ทุกคนรู้หรือไม่ว่า ในชีวิตประจำวันของเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด “มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)” โดยที่เราไม่รู้ตัว แม้ว่าโรคนี้จะฟังดูไกลตัว แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน
มาดูกันว่าพฤติกรรมใดบ้างที่ควรระวัง และเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งชนิดนี้
สารบัญ
1. ติดกินเค็ม ชอบอาหารแปรรูป
กินเค็มไม่ใช่แค่ไตพัง ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารโดยไม่รู้ เพราะมีงานวิจัยพบว่า การกินอาหารเค็ม อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมเป็นส่วนประกอบนั้น มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารที่สูงขึ้น
แถมการกินเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป ยังไปลดระดับโพแทสเซียมในร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานลดลงตามไปด้วย ยิ่งกินเค็มบ่อย กินเป็นประจำ จะทำให้เราคุ้นเคยกับรสชาติจนอยากกินรสเค็มอยู่บ่อย ๆ อีกด้วย
ตัวอย่างอาหารรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูง เช่น
- อาหารหมักดอง อาหารที่ใส่สารดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง เนื้อเค็มตากแห้ง ปลาเค็ม ผักดอง
- อาหารที่ใส่ผงชูรสปริมาณมาก
- ขนมกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น มันฝรั่งทอด มาม่า โจ๊กซองหรือโจ๊กถ้วย
- ซอสและเครื่องปรุงรส เช่น ซอสปรุงรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า
- อาหารจานด่วน และอาหารฟาสต์ฟู๊ด
- อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง
การลดโซเดียม เลี่ยงกินเค็มสามารถเริ่มได้จากการสังเกตปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ และแบ่งกินให้พอเหมาะ พยายามเลี่ยงการปรุงแต่งรสชาติอาหารให้จัดจ้าน เลือกกินอาหารสดให้มากขึ้น อาหารรสจัดควรกินในปริมาณเหมาะสม และดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
2. ชอบกินปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยความร้อนสูง
อาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านความร้อนสูง ๆ อาจทำให้เราได้รับสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่า สารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon หรือ PAHs)
สารตัวนี้เกิดจากการเผาไหม้ของไขมันในเนื้อสัตว์ที่หยดลงไปโดนถ่านไฟ ทำให้เกิดเป็นควันที่เป็นพิษ แล้วลอยกลับขึ้นมาติดที่เนื้อสัตว์บนเตา พอกินมาก ๆ เข้าเป็นปริมาณมากจะสะสมในร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
รู้แบบนี้แล้ว สายปิ้งย่าง ควรระวัง อย่ากินอาหารปิ้งย่าง รมควัน บ่อยจนเกินไป และเลือกกินเนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่ได้ปิ้งย่างจนไหม้เกรียม
3. สายปาร์ตี้ ชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีสารเอทานอล (Ethanol) พอเข้าสู่ร่างกายแล้วจะย่อยสลายกลายเป็นสารพิษทำลายเซลล์ มีชื่อว่า อะเซทแอลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหารได้
โดยเฉพาะคนที่ดื่มหนักเกินกว่า 3 ดื่มมาตรฐานต่อวันขึ้นไป ความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย 1 ดื่มมาตรฐาน (Standard drink) จะเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ผสมอยู่ 10 กรัม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน
ตัวอย่าง 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น
- เบียร์หรือเครื่องดื่มพร้อมดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5% จะอยู่ที่ 1 กระป๋องหรือขวดเล็ก (330 มิลลิลิตร)
- วิสกี้หรือวอดก้าที่มีแอลกอฮอล์ 40–43% จะอยู่ที่ 3 ฝา (30 มิลลิลิตร)
- ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 11–13% จะอยู่ที่ 1 แก้ว (100 มิลลิลิตร)
สำหรับการสูบบุหรี่ รวมถึงการได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลายชนิดได้ เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย โดยคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนไม่สูบถึง 2 เท่าเลย
4. ไม่ชอบกินผักและผลไม้
การกินผักและผลไม้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด และมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย เพราะนอกจากจะมีใยอาหารแล้ว ยังมีสารต้านมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะผักผลไม้หลากสี
ตัวอย่างสารสีต่าง ๆ ในผักและผลไม้ ได้แก่
- สารสีแดง ในมะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไลโคปีน (Lycopene) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด
- สารสีเหลืองหรือส้ม ในฟักทอง แครอท มีเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระ และอุดมไปด้วยวิตามินที่ต้านการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย
- สารสีเขียว ในคะน้า กวางตุ้ง ตำลึง บรอกโคลี หรือผักบุ้ง มีวิตามินซีและวิตามินเอ
- สารสีม่วง ในกะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง ชมภู่มะเหมี่ยว มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง
- สารสีขาว ในมะเขือขาวเปราะ ดอกแค ผักกาดขาว มีเบต้าแคโรทีนสูงเช่นเดียวกับสีเหลืองหรือส้ม
แต่ละวันควรเพิ่มการกินผักและผลไม้สดหลากสีให้มากขึ้น โดยพยายามกินให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ
5. ปล่อยให้น้ำหนักเกิน มีภาวะอ้วน
น้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์หรือภาวะอ้วน ทำให้เกิดกรดไหลย้อนเรื้อรังที่ส่วนบนของหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารอักเสบ ถ้าปล่อยให้อักเสบนานวันเข้าจะเพิ่มโอกาสให้กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต โดยเฉพาะมะเร็งบริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหาร (Cardia)
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาพบว่า ภาวะอ้วนมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้มากถึง 11 ชนิด และส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
6. มีความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ละเลย
มะเร็งเป็นโรคร้ายที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ มะเร็งกระเพาะอาหารก็เช่นกัน ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร นั่นก็อาจหมายถึงโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดนี้มากขึ้นด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับทุกคน
คนที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถปรึกษาคุณหมอถึงการตรวจคัดกรองหรือตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงได้
นอกจากนี้ คนที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ หรือติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) ก็ควรรักษาโรคให้หายขาด เพราะสามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมในข้างต้นเป็นเพียงปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคให้มากขึ้น ไม่ได้บ่งบอกว่าคุณจะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเสมอไป เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารยังเกิดได้อีกจากหลายปัจจัย เช่น
- อายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุ 50–60 ปีขึ้นไป
- เป็นเพศชาย มีความเสี่ยงกว่าเพศหญิง
- เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หรือเคยเป็นโรคกรดไหลย้อน
- มีอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันที่สัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิด
คนที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือมีความกังวล สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างเสมอ ก็เป็นวิธีดูแลสุขภาพพื้นฐานได้ง่าย ๆ ที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้อีกทาง รวมถึงถ้ามีอาการผิดปกติใด ๆ ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะเมื่อเป็นบ่อย ๆ อาการไม่หายไป ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาก่อนอาการลุกลามหรือรุนแรง
คุณหรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแค่ไหน? เช็กให้ชัวร์ HDmall.co.th รวมโปรคัดกรองโรคระบบทางเดินอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และอีกหลายโรค จากรพ. ชั้นนำทั่วประเทศ คลิกดูโปร
อยากสอบถามเพิ่มเติม จองคิวคุณหมอ หรืออยากให้ช่วยแนะนำแพ็กเกจสุขภาพอื่น ๆ แอดมินพร้อมให้บริการทางไลน์ ที่นี่