เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลเปิดจนมีเลือดออกมา อันดับแรกนอกจากต้องห้ามเลือดก่อนแล้ว การทำความสะอาดบาดแผลก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะบาดแผลเปิดอาจทำให้สิ่งสกปรกที่มองไม่เห็นเข้าไปอยู่ในบาดแผลได้ รวมถึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อโรคนานาชนิด
ดังนั้นการรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดบาดแผลจนเลือดออก จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาไว้เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ถูกต้องและเหมาะสม
การห้ามเลือด
การห้ามเลือดอย่างถูกวิธีเพื่อให้เลือดหยุดเร็วที่สุด จำเป็นต้องคำนึงถึงความสะอาดของแผล และมีข้อควรระวังบางอย่างที่ผู้ปฐมพยาบาลต้องระมัดระวัง
- ใช้มือกดบนแผลด้วยผ้าสะอาด ผ้าก๊อซ หรือทิชชู่ จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- หากเลือดไหลซึมบริเวณผ้า อย่าเปลี่ยนผ้า แต่ให้นำผ้าใหม่อีกผืนมากดทับลงไปบนผ้าเดิม และห้ามหยุดกดแผล
- หากเป็นแผลบริเวณขา หรือแขน ถ้าเป็นไปได้ให้ยกขา หรือแขนให้สูงกว่าหัวใจ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น
- ต้องล้างมือทั้งหลังห้ามเลือดและก่อนที่จะทำแผล
- ห้ามใช้เชือกรัดแผล นอกจากในกรณีที่ห้ามเลือดด้วยวิธีกดแผลแล้วไม่ได้ผล
การทำความสะอาดแผล
ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำอุ่น โดยล้างสบู่ออกให้สะอาดเพื่อป้องกันการระคายเคือง และไม่ควรใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) หรือ ไอโอดีน เนื่องจากอาจไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลได้
การทำแผล
ใช้ครีมที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียทาลงบนแผล เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อบริเวณแผล จากนั้นปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ หรือผ้าปิดแผลที่สะอาด
แนะนำให้เปลี่ยนผ้าปิดแผล หรือพลาสเตอร์ใหม่ทุกวัน เพื่อให้แผลแห้งและสะอาดอยู่เสมอ
แผลแบบไหนที่ควรนำส่งโรงพยาบาล
เมื่อเกิดบาดแผลเลือดไหลที่ไม่ร้ายแรง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอาจเพียงพอสำหรับป้องกันไม่ให้เลือดไหล และไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลได้
แต่ยังมีแผลบางรูปแบบ หรืออาการเลือดออกที่ผิดปกติ รวมถึงบริเวณอวัยวะที่เกิดบาดแผลซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์เท่านั้น เช่น
- มีเลือดไหลออกจากแผลมากผิดปกติ
- มีเลือดออกภายใน
- เป็นแผลที่ช่องท้อง หรือบริเวณหน้าอก
- เลือดยังไม่หยุดไหลภายใน 10 นาที หลังจากพยายามห้ามเลือดแล้ว
- มีเลือดพุ่งออกจากแผล
- แผลมีขอบเปิด หรือแผลกว้าง
- เป็นแผลบริเวณใบหน้า
- มีสิ่งสกปรก หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ อยู่ในแผล
- แผลเริ่มมีการติดเชื้อ เช่น มีอาการแดง บวมบริเวณแผล มีหนอง หรือมีไข้ขึ้น
- รู้สึกชาไปทั่วบริเวณแผล
- มีรอยแดงรอบแผล
- เป็นบาดแผลถูกแทง หรือแผลลึก
- ผู้ได้รับบาดเจ็บยังไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักมาก่อนในระยะเวลา 5 ปี
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเมื่อบาดแผลมีเลือดออกไม่ได้มีความซับซ้อนมากมายนัก เพียงแต่ต้องรู้วิธีการห้ามเลือดที่ถูกวิธี การทำให้แผลสะอาด
อาจต้องสังเกตลักษณะของแผลว่า มีความร้ายแรงมากขนาดไหน เพื่อจะได้จัดการอย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้บาดแผลก็จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง สะอาด และไม่ลุกลามไปถึงการติดเชื้อได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี