Ketoconazole (คีโตโคนาโซล) อยู่ในกลุ่มยาต้านเชื้อราอะโซล (Azole antifungals) ใช้รักษาการติดเชื้อราบางชนิดในร่างกาย
ยา Ketoconazole มีทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาทาผิวหนัง เช่น ครีมสำหรับรักษาโรคกลาก โรคเกลื้อน การติดเชื้อแคนดิดา (Candida albicans) ที่เยื่อบุผิว รวมทั้งยาแบบแชมพู ใช้รักษารังแค และโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง
สารบัญ
Ketoconazole ใช้รักษาโรคอะไร
- รักษาอาการติดเชื้อรา
- รักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- รักษาโรคเซ็บเดิร์ม หรือโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
กลไกการออกฤทธิ์ของ Ketoconazole
Ketoconazole ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP450 ของเชื้อรา ทำให้ลดการสร้างเออร์โกสเตอร์รอล (Ergosterol) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อรา ส่งผลให้การลำเลียงสารอาหารเข้าเซลล์ของเชื้อราน้อยลง จนเชื้อราขาดสารอาหารและหยุดการเจริญเติบโต
ปริมาณการใช้ยา Ketoconazole
รักษาอาการติดเชื้อรา
- รูปแบบยา: ยาในรูปแบบเม็ด สำหรับรับประทาน
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปี: ขนาด 3.3–6.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง รักษาเป็นเวลา 1–2 สัปดาห์ ในกรณีที่ติดเชื้อแคนดิดา (Candida albicans) หรืออย่างน้อยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากติดเชื้อโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา (Dermatophyte) และใช้เวลารักษาถึง 6 เดือนในกรณีติดเชื้อรา Mycoces
- ผู้ใหญ่: ขนาดยา 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง อาจเพิ่มได้ถึง 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง รับประทานต่อเนื่องจนกว่าจะหายดี หรือผลการเพาะเชื้อเป็นผลลบ
รักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor) จากการติดเชื้อที่ผิวหนัง
- รูปแบบยา: ยาในรูปแบบยาทาผิวหนัง และยาในรูปแบบแชมพู
- ผู้ใหญ่:
- ยาแบบครีม ความเข้มข้น 2% ทาวันละ 1–2 ครั้ง ตรงที่ติดเชื้อ และบริเวณรอบ ๆ จนกว่ารอยโรคจะหายไป
- ยาแบบแชมพู ความเข้มข้น 2% สระวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน แต่ในกรณีที่ใช้เป็นยาป้องกัน ให้ใช้สูงสุด 3 วันต่อสัปดาห์
รักษาโรคเซ็บเดิร์มหรือโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- รูปแบบยา: ยาในรูปแบบแชมพู
- ผู้ใหญ่: ความเข้มข้น 1–2% สระสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ใช้เป็นยาป้องกัน ให้ใช้เพียง 1–2 สัปดาห์ต่อครั้ง
ข้อควรระวังในการใช้ยา Ketoconazole
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและต้องดื่มเครื่องดื่มที่เป็นกรด รวมถึงผู้ป่วยที่กระเพาะอาหารไม่หลั่งกรด หรือหลั่งกรดน้อยกว่าปกติ
- ระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร
ผลข้างเคียงจากยา Ketoconazole
Ketoconazole อาจทำให้การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ จนรบกวนระบบทางเดินอาหาร และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ระคายเคือง แสบร้อนผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดง ผื่นคัน ผื่นลมพิษ หรืออาการบวม
- อาการแพ้ยาแบบรุนแรง (Anaphylaxis) เช่น ปวดศีรษะ มึนงง ง่วงนอน เป็นไข้ เกล็ดเลือดต่ำ
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- เต้านมโตในเพศชาย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- ความดันในกะโหลกเพิ่มขึ้น
- ไวต่อแสง
- ค่าการทำงานของตับเพิ่มขึ้น
- อาการที่ไม่พึงประสงค์รุนแรง ได้แก่ การเกิดพิษต่อตับ
ถ้าลืมกินยา Ketoconazole ต้องทำอย่างไร
ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)
กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
การใช้ยา Ketoconazole กับยาอื่น
ห้ามใช้ยา Ketoconazole กับยาที่เป็นสารตั้งต้นของเอนไซม์ CYP3A4 เช่น
- ยากลุ่ม เอช เอ็ม จี–โคเอ รีดักเทส อินฮิบิเตอร์ (HMG–CoA reductase inhibitor) เช่น ซิมวาสแตติน (Simvastatin) โลวาสแตติน (Lovastatin) อะโทวาสแตติน (Atorvastatin)
- ยากลุ่มเออกอท อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids) เช่น เออโกทามีน (Ergotamine) และไดไฮโดรเออโกทามีน (Dihydroergotamine)
- ไตรอะโซแลม (Triazolam)
- มิดาโซแลม (Midazolam)
- ซิสซาไพรด์ (Cisapride)
- โดเฟทิไลด์ (Dofetilide)
- อีพลีริโนน (Eplerenone)
- นิโซลดิพีน (Nisoldipine)
- พิโมไซด์ (Pimozide)
- ควินิดีน (Quinidine)
- เทอเฟนาดีน (Terfenadine)
- แอสทิมาโซล (Astemizole)