มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในหญิงไทย การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV จึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน แต่เราควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิดไหนดี ชนิด 2, 4 หรือ 9 สายพันธุ์?
มาเรียนรู้ ความเหมือน ความต่าง และคำแนะนำก่อนตัดสินใจไปฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในบทความนี้กัน!
สารบัญ
เชื้อไวรัส HPV คืออะไร ทำไมต้องป้องกัน
เชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) เป็นกลุ่มไวรัสก่อโรคในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ทวารหนัก รวมถึงช่องปากและลำคอ มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสเชื้อโดยตรง และยังอยู่ในร่างกายได้นาน 5–10 ปี จนอาจก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งขึ้นได้
ไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ จะก่อโรคต่างกันไป มีทั้งสายพันธุ์ก่อมะเร็งและไม่ก่อมะเร็ง โดยสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง อย่าง 16 และ 18 สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ อย่าง 6 และ 11 สามารถทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศได้
เชื้อ HPV ถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง แต่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือ ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือที่หลายคนเรียกกันว่า วัคซีน HPV ตามต้นเหตุโรคนั่นเอง
วัคซีนมะเร็งปากมดลูก มีให้เลือกกี่ชนิด
ต้องเกริ่นก่อนว่า วัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อต้นเหตุ ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์หลักที่ก่อมะเร็งและหูดที่อวัยวะเพศได้สูงถึง 70–90% แล้วแต่ชนิดของวัคซีน และมีประสิทธิภาพในการปกป้องโรคยาวนานนับ 10 ปี
ปัจจุบันวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ ยิ่งมากสายพันธุ์ก็จะยิ่งครอบคลุมสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์รองที่ก่อมะเร็งมากขึ้น ดังนี้
ชนิด 2 สายพันธุ์
ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งช่องคลอด
ชนิด 4 สายพันธุ์
ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงความสูงอย่าง 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก ร่วมกับสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำอย่าง 6 และ 11 ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่
นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันภาวะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด Dysplasia ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ในข้างต้น คือ 6, 11, 16 และ 18 ในกรณีที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อน
ชนิด 9 สายพันธุ์
ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ทั้งหลักและรอง ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มะเร็งทางศีรษะเเละลำคอ
ร่วมกับสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำอย่าง 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันภาวะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด Dysplasia ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ในข้างต้น คือ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 ในกรณีที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อน
คำแนะนำก่อนไปฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก
ทุกเพศสามารถฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่อายุ 9–45 ปี แนะนำให้ฉีดตอนอายุยังน้อยหรืออยู่ในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงสุดตอนร่างกายไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน
ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขของไทยจะเน้นฉีดวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นเด็กอายุ 11–12 ปี หรือวัยประถมชั้นปีที่ 5
สำหรับกำหนดการฉีดและจำนวนเข็มของวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั้น จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ดังนี้
- อายุ 9–14 ปี ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เข็มแรกในเดือนที่ 0 และเข็มถัดไป ฉีดหลังจากเข็มแรก 6–12 เดือน
- อายุ 15 ปีขึ้นไป ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เข็มแรกในเดือนที่ 0 เข็มถัดไป ฉีดหลังจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มสุดท้าย ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
- คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงช่วงอายุ เข็มแรกในเดือนที่ 0 ฉีดหลังจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มสุดท้าย ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
คนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนควรฉีดให้ครบตามกำหนดใน 1 ปี หากฉีดไม่ครบอาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง หรือต้องไปเริ่มฉีดเข็มแรกใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเวลาโดยใช่เหตุ
หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือมีคู่นอนคนเดียว แต่ประสงค์ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความจำเป็นก่อนเสมอ
กรณีหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ตั้งแต่เข็มแรก หรือแพ้ยีสต์ที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีน ไม่ควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก เพราะอาจเป็นอันตรายได้
เลือกฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกชนิดไหนดี
ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนมะเร็งปากมดลูกชนิดไหน 2, 4 หรือ 9 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ดีเหมือนกัน แต่จะครอบคลุมสายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง
โดยวัคซีน HPV ชนิด 4 หรือ 9 สายพันธุ์จะช่วยป้องกันโรคได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ได้รับเชื้อ HPV บางสายพันธุ์มาแล้ว และยังช่วยป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยติดมาก่อนหรือการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์เดิมได้ด้วย ตามรายละเอียดด้านล่าง
ชนิดของวัคซีน HPV | 2 สายพันธุ์ | 4 สายพันธุ์ | 9 สายพันธุ์ |
ครอบคลุมสายพันธุ์ | 16 และ 18 | 6, 11, 16 และ 18 | 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 |
ช่วงอายุที่ควรฉีด | ผู้หญิง อายุ 9–25 ปี | ผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 9–25 ปี | ผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 9–45 ปี |
การป้องกันโรค |
|
ผู้หญิง
ผู้ชาย
|
ผู้หญิง
ผู้ชาย
|
กำหนดฉีด | อายุ 9–14 ปี (2 เข็ม)
|
||
อายุ 15–25 ปี (3 เข็ม)
|
อายุ 15–26 ปี (3 เข็ม)
|
อายุ 15–45 ปี (3 เข็ม)
|
|
กรณีลืมฉีด | ลืมเข็มที่ 2
ฉีดไม่เกินเดือนที่ 7 หลังเข็มแรก (เพื่อครบ 3 เข็มใน 1 ปี) ลืมเข็มที่ 3 ฉีดไม่เกินเดือนที่ 12 หลังเข็มแรก และห่างเข็มที่ 2 เป็นเวลา 5 เดือน |
ลืมเข็มที่ 2
ฉีดไม่เกินเดือนที่ 8 หลังเข็มแรก (เพื่อครบ 3 เข็มใน 1 ปี) ลืมเข็มที่ 3 ฉีดไม่เกินเดือนที่ 12 หลังเข็มแรก และห่างเข็มที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน |
ผลข้างเคียงจากวัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
ปกติแล้วการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั้นปลอดภัย และมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่บางคนอาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่กี่วันก็หายดี เช่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดยา ปวดศีรษะ ตัวร้อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้อ่อนเพลีย หรือรู้สึกไม่สบาย
บางกรณีผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างอาการแพ้รุนแรง (Severe Allergic Reaction) อาจเกิดขึ้นได้ แต่มักพบได้น้อยมาก
นอกจากวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยแล้วต้องไม่ลืม เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอหรือตามแพทย์แนะนำ ไม่ว่าจะวิธีตรวจภายใน การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี แปปสเมียร์ (Pap smear) หรือตินเพร็พ (Thin Prep) ซึ่งจะช่วยให้ตรวจเจอสัญญาณโรคได้เร็วและวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที
อยากฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแต่ไม่รู้จะไปที่ไหน? ไม่ต้องคิดมาก แอดมินพร้อมช่วยดูแลนัดหมาย ฉีดวัคซีนทั้งชนิด 2-4-9 สายพันธุ์ จากโรงพยาบาลใกล้บ้าน ครบที่นี่ จองกับ HDmall.co.th ได้รับส่วนลดเพิ่มทุกครั้งด้วยนะ ทักเลย