอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง หรือเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยก็ได้ โดยนิ่วสามารถเคลื่อนที่ไปในท่อไตและทำให้เกิดอาการปวดตามมา

นอกจากนี้อาจรู้สึกถึงอาการปวดที่บริเวณหลัง สีข้าง และปวดร้าวไปถึงท้องน้อย หรือที่ขาหนีบเป็นพักๆ

ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่ ระคายเคืองเวลาปัสสาวะ หรือมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเม็ดทรายปนออกมากับปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน

สัญญาณอันตรายนิ่วในไต

หากคุณมีอาการผิดปกติต่อไปนี้ คุณควรไปพบแพทย์ เพราะอาจบ่งบอกได้ว่ากำลังมีอาการนิ่วในไต

  • ปวดท้องบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อยที่ข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
  • รู้สึกปวดบิดๆ เกร็งๆ เป็นพักๆ คล้ายกับอาการท้องเดิน หรืออาการปวดประจำเดือน
  • อาจรู้สึกปวดเป็นชั่วโมงๆ หรือปวดทั้งวันก็เป็นได้
  • อาจมีอาการปวดลามจากบั้นเอว ไปถึงบริเวณอัณฑะ หรือช่องคลอดข้างเดียวกัน
  • มีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ ไม่หายขาด หรือนานๆ ครั้งเป็นที ซึ่งหากก้อนนิ่วไม่หลุดออกมา ก็จะปวดอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ
  • มีอาการใจหวิว ใจสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน
  • หากมีก้อนนิ่วหลายก้อน หรือก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก อาจพบเห็นก้อนนิ่วเล็กๆ ปนออกมากับปัสสาวะ
  • เมื่อกดบริเวณที่ปวดจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือบางครั้งก็อาจรู้สึกสบายขึ้น
  • หากมีอาการหนัก จะปวดท้องพร้อมกับมีไข้สูง แม้จะรับประทานยาบรรเทาปวดแล้วก็ยังไม่หาย

หากเริ่มรู้สึกว่า มีอาการปวดท้องบ่อยๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือปวดมากจนทนไม่ไหว รับประทานยาบรรเทาปวดก็ไม่หาย ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นแสดงว่าก้อนนิ่วอาจมีขนาดใหญ่

เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ก้มีโอกาสไปอุดตันส่วนใดส่วนหนึ่งของอวัยวะภายในร่างกาย จนทำให้ทำงานบกพร่อง หรือเกิดการอักเสบขึ้นได้

นิ่วในไตรักษาได้หรือไม่?

นิ่วในไตเป็นโรคที่รักษาได้ โดยก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กจะรักษาได้ด้วยการดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับให้นิ่วออกมาทางปัสสาวะ แต่หากไม่สามารถขับนิ่วออกมาด้วยวิธีนี้ได้

แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาช่วยขับนิ่ว ซึ่งมีหลากหลายชนิดด้วยกัน เลือกใช้ตามลักษณะนิ่วของผู้ป่วย และในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่เกินไปอาจต้องผ่าตัดใส่เครื่องมือบางชนิดเพื่อเข้าไปกำจัดหรือสลายนิ่ว

ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่มีสัญญาณเตือน 9 ข้อข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของนิ่วในไตเข้าสู่ระยะรุนแรงหรือยากต่อการรักษา และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา

Scroll to Top