facts about lung cancer disease faq scaled

รวม 9 เรื่องของมะเร็งปอดที่หลายคนอาจไม่รู้

เมื่อพูดถึงมะเร็งปอด ภาพจำของโรคมักจะเป็นผู้ป่วยมักจะไอเป็นเลือด สูบบุหรี่จัด ตรวจคัดกรองโรคไม่ได้ จริง ๆ แล้วมีอีกหลายเรื่องที่คนไม่รู้หรือเข้าใจคาดเคลื่อน บทความนี้จะช่วยให้คุณรู้จักกับโรคมะเร็งปอดมากขึ้น จะได้รับมือกับความเสี่ยงโรคได้ดีขึ้นด้วย

1. มะเร็งปอดมีหลายชนิด 

แม้ว่าจะเรียกรวมว่าโรคมะเร็งปอด แต่สามารถแยกย่อยลงไปได้อีกตามความผิดปกติของเซลล์ โดยแต่ละชนิดก็มีอัตราการเกิด และความรุนแรงที่ต่างกัน หากจะแบ่งประเภทง่าย ๆ จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • โรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-small cell lung cancer)
    มะเร็งเติบโตและแพร่กระจายค่อนข้างช้า มีอัตราการตรวจพบได้ง่าย ถือเป็นชนิดที่พบบ่อย ประมาณ 7590% ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี มีโอกาสหายขาดได้
  • โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) 

เป็นชนิดพบได้น้อย ประมาณ 1025% แต่แพร่กระจายได้เร็ว มีความรุนแรงและเป็นอันตรายมากกว่าชนิดแรก ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีเฉพาะบางวิธี มีโอกาสหายขาดค่อนข้างน้อย 

2. ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้

ไม่เฉพาะคนสูบบุหรี่ที่เสี่ยงมะเร็งปอด คนไม่สูบก็เป็นได้ เพราะโรคมะเร็งปอดเกิดได้จากสาเหตุอื่นได้ด้วย เช่น

  • การได้รับควันบุหรี่มือสอง
  • การสูดดมสารเคมี ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควันรถ ควันธูป
  • การสัมผัสกับสารก่อมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน
  • ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอด

3. สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงโรคปอด และอาจเป็นมะเร็งปอดได้

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่า การบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดหรือไม่ แต่สามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอักเสบเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง

อย่างไรก็ตาม สารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีลักษณะเหมือนกับบุหรี่ปกติ จึงอาจเป็นไปได้ที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน

4. โรคมะเร็งปอดระยะแรกมักไม่แสดงอาการ

เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น โรคมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สถานะของโรค 

แต่บางคนอาจพบกับสัญญาณบางอย่าง เช่น อาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด เสียงแหบหวีด และหายใจลำบาก หากพบอาการเหล่านี้ ควรไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด

5. โรคมะเร็งปอดระยะแรกตรวจยาก แต่สามารถตรวจได้

ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเจอได้ วิธีนี้เรียกว่า Low-dose CT scan หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำ สามารถตรวจเจอร่องรอยของมะเร็งปอดระยะแรกได้แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย Low-dose CT scan ตรวจได้ง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำและงดอาหาร และปริมาณรังสีในการตรวจน้อยลง แต่ผลตรวจมีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ปอด

6. ไอรุนแรง ไอเป็นเลือด ไม่ได้บอกถึงโรคมะเร็งปอดเสมอไป

อาการไอจะเป็นอาการหลักที่พบได้ในผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยเฉพาะอาการไอเรื้อรัง และไอเป็นเลือด แต่อาการเหล่านี้อาจมาจากโรคอื่นได้เช่นเดียวกัน เช่น โรคไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้เรื้อรัง โรคฝีในปอด โรคปอดอักเสบ ไปจนถึงโรครุนแรงอย่างโรคหลอดลมโป่งพอง 

หากพบอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เสมหะเป็นเลือด หรือมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างเหมาะสม 

7. ไม่สูบบุหรี่ก็ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด

ต่อให้ไม่ได้สูบบุหรี่ ทุกคนก็อาจเสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่น โดยเฉพาะปัจจัยด้านล่าง

  • ทำงานกับสารพิษ สารเคมีหนัก โดยเฉพาะแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส
  • อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ 
  • ต้องสัมผัสกับฝุ่นควันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่มือสอง ควันรถยนต์ ควันธูป ฝุ่น PM 2.5 
  • มีประวัติโรคมะเร็งปอด โรคปอด หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัว

ลองสำรวจดูว่าสภาพแวดล้อมและตัวคุณเองมีความเสี่ยงเหล่านี้ไหม ถ้ามีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสม

8. โรคมะเร็งปอดระยะ 3 และ 4 ควบคุมอาการได้

เมื่อเข้าสู่มะเร็งปอดระยะที่ 3 และ 4 มักจะมีอาการรุนแรง และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น 

คนส่วนมากเข้าใจว่าผู้ป่วยคงมีอาการไม่สู้ดี ทรุดโทรม สุขภาพย่ำแย่ ความเป็นจริงแล้ว แพทย์จะหาวิธีรักษาที่ช่วยควบคุมอาการให้ไม่รุนแรง และลดผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยมากที่สุด 

ในระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย แพทย์อาจใช้การให้ยาเคมี และการฉายแสง เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา และวางแผนการรักษาต่อไป ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

9. ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดทุกปี หากมีความเสี่ยง

แม้ว่าทุกคนจะมีความเสี่ยงของโรคนี้ แต่คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้คนกลุ่มนี้เข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี

  • คนที่มีอายุระหว่าง 5080 ปี
  • คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 ซองต่อปี
  • คนที่เลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังไม่เกิน 15 ปี
  • คนที่ทำงานหรือต้องสัมผัสกับสารเคมี แร่ใยหิน
  • คนที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะญาติสายตรง
  • คนที่มีคนใกล้ชิดหรือคนรอบตัวสูบบุหรี่ 

คนที่มีปัจจัยอื่น อย่างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง คนที่ทำงานกับสารเคมี สารพิษ หรือฝุ่นควัน และคนที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

ทั้งหมดเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของโรคมะเร็งปอดที่ควรรู้ หากมีข้อสงสัย หรือรู้สึกกังวล การไปพบแพทย์จะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลเพิ่มเติม และสบายใจมากขึ้น ที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพเป็นประจำด้วย

รอให้เสี่ยงทำไม เมื่อตรวจคัดกรองได้ HDmall.co.th มีโปรตรวจคัดกรองโรคปอด และมะเร็งปอด มาฝาก เลือกดูได้เลย เปรียบเทียบราคา ดูแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

Scroll to Top