jammed finger 1 scaled

นิ้วซ้น (Jammed finger)

นิ้วมือเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้คนเราใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น มีข้อต่อเล็ก ๆ มากมาย ที่มีการเคลื่อนไหวมาก ถ้าเกิดความผิดปกติขึ้นกับนิ้วมือ เช่น “นิ้วซ้น” ก็อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันได้ บทความนี้จะพามารู้จักกับอาการนิ้วซ้น สาเหตุ วิธีดูแลเบื้องต้น การเลือกใช้ยาให้ได้ผลและปลอดภัย 

นิ้วซ้น คืออะไร

นิ้วซ้น (Jammed finger) ใช้เรียกความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้อนิ้ว อาจมีอาการปวด บวม เป็นสีเขียวคล้ำ งอข้อนิ้วได้ไม่สุด เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีหลาย ๆ อาการร่วมกัน  

นิ้วซ้นเกิดขึ้นได้กับนิ้วมือทุกนิ้ว ทุกข้อต่อ ตั้งแต่ข้อต่อระหว่างกระดูกนิ้วมือและกระดูกฝ่ามือ (Metacarpophalangeal joint) ข้อต่อกระดูกนิ้วมือส่วนต้น (Proximal interphalangeal joint) และข้อต่อกระดูกนิ้วมือส่วนปลาย (Distal interphalangeal joint)

สาเหตุของนิ้วซ้น

กลไกหลัก ๆ ทำให้เกิดนิ้วซ้นมาจากการมีแรงอัดรุนแรงต่อข้อนิ้วขณะที่กางและเหยียดนิ้วมือออก โดยสาเหตุอาจมาจากการออกแรงทำกิจกรรมอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การหกล้มแล้วเอามือยันพื้น แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการโยน–รับบอลเร็ว ๆ เช่น บาสเกตบอส เบสบอล

ถ้าอธิบายทางการแพทย์ นิ้วซ้นอาจเกิดจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ 

  • การบาดเจ็บเล็กน้อยของข้อนิ้วมือ (Finger injury) 
  • การฟกช้ำ (Contusion) 
  • ข้อต่อนิ้วเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งปกติ (Finger dislocation) 
  • เอ็นยึดกระดูกบริเวณนิ้วบาดเจ็บ (Finger tendon sprain) หรือฉีกขาด (Finger tendon rupture) 

อาการของนิ้วซ้น

นิ้วซ้น เป็นคำเรียกที่รวมความผิดปกติของนิ้วไว้หลายอาการ เช่น 

  1. ปวดข้อนิ้ว
  2. เลือดไหลเวียนผิดปกติ สังเกตได้จากการที่นิ้วมีสีซีดลง หรือเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ มาจากการบาดเจ็บของหลอดเลือดในบริเวณนั้น ๆ
  3. บวม เกิดจากการเสียหายของหลอดเลือด มีเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ หรือเกิดการอักเสบขึ้นมาตรงบริเวณนั้น
  4. ถ้ามีข้อนิ้วเคลื่อนที่ (Dislocation) ร่วมด้วย ก็จะพบอาการเหล่านี้ เช่น ข้อนิ้วมีรูปร่างผิดปกติ ข้อนิ้วไม่อยู่ในตำแหน่งเดิม ขยับข้อนิ้วไม่ได้ มีอาการปวดมาก อาจมีอาการชา หรือบางคนไม่มีอาการปวดเลยก็มี
  5. คนที่ปลายนิ้วถูกกระแทกรุนแรง อาจทำให้เอ็นยึดกระดูก (Ligament) บาดเจ็บหรือฉีกขาดได้ แต่ถ้าเอ็นยึดกระดูกฉีดขาดแบบสมบูรณ์ จะทำให้เหยียดนิ้วนั้นไม่ได้เลย และอยู่ในท่าค้างตลอดเวลา (Mallet finger) ร่วมกับมีอาการปวดและช้ำรุนแรง
  6. คนที่ข้อนิ้วโดนอัดอย่างรุนแรง อาจทำให้กระดูกร้าวหรือแตกได้ จะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่าย ถ้ากระดูกแตกออกจากกัน จะทำให้มีอาการปวดมาก บางรายอาจเห็นกระดูกที่แตกดันผิวหนังจนเป็นรอยนูนออกมา หรือทะลุผิวหนังออกมาได้ 

ข้อ 1–3 เป็นอาการที่ปฐมพยาบาลได้ด้วยตนเอง ปกติแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายดีภายใน 2–4 อาทิตย์ 

สำหรับอาการในข้อ 4–6 เป็นอาการที่รักษาเองไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม 

นิ้วซ้น ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร 

สิ่งหนึ่งที่ควรทำทันทีคือการถอดเครื่องประดับออกให้หมด ก่อนที่จะบวมจนถอดไม่ออก และยิ่งทำให้การไหลเวียนเลือดในบริเวณที่นิ้วซ้นยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการนิ้วซ้น อาศัยหลักการปฐมพยาบาลเดียวกันกับคนที่บาดเจ็บเฉียบพลันแบบอื่น ๆ 

โดยวิธีที่นิยมมากในวงการกายภาพบำบัด จะใช้หลักการ POLICE ดังนี้ 

  • P – Protection (พักการใช้งาน) คือ หยุดใช้งานส่วนที่บาดเจ็บทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บเพิ่มขึ้น
    อาจพยุงด้วยการพันผ้ายืด ติดเทป หรือใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงต่าง ๆ รวมถึงใช้เครื่องช่วยเดินต่าง ๆ เช่น ไม้ค้ำรักแร้ ไม้เท้า 
  • O L – Optimum Loading (ขยับเท่าที่ทำได้) ถ้าข้อเท้าพลิก ควรขยับข้อเท้าเท่าที่ทำได้ เดินลงน้ำหนักเท่าที่ไหว โดยระวังไม่ให้ปวดมากขึ้น
  • I – Ice (ประคบเย็น) เพื่อลดกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ
  • C – Compression (ใช้แรงกดเบา ๆ ขณะประคบเย็น) ขณะประคบน้ำแข็งอาจใช้ผ้ายืดรัดแน่นที่ส่วนปลายเท้า และค่อย ๆ ผ่อนแรงตึงของผ้าลงเรื่อย ๆ เมื่อเข้าใกล้ส่วนลำตัว พันทิ้งไว้ประมาณ 15–20 นาที ก่อนจะแกะออก และทำซ้ำใหม่ทุก  ๆ 2 ชั่วโมง
    หรือจะใช้เทปที่ผลิตเพื่อการนี้โดยเฉพาะก็ได้ ซึ่งจะทำให้เย็นและไม่เฉอะแฉะด้วย
  • E – Elevation (ยกข้อเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ) ทำได้โดยการนอนหงาย ใช้หมอนรอง ให้ข้อเท้าข้างที่มีอาการอยู่สูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อย
    การทำแบบนี้จะเพิ่มการไหลเวียนเลือดจากปลายเท้ากลับสู่หัวใจ ช่วยลดอาการบวมได้ ทั้งนี้ อาจลองกระดกข้อเท้าเบา ๆ ร่วมด้วย จะช่วยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ถึงอย่างนั้น ข้อนิ้วก็เป็นข้อต่อขนาดเล็ก จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีปฐมพยาบาลตามความเหมาะสม ได้แก่

พักการใช้งาน (Protection)
กรณีที่นิ้วซ้น นอกจากหยุดเล่นกีฬา เพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บเพิ่มแล้ว ยังต้องพันผ้ายืด หรือใส่อุปกรณ์จำกัดการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้วย

การหยุดพักและใช้อุปกรณ์ จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของนิ้วได้ วิธีหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากในขณะนี้ ได้แก่ การพันบริเวณนิ้วซ้นด้วยเทป เช่น Rigid tape หรือ Kinesio tape

การประคบเย็น
การประคบด้วยน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นอาจทำได้ยาก เนื่องจากข้อนิ้วมีขนาดเล็ก 

นักกายภาพบำบัดทางด้านกีฬามักแนะนำให้จุ่มมือข้างที่บาดเจ็บลงไปในอ่างแช่น้ำแข็ง เพื่อลดอาการอักเสบและบวม แต่ควรระวังไม่ให้แช่นานเกินไป เพราะอาจถูกทำลายจากความเย็นจัด

เทคนิคการปฐมพยาบาลไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังมีการดูแลแบบอื่น ๆ อีก ตามลักษณะและความรุนแรงของอาการในแต่ละคน 

ผู้ที่มีอาการนิ้วซ้นรุนแรง หลังจากปฐมพยาบาลด้วยตัวเองแล้ว ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพราะอาจมีการวินิจฉัยด้วยวิธีพิเศษต่าง ๆ เช่น การทำเอ็มอาร์ไอ การถ่ายภาพเอกซเรย์ 

หรือบางคนอาจต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง เช่น ถ้าข้อต่อเคลื่อน ก็ต้องจัดข้อต่อให้เข้าที่และใส่เฝือก หรือใครที่เอ็นบาดเจ็บรุนแรง ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด  

ควรใช้ยาอะไรรักษาอาการนิ้วซ้น

อาการนิ้วซ้นไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา แค่ปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องทันทีที่บาดเจ็บ และทำกายภาพบำบัดก็เพียงพอแล้ว 

แต่ถ้าเป็นอาการรุนแรง เช่น บวม หรือฟกช้ำมาก อาจเลือกใช้ยาที่มีส่วนผสมของเอสซิน (Aescin) หรือไดเอทิลามีน ซาลิไซเลต (Diethylamine salicylate) ช่วยบรรเทาร่วมด้วยได้ 


เขียนโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด

Scroll to Top