gastric cancer faqs disease faq scaled

รวม 8 เรื่องควรรู้ของมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจใกล้ตัวกว่าที่คิด

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer หรือ Stomach cancer) เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการชัดเจน ทำให้พลาดโอกาสในการรักษาได้ทันท่วงที บทความนี้รวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับมะเร็งกระเพาะอาหารให้ทุกคนได้เข้าใจกัน!

1. พฤติกรรมการกินไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การกินอาหารไม่ดี เช่น อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน อาหารหมักดอง อาหารรสจัด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก คือ การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. pylori) 

รวมถึงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ อายุมาก หรือเป็นเพศชาย ล้วนเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็มีบทบาทสำคัญ ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น 13 เท่าเลย  

2. เชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) ตัวการสำคัญของมะเร็งกระเพาะอาหาร

การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือเอชไพโลไร (H. pylori) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดจากการกินอาหารและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และยังติดต่อผ่านคนสู่คนได้จากการกินอาหารร่วมกัน 

เชื้อเอชไพโลไรสามารถสร้างสร้างพิษ ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากถึง 36 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อ 

สิ่งที่น่ากลัวคือ เชื้อเอชไพโลไรสามารถอาศัยในกระเพาะอาหารโดยผลิตสารที่เป็นด่าง เพื่อป้องกันตัวเองจากกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้คนที่ติดเชื้อมักไม่มีอาการผิดปกติ ยกเว้นได้รับเชื้อปริมาณมากหรือติดเชื้อเฉียบพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง และมีไข้ได้ 

อาการเหล่านี้มักจะคล้ายคลึงกับโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ โดยเฉพาะกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าเกิดการติดเชื้อชนิดนี้แล้ว 

3. ไม่ใช่แค่คนอายุมากที่เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

แม้ว่าคนอายุมากจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร แต่วัยอื่นก็มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหารต่อไปนี้

  • ผู้ชายจะเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า
  • น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น 
  • กินอาหารประเภทปิ้งย่าง อาหารรมควัน อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป เป็นประจำ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ 
  • สูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 2 เท่า ในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น 13 เท่าเลย
  • การสัมผัสสารเคมีและฝุ่นละอองที่ก่อมะเร็งเป็นประจำ เช่น คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก พวกถ่านหิน โลหะ และยาง มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 
  • เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12
  • คนเลือดกรุ๊ปเอ มีความเสี่ยงมากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นถึง 20%

ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะหากพบความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร จะได้หาทางป้องกันหรือรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

4. อาการมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก คล้ายโรคกระเพาะ และแผลในกระเพาะ

โรคในระบบทางเดินอาหารมักจะมีอาการคล้ายกันในช่วงแรก ๆ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรกด้วย มักจะมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคกรดไหลย้อน

โรคกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ
มีอาการปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เป็น ๆ หาย ๆ มักจะเป็นก่อนหรือหลังมื้ออาหาร มีอาการปวดแสบ จุกแน่น และอาจมีอาการคลื่นไส้

โรคแผลในกระเพาะอาหาร
ปวดท้อง รู้สึกจุกแน่นใต้ลิ้นปี่หรือท้องส่วนบน มักเป็นตอนท้องว่างหรือหิว อาการปวดจะเป็น ๆ หาย ๆ แล้วกลับมาเป็นใหม่ ถ้าไม่ปวดท้องอาจมีอาการอืดแน่นท้อง ไม่สบายท้องบริเวณลิ้นปี่หรือกลางท้องกลางสะดือ โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหาร
ในระยะแรกมักไม่มีอาการ หรือมีเล็กน้อย คือ จุกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ไม่สบายท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอกได้

เห็นได้ว่าอาการในโรคระบบทางเดินอาหารมีความคล้ายคลึงกัน ถ้าพบอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร จึงไม่ควรละเลย ควรไปพบแพทย์ตรวจหาความเสี่ยง หรือตรวจคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหาร  

5. แผลในกระเพาะอาหารนำไปสู่มะเร็งกระเพาะอาหารได้

แผลในกระเพาะอาหารเป็นผลมาจากการที่เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายด้วยกรดและน้ำย่อย สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่สาเหตุพบบ่อยมาจากการติดเชื้อเอชไพโลไร และการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อย่างยาแอสไพลิน และยารักษาโรคข้ออักเสบ

กรณีที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อเอชไพโลไร เจ้าเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ ไม่เพียงทำให้แผลหายช้า และกลับมาเป็นแผลซ้ำ ๆ ถ้าปล่อยให้เป็นแผลเรื้อรังหรืออักเสบบ่อย ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารตามมาได้สูงถึง 36 เท่า 

6. การตรวจคัดกรองเป็นวิธีป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร

การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคได้ เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่อาการไม่ชัดเจนในระยะแรก หรือคล้ายกับโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด จุกแน่นไม่สบายท้อง 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวหรือตรวจเจอ มะเร็งก็ลุกลามหรือเข้าสู่ระยะท้าย ๆ ที่ยากต่อการรักษา การตรวจคัดกรองก่อนจะช่วยให้พบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง ทำให้การรักษาได้ผลดี และมีโอกาสหายขาดได้

วิธีคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารที่มีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำ คือ การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Upper endoscopy: EGD) สามารถตรวจพบความผิดปกติของกระเพาะอาหารได้ก่อนที่กระเพาะอาหารจะเป็นแผล หรือมีก้อนมะเร็ง 

โดยแนะนำให้คนอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน ทุก ๆ  3 ปี หากไม่พบความผิดปกติ 

7. มะเร็งกระเพาะอาหารรักษาได้ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค ขนาดของเนื้องอก ตำแหน่งของเนื้องอก และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย แพทย์จะเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด และมักใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด 

การผ่าตัด
เป็นวิธีการหลักในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์อาจเลือกผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก หรือผ่าตัดกระเพาะอาหารทั้งหมดออก บางกรณีอาจต้องผ่าเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกด้วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

การฉายรังสี
เป็นการทำลายเซลล์มะเร็งโดยใช้รังสีพลังงานสูง อาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง ง่ายต่อการผ่าตัดออก หรือหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ 

เคมีบำบัด
เป็นการใช้ยาเข้าไปทำลายหรือยับยั้งเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยจะใช้ร่วมกับการฉายรังสีและการผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า
เป็นการใช้ยาทำลายเซลล์มะเร็งเช่นเดียวกับการทำเคมีบำบัด แต่จะเน้นทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ปกติ โดยไปกำจัดโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผิวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งช่วยให้เซลล์มะเร็งเติบโตและมีชีวิตรอด 

ภูมิคุ้มกันบำบัด
เป็นการใช้ยาเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถตรวจจับ และทำลายเซลล์มะเร็งเองได้ เพราะเซลล์มะเร็งอาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายไปได้ หรือภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ทำให้ไม่สามารถตรวจจับและทำลายเซลล์ที่ผิดปกติได้

8. ลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารได้ แค่ดูแลตัวเอง

การดูแลสุขภาพตัวเอง เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค และเข้ารับการตรวจคัดกรองตามความเสี่ยง จะช่วยป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารได้ 

  • กินร้อน ช้อนกลาง การกินอาหารร้อน ๆ ช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในอาหาร และการใช้ช้อนกลางก็ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
  • เน้นกินผักผลไม้ การบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยแต่ละมื้อให้กินให้ได้ครึ่งหนึ่งของมื้ออาหารนั้น 
  • หลีกเลี่ยงอาหารก่อมะเร็ง พวกอาหารปิ้ง ย่าง หมัก ดอง เค็มจัด และมันจัด มีสารก่อมะเร็งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
  • เลิกบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
  • มีความเสี่ยงให้ตรวจคัดกรอง คนอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยวิธีส่องกล้อง และคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้อง และตรวจหาเชื้อเอชไพโรไลควบคู่ไปด้วย 

อย่ารอให้สายเกินไป! มาเช็กสุขภาพระบบทางเดินอาหารของคุณได้ง่าย ๆ ที่ HDmall.co.th กับโปรโมชั่นตรวจคัดกรองโรคระบบทางเดินอาหาร จากโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ จอง จ่าย นัด พร้อมตรวจได้ทันที หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมินได้ ที่นี่

Scroll to Top