สาว ๆ หลายคนอาจได้ยินมาว่า ต้องฉีดวัคซีน HPV นะ แต่อายุเท่านี้แล้วจะยังฉีดได้อยู่หรือเปล่า ฉีดได้ตั้งแต่อายุเท่าไร ช่วยได้จริงหรือเปล่า
บทความนี้จะมาเล่าเรื่องวัคซีน HPV ว่าป้องกันโรคอะไรได้บ้าง ใครควรฉีด–ไม่ควรฉีด มีกี่สายพันธุ์ แบบ 9 สายพันธุ์ต่างกับแบบอื่นอย่างไร เคยฉีดแล้วตอนเป็นเด็ก ต้องฉีดเพิ่มอีกหรือไม่
สารบัญ
- วัคซีน HPV คืออะไร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง
- วัคซีน HPV มีกี่ชนิด แบบไหนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ แตกต่างจากวัคซีนชนิดอื่นอย่างไร
- ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน HPV
- ใครบ้างที่ไม่ควรฉีดวัคซีน HPV
- วัคซีน HPV ฉีดอย่างไร ช่วงวัยเท่าไรฉีดกี่เข็ม
- ฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็ก ๆ จะอยู่นานไหม ลูกเคยฉีดตอนเด็กแล้ว ต้องฉีดเพิ่มอีกหรือเปล่า
- วัคซีน HPV ป้องกันโรคได้นานกี่ปี
- วัคซีน HPV มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
วัคซีน HPV คืออะไร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง
วัคซีน HPV คือวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสแปปิโลมา (Human papillomavirus: HPV) หรือเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิวตามอวัยวะเพศและทวารหนัก โดยสามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก
วัคซีน HPV จะลดโอกาสการติดเชื้อ HPV ที่โดยทั่วไปแล้วมักไม่ก่อโรคอันตราย ยกเว้นในบางสายพันธุ์ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ ได้ เช่น
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งปากช่องคลอด
- มะเร็งช่องคลอด
- มะเร็งช่องปากและลำคอ
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งองคชาต
- หูดบริเวณอวัยวะเพศชาย หรือหูดหงอนไก่
ไวรัส HPV มีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด คือสายพันธุ์ 16 และ 18
จุดนี้นี่เองทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่ามีแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่ติดเชื้อ HPV ได้ แต่อันที่จริงแล้ว เชื้อไวรัสนี้สามารถก่อโรคได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายเลยทีเดียว
วัคซีน HPV มีกี่ชนิด แบบไหนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV อยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 และเพิ่มสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่
- วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 ซึ่งเพิ่มสายพันธุ์ก่อมะเร็งชนิดอื่น
ผู้หญิงสามารถเลือกฉีดแบบใดก็ได้ หากเป็นแบบ 9 สายพันธุ์ ก็จะช่วยป้องกันได้ครอบคลุม ทั้งมะเร็งปากมดลูกและโรคอื่น ๆ ส่วนผู้ชายควรฉีดแบบ 4 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันมะเร็งทวารหนักและหูดหงอนไก่
วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ แตกต่างจากวัคซีนชนิดอื่นอย่างไร
วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ครอบคลุมมากกว่า 2 แบบแรก ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า 90% อีกทั้งยังป้องกันโรคและมะเร็งอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น
- มะเร็งปากช่องคลอด และช่องคลอด (Vulvar and vaginal cancers)
- มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
- หูดที่อวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่
- ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ปากช่องคลอด ช่องคลอด และทวารหนัก (ระยะเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ)
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน HPV
- เด็กผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9 ปีเป็นต้นไป โดยเน้นช่วงอายุ 11–12 ปี ถ้าฉีดในช่วงอายุนี้ไม่ทัน แนะนำให้ฉีดภายในช่วง 26 ปี หรือขยายได้จนถึง 45 ปี
- คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ผู้หญิงที่เคยมีผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ผลการตรวจหาเชื้อ HPV ผิดปกติ พบรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งที่ปากมดลูก หรือเคยเป็นหูดหงอนไก่
เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ และให้วัคซีน HPV ทำงานได้ดีที่สุด แนะนำว่า ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ตามช่วงอายุในข้างต้น หากได้รับเชื้อแล้ว วัคซีนจะป้องกันโรคไม่ได้
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนหลังอายุ 26 ปีเป็นต้นไป ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคจะลดลง หรือได้ผลไม่ดีเท่าในช่วงอายุเด็กและวัยรุ่น สามารถปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีน
อย่ารอช้าจนอายุเกิน ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งกันเถอะ! คลิกดู แพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV
ใครบ้างที่ไม่ควรฉีดวัคซีน HPV
ทุก ๆ คนสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ ยกเว้นผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ต่อวัคซีนเข็มก่อนหน้า
สำหรับผู้มีครรภ์ยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีด กรณีที่ฉีดแล้วเพิ่งทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ ให้ฉีดต่อไปจนครบจำนวนเข็ม เพราะยังไม่พบรายงานใด ๆ ที่ชี้ว่าวัคซีนนี้เป็นอันตราย ส่วนผู้ที่กำลังให้นมบุตรนั้นฉีดวัคซีน HPV ได้ตามปกติ
วัคซีน HPV ฉีดอย่างไร ช่วงวัยเท่าไรฉีดกี่เข็ม
วัคซีน HPV จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน โดยเกณฑ์การให้วัคซีนจะขึ้นอยู่กับอายุ และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- อายุ 9–14 ปี ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 6 เดือน
- อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรได้รับวัคซีน 3 เข็ม โดยเข็มแรกห่างจากเข็มที่สอง 1–2 เดือน และเข็มสุดท้ายห่างจากเข็มแรก 6 เดือน
ฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็ก ๆ จะอยู่นานไหม ลูกเคยฉีดตอนเด็กแล้ว ต้องฉีดเพิ่มอีกหรือเปล่า
หากลูกเคยฉีดวัคซีนแล้ว (เป็นไปได้ควรฉีดตั้งแต่อายุ 9 ปี) วัคซีน HPV จะอยู่ได้นานกว่า 10 ปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องฉีดเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะป้องกันได้ยาวนานแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูกเลย จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอทุก ๆ 1–2 ปี
วัคซีน HPV ป้องกันโรคได้นานกี่ปี
วัคซีน HPV ป้องกันโรคได้ยาวนานกว่า 10 ปี หรือมากกว่านั้น และยังไม่พบงานวิจัยใด ๆ ในปัจจุบันที่ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง
วัคซีน HPV มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน HPV มักไม่รุนแรงและไม่เป็นนานนัก โดยอาจเกิดอาการเหล่านี้ได้ เช่น บวมหรือปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีไข้สูง อ่อนเพลีย
อยากเช็ก แต่ไม่รู้จะไปที่ไหน HDmall.co.th รวม แพ็กเกจตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง ทุกวัย เลือกตรวจใกล้บ้าน รับรองราคาจับต้องได้!