มะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคอันตรายสำหรับผู้หญิงอย่างมาก ตามสถิติในประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของมะเร็งผู้หญิงที่พบได้บ่อย และคร่าชีวิตหญิงไทยหลักพันคนต่อปี
แต่มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคร้ายที่ป้องกันได้ หากเราหมั่นดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี และใส่ใจความเปลี่ยนแปลงของตัวเองอยู่เสมอ ไปดูกันดีกว่าว่าวิธีใดบ้างที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้
สารบัญ
มะเร็งปากมดลูก รู้ก่อนป้องกันได้
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์เยื่อบุปากมดลูก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสเชื้อโดยตรง
เชื้อ HPV จะไปกระตุ้นให้เซลล์ปกติบริเวณปากมดลูกเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด โดยอาจกินเวลานาน 10–15 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก
ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการจนกว่ามะเร็งจะแพร่กระจายไปอวัยวะใกล้เคียง แต่อาจมีของเหลว ตกขาว หรือเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงความรุนแรงที่ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และการปรับพฤติกรรมตนเองจึงจำเป็นอย่างมาก เพราะจะลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก และช่วยให้พบสัญญาณมะเร็งในระยะแรกได้ไว เข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกมีความเกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ หลัก ๆ คือ การติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยไม่มีการป้องกัน หรือมีคู่นอนหลายคน ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคู่นอน
รวมถึงอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยต่อไปนี้
- มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- มีประวัติเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม เอดส์ หรือหนองใน
- มีประวัติเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
- มีบุตรตอนอายุยังน้อย หรือมีบุตรหลายคน
- รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานเกิน 5 ปี
- สูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
4 วิธีลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง
โดยทั่วไป การลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกทำได้ด้วย 3 วิธีหลัก ได้แก่ ปรับพฤติกรรมเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV และตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ
1. เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงการติดเชื้อ HPV
อันที่จริงการไม่มีเพศสัมพันธ์เลยก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายได้กว่า 99% ในความเป็นจริงถือเป็นเรื่องยาก เราจึงควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ มีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมถึงปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HPV โดยการปรึกษาแพทย์ เพื่อคุมกำเนิดและการมีบุตรอย่างเหมาะสม ไม่สูบบุหรี่ หรือเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
2. ไม่สูบบุหรี่
บุหรี่และยาสูบล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา และยังเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่ควรเลี่ยง เพราะสารพิษที่อยู่ในบุหรี่จะทำให้ดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์บริเวณปากมดลูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
และยังพบอีกว่าคนที่สูบบุหรี่หรือแม้แต่การนอนข้างคนที่สูบบุหรี่จัด ก็เพิ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกกว่าคนที่ไม่สูบมากกว่า 2 เท่า ฉะนั้น การไม่สูบบุหรี่และเลี่ยงการสูดดมเอาควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง) ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้
3. เสริมภูมิคุ้มกันร่างกายด้วยวัคซีน HPV
การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูก รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง และหูดที่อวัยวะเพศด้วย
ปัจจุบันจะมีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ ยิ่งมีจำนวนสายพันธุ์มากก็จะยิ่งครอบคลุมเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูกทั้งหลักและรอง
- ชนิด 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูก 16 และ 18
- ชนิด 4 สายพันธุ์ สายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูก 16 และ 18 ร่วมกับสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ
- ชนิด 9 สายพันธุ์ ป้องกันสายพันธุ์ก่อมะเร็งปากมดลูก 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 ร่วมกับสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ
เด็กอายุ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี เป็นช่วงวัยที่สามารถฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกได้ แต่แนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุยังน้อยหรือก่อนมีเพศสัมพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงอายุ 11–12 ปี เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด
อยากฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแต่ไม่รู้จะไปที่ไหน? ไม่ต้องคิดมาก แอดมินพร้อมช่วยดูแลนัดหมาย ฉีดวัคซีนทั้งชนิด 2-4-9 สายพันธุ์ จากโรงพยาบาลใกล้บ้าน ครบที่นี่ จองกับ HDmall.co.th ได้รับส่วนลดเพิ่มทุกครั้งด้วยนะ ทักเลย
4. หมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกไม่อาจป้องกันโรคได้ 100% จึงควรเข้ารับการตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองตอนอายุ 25 ปีขึ้นไป กรณีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วหรือมีความเสี่ยงสูง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่นิยมใช้มีดังนี้
การตรวจภายใน (Pelvic Exam)
ช่วยหาความผิดปกติในระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงอย่างช่องคลอด ปากช่องคลอด ปากมดลูก ปีกมดลูก หรือรังไข่ โดยค้นหาทั้งสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกและโรคอื่น ๆ ด้วย
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear, Pap test)
วิธีพื้นฐานในการหาเซลล์ที่ผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูกด้วยไม้พายและส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ แต่ผลที่ได้อาจไม่แม่นยำเท่าวิธีอื่น ๆ
การตรวจตินเพร็พ (Thin Prep)
เป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีความแม่นยำสูงกว่าและรู้ผลไวกว่าแปปสเมียร์ โดยแพทย์จะใช้แปรงขนาดเล็กเก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูกแล้วนำไปแช่ในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ ก่อนส่งตรวจต่อไป
การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA test)
เก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูกด้วยเครื่องมือเฉพาะแล้วนำใส่ขวดน้ำยาเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้รู้ผลไวและแม่นยำที่สุด ช่วยบ่งชี้การติดเชื้อ HPV ในร่างกายและระบุได้ว่าใช่สายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป ตรวจภายในทุกปี ตรวจแปปสเมียร์และตินเพร็พทุก 2–3 ปี และตรวจหาเชื้อเอชพีวีทุก 3–5 ปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามะเร็งปากมดลูกนั้นอันตราย เพราะมักไม่ก่อให้เกิดอาการ ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่รู้ตัวจนอาการรุนแรงขึ้นแล้ว แต่หากเราหมั่นดูแลตัวเอง เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง รับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต
เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว ก็อย่าลืมเตรียมตัวหาแพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV ที่นี่ และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรงนี้ ด้วยนะ จะได้ลดความเสี่ยงแบบ X3 ไปเลย จองกับ HDmall.co.th ได้โปรราคาดี แถมมีส่วนลดเพิ่มไปอีกกก