first psychiatry appointment treatment how to scaled

ไปพบจิตแพทย์ครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไรดี เครียดแค่ไหนถึงต้องไป?

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปพบจิตแพทย์ หลายคนอาจรู้สึกกังวล ทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรดี เพื่อให้การไปหาคุณหมอรักษาจิตใจในครั้งแรกนี้ราบรื่นมากที่สุด 

จะเหมือนตอนไปรักษาอาการป่วยทางกายทั่วไปไหม หรือแค่เตรียมใจให้พร้อมคุยกับคุณหมอก็พอ บทความนี้มีคำแนะนำดี ๆ ที่จะช่วยเตรียมตัวก่อนไปพบจิตแพทย์มาฝากทุกคนแล้ว 

ก่อนไปพบจิตแพทย์ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

การไปหาจิตแพทย์อาจทำให้เรารู้สึกหวั่นวิตกได้คูณสอง เพราะหลายคนไม่รู้เลยว่าจะได้ไปเจอกับสถานการณ์แบบไหน 

อันที่จริง ขั้นตอนการเตรียมพร้อมก่อนไปหาจิตแพทย์ก็ไม่ต่างจากการไปหาแพทย์ทั่วไปมากนัก โดยสิ่งที่ควรให้ความสำคัญจะมีรายละเอียดดังนี้ 

หาโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์

จิตแพทย์นั้นไม่ได้มีประจำอยู่ทุกโรงพยาบาล เรียกได้ว่ามีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีมากขึ้นทุกวัน เราจึงจำเป็นต้องหาข้อมูลไว้ตั้งแต่ ๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ 

แนะนำให้ตรวจสอบจากทางเว็บไซต์ หรือโทรสอบถามโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือเฉพาะทาง เช่น 

  • โรงพยาบาลประจำจังหวัด 
  • โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ 
  • โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร 
  • โรงเรียนแพทย์ 
  • โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช 

ที่สำคัญคือ ควรเลือกโรงพยาบาลที่อยู่ไม่ไกล และสามารถเดินทางไปได้สะดวก เพราะปัญหาสุขภาพทางจิตใจจำต้องได้รับการพูดคุย นัดติดตาม และประเมินอาการเป็นระยะอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

จดบันทึกอาการและความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน

ควรจดบันทึกอารมณ์ อาการ หรือพฤติกรรมในแต่ละวันของเราไว้ โดยอาจจดผ่านสมุด หรือผ่านแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกอารมณ์โดยเฉพาะก็ได้ 

การจดบันทึกจะให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตใจและอารมณ์ และยังง่ายต่อการเริ่มต้นพูดคุยและรักษากับจิตแพทย์ 

เตรียมใจให้พร้อม

หลายคนมองว่าการไปหาจิตแพทย์เป็นเรื่องน่าอายหรือกังวลว่าคนรอบข้าง เพื่อนที่โรงเรียน หรือเพื่อนร่วมงานจะมองไม่ดีและรังเกียจ ความคิดเหล่านี้รังแต่จะสร้างความทุกข์ให้เรา 

การไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาหรือรักษาปัญหาที่เป็นอยู่ จะช่วยลดความทุกข์หรือความรู้สึกแง่ลบที่เรามีได้

และตามนโยบายของโรงพยาบาลแล้ว จะไม่เปิดเผยข้อมูลของคนไข้ให้ผู้อื่นทราบหากไม่ได้รับความยินยอม จึงมั่นใจได้ว่าจะเป็นความลับระหว่างคนไข้และจิตแพทย์เท่านั้น

สำหรับการเตรียมตัวแนะนำให้ใส่ชุดสุภาพ ชุดที่สวมใส่สบาย อาจเลือกใส่ชุดประจำที่คล่องตัว เพื่อให้รู้สึกคุ้ยเคยและไม่ตื่นเต้นจนเกินไปก็ได้ 

เตรียมของส่วนตัวและเอกสารสำคัญ

สิ่งของที่ลืมไม่ได้ในการไปโรงพยาบาลคือ เอกสารสำคัญที่ใช้ในการลงทะเบียนผู้ป่วย และตรวจสอบสิทธิการรักษา เช่น ใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด บัตรประชาชน บัตรข้าราชการ บัตรแสดงสิทธิการรักษา หรือบัตรประกันสุขภาพต่าง ๆ

สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว ควรพกยารักษาโรคที่กำลังใช้อยู่ หากมีประวัติการรักษาตัวเดิม หรือประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ ควรติดตัวไปด้วย และควรจัดเตรียมสิ่งของเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนวันไปพบจิตแพทย์ เพื่อป้องกันการลืม 

พาญาติหรือคนสนิทไปด้วย

นอกจากญาติหรือคนสนิทจะช่วยให้ผู้ป่วยอุ่นใจในทุกขั้นตอนการพบจิตแพทย์แล้ว ยังช่วยรับฟังคำแนะนำจากจิตแพทย์ไปพร้อมกับผู้ป่วย

รวมถึงยังช่วยให้ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมของผู้ป่วยกับแพทย์ผู้รักษา ซึ่งอาจนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์และรักษาปัญหาสุขภาพจิตนั้นได้

จิตแพทย์กับนักจิตวิทยาต่างกันไหม ปรึกษาใครดี?  

แม้จะให้คำปรึกษาและช่วยเยียวยาปัญหาสุขภาพทางจิตใจและอารมณ์เหมือนกัน แต่จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะมีอำนาจหน้าที่ ขอบเขต และแนวทางการรักษาที่ต่างกัน 

  • จิตแพทย์ (Psychiatrist) จะวินิจฉัยโรคจากมุมมองทางการแพทย์ ร่วมกับการบำบัดหลากหลายวิธี และสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาโรคอย่างยาต้านเศร้าในกลุ่มต่าง ๆ
  • นักจิตวิทยา (Psychologist) จะเน้นให้คำปรึกษาและบำบัดโดยไม่ใช้ยา เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) แต่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคและสั่งจ่ายยารักษาโรคได้  

จิตแพทย์และนักจิตวิทยามักทำงานร่วมกัน ช่วยวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการและความต้องการของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยข้ามผ่านความยากลำบากที่ต้องเผชิญไปได้ 

ผู้ป่วยสามารถเลือกไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อนก็ได้ โดยจิตแพทย์อาจวินิจฉัยและประเมินอาการแล้วส่งไปบำบัดต่อกับนักจิตวิทยา หรือนักจิตวิทยาอาจประเมินและสังเกตอาการของผู้ป่วย แล้วส่งต่อไปถึงมือจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดและจ่ายยารักษาที่จำเป็นให้

แนะนำว่า หากเคยมีปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ที่รุนแรงมาก่อนอย่างโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท โรค PTSD หรือโรคคลั่งผอม จำเป็นต้องการรักษาด้วยการใช้ยาก็ควรไปพบจิตแพทย์ 

หากอยากปรึกษาปัญหาความสัมพันธ์ คนในครอบครัว การทำงาน บำบัดพฤติกรรม ความคิด หรือทัศนคติ อาจลองพูดคุยกับนักจิตวิทยาก่อน

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบจิตแพทย์? 

เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่มักจะทำให้เรารู้สึกแย่และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง เช่น

  • ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หงุดหงิด ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดง่ายผิดปกติ 
  • วิตกกังวล หวาดกลัว ท้อแท้ หดหู่ หมดหวัง หรือรู้สึกเศร้าอย่างรุนแรง 
  • กินอาหารไม่ได้ มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ 
  • นอนไม่หลับ พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ไม่อยากไปเรียนหรือทำงาน มีปัญหากับเพื่อนและครูที่โรงเรียน หรือเพื่อนที่ทำงาน 
  • ปลีกตัวออกจากสังคม ปรับตัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้ หรือขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
  • หันไปพึ่งพาสารเสพติด เหล้า หรือบุหรี่ 
  • มีพฤติกรรมหรือความคิดอยากทำร้ายตนเอง หรือจบชีวิตตัวเอง

สัญญาณเตือนเหล่านี้ เป็นตัวบ่งบอกว่าควรไปพบจิตแพทย์ ก่อนที่ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น 

หากลังเลใจหรือไม่พร้อมไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล ก็สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และพูดคุยกับจิตแพทย์ออนไลน์ผ่านโทรศัพท์ วิดีโอคอล หรือแอปพลิเคชันของหน่วยงานเอกชน

การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย สังคมเองก็มีความตระหนักและใส่ใจเรื่องสุขภาพจิต พร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือคนที่กำลังประสบปัญหาทางใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย 

ความกล้าที่จะปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เรารู้ทันและจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกได้ดีขึ้น สามารถสู้กับความรู้สึกแย่ในทุก ๆ วัน และก้าวข้ามมันได้ในที่สุด  

วันนี้เป็นยังไงบ้าง? เหนื่อย ท้อแท้ กังวล เศร้า หรือกำลังรู้สึกแย่อยู่หรือเปล่า? แอดมิน HDmall.co.th พร้อมช่วยนัดหมายปรึกษาจิตแพทย์ หรือค้นหาแพ็กเกจดูแลจิตใจและอารมณ์จากสถานพยาบาลใกล้บ้าน คลิกเลย โปรดีมีส่วนลดทุกการจอง  

Scroll to Top