เพราะสารเสพติดคือสิ่งอันตรายที่มาพร้อมกับฤทธิ์หลอนประสาท และยังก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นวงกว้าง ทั่วโลกจึงหันมาเข้มงวดกับการตรวจสารเสพติดมากขึ้น
การรู้จักวิธีและอุปกรณ์ในการตรวจสารเสพติดจึงเป็นอีกหนึ่งความรู้ดี ๆ ที่เราควรรู้จักไว้ มาอ่านกันได้ในบทความนี้เลย
สารบัญ
ชุดตรวจหาสารเสพติด คืออะไร
ชุดตรวจหาสารเสพติด หรือชุดตรวจหายาเสพติด คือเครื่องมือตรวจสารเมแทบอไลต์ (Metabolite) ของยาเสพติด ส่วนมากจะตรวจจากปัสสาวะ เพราะเก็บตัวอย่างได้ง่าย ไว ไม่ยุ่งยาก มีความคงตัวสูง ทำให้ระยะเวลาที่ตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะค่อนข้างนานหลายวัน
ชุดตรวจหาสารเสพติด ตรวจอะไรได้บ้าง
ชุดตรวจหาสารเสพติด ใช้ตรวจสารเสพติดชนิดต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- แอมเฟตามีน หรือยาบ้า หากเสพเป็นประจำ จะตรวจเจอภายใน 2–6 วันหลังเสพ
- เมทแอมเฟตามีน หรือยาไอซ์ หากเสพเป็นประจำ จะตรวจเจอภายใน 2–6 วันหลังเสพ
- ยาอี หากเสพเป็นประจำ จะตรวจเจอภายใน 2–6 วันหลังเสพ
- กัญชา หหากเสพเป็นประจำ จะตรวจเจอภายใน 4–14 วันหลังเสพ
- มอร์ฟีน หากเสพเป็นประจำ จะตรวจเจอภายใน 2–6 วันหลังเสพ
- โคเคน หากเสพเป็นประจำ จะตรวจเจอภายใน 1–4 วันหลังเสพ
ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สารเสพติดจะอยู่ในปัสสาวะอาจแตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ที่เสพติดเรื้อรัง อาจตรวจพบได้นานถึง 2–3 สัปดาห์
ชุดตรวจหาสารเสพติด มีกี่รูปแบบ
ชุดตรวจหาสารเสพติดที่ใช้กันทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ แบบแถบ และ แบบตลับ
1. แบบแถบ (Strip)
ชุดตรวจหาสารเสพติดแบบแถบ ประกอบไปด้วยแถบทดสอบแผ่นยาวและแผ่นแคบ
วิธีทดสอบ คือ ใส่ปัสสาวะลงในภาชนะแห้งสะอาด และจุ่มแถบทดสอบลงไปในปัสสาวะ โดยให้ปลายลูกศรชี้ลง ระวังไม่ให้ปัสสาวะสูงเลยขีดที่กำหนดไว้บนแถบ จากนั้นวางแถบทดสอบในแนวราบ รอ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผล
ข้อดีของชุดตรวจแบบแถบ
- ราคาถูก (ประมาณ 30–70 บาทต่อชิ้น)
- สามารถตรวจหาแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนในปริมาณตั้งแต่ 1,000 นาโนกรัม/มิลลิลิตรได้
ข้อเสียของชุดตรวจแบบแถบ
ชุดตรวจหาสารเสพติดแบบแถบอาจเสียหายได้ง่ายจากการเก็บรักษาไม่ดี เช่น โดนความชื้น สัมผัสกับสารเคมี หรือหักงอ ส่งผลให้เสื่อมประสิทธิภาพได้ หรือทำให้แถบสีไม่ชัดเจน
2. แบบตลับ (Cassette)
ชุดตรวจหาสารเสพติดแบบตลับ หรือที่เรียกว่า แบบหยอด ประกอบด้วยตลับทดสอบ และหลอดหยดที่แถมมาในซอง
วิธีทดสอบ คือ ใส่ปัสสาวะลงในภาชนะแห้งสะอาด วางตลับทดสอบไว้บนพื้นในแนวราบ และใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะขึ้นมา แล้วหยดปัสสาวะลงในหลุมที่อยู่บนตลับทดสอบ 3 หยด วางตลับทดสอบไว้ในแนวราบ รอ 5 นาที จึงอ่านผล
ข้อดีของชุดตรวจแบบตลับ
- เสียหายหรือเสื่อมสภาพได้ยากกว่าแบบจุ่ม
- ไม่ต้องคอยระวังไม่ให้ระดับปัสสาวะสูงกว่าขีดที่กำหนด
- สามารถตรวจหาแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนในปริมาณตั้งแต่ 1,000 นาโนกรัม/มิลลิลิตรได้
ข้อเสียของชุดตรวจแบบตลับ
- ราคาสูงกว่าแบบจุ่ม (ประมาณ 100–120 บาทต่อชิ้น)
- ต้องระวังไม่ให้หยดปัสสาวะน้อยเกินไป เพราะอาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้
ชุดตรวจหาสารเสพติด อ่านผลอย่างไร
การอ่านผลจากชุดตรวจหาสารเสพติดจะใช้หลักการ Competitive binding ซึ่งแตกต่างจากชุดตรวจครรภ์ มีวิธีการอ่านผล ดังนี้
- หากขึ้น 2 ขีด ที่ T และ C แปลว่าผลเป็น ลบ หรือ ตรวจไม่พบสารเสพติด
- หากขึ้น 1 ขีด ที่ C แปลว่าผลเป็น บวก หรือ ตรวจพบสารเสพติด
- หากไม่มีขีดขึ้น หรือขึ้น 1 ขีด ที่ T แปลว่าชุดตรวจเสีย ไม่สามารถอ่านผลได้
ในปัจจุบัน การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะโดยใช้ชุดตรวจ เป็นเพียงการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น เพราะปริมาณสารเสพติดที่พบในปัสสาวะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนักตัวของผู้เสพ ปริมาณการเสพ และความถี่ในการเสพ
ในบางกรณี จึงอาจมีปริมาณสารเสพติดน้อยเกิน จนตรวจเจอด้วยวิธีนี้ไม่ได้ และจำเป็นต้องตรวจซ้ำ เรียกว่า “การตรวจยืนยัน (Confirmation test)” โดยใช้วิธีที่ไวและแม่นยำกว่า เช่น ใช้เทคนิคโครมาโทกราฟีแบบเยื่อบาง (Thin Layer Chromatography)
เมื่อขึ้นชื่อว่าสารเสพติด อย่างไรก็มีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะโทษต่อร่างกายและโทษทางกฎหมาย ที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกจัดอยู่ในระดับรุนแรง ดังนั้น ขอให้อยู่ไกลห่างจากสารเสพติดจึงจะดีที่สุด
ถ้ามีความเครียดหรือปัญหาใด ๆ ก็ตาม ให้ลองหันไปหาคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตจากกรมสุขภาพจิต โทร.1323 และทำกิจกรรมที่ช่วยพักผ่อนหย่อนใจได้ อย่างการฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย
ถ้าคนใกล้ชิดของคุณกำลังติดยาเสพติด ควรรีบเข้าไปพูดคุย และทำความเข้าใจกับตัวผู้เสพเพื่อช่วยหาทางออกให้เลิกยาเสพติดให้ได้ เพราะสารเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ เลย นอกจากก่อโทษร้ายแรงต่อร่างกายจนทำให้เสียชีวิต
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล