แม้ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) จะเป็นมะเร็งยอดฮิตที่สร้างความตื่นตัวให้กับผู้หญิง แต่หลายคนก็ยังมีคำถามมากเกี่ยวกับเจ้ามะเร็งชนิดนี้ไม่น้อย ทั้งในแง่ของความเสี่ยง การคัดกรอง หรือการป้องกัน วันนี้เราเลยรวบรวมสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกมาฝากกัน
สารบัญ
1. มะเร็งปากมดลูกเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน ทั้งที่เคยมีเพศสัมพันธ์และไม่เคยมาก่อน
ตอบ: ไม่ว่าผู้หญิงจะเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ เพราะเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของการเกิดโรคร้ายนั้นเข้าสู่ร่างกายได้จากหลายทาง โดยการมีเพศสัมพันธ์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก แต่ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า
ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการติดเชื้อ HPV ในร่างกายก็เช่น
- สัมผัสกับเชื้อ HPV โดยตรง
- สูบบุหรี่
- มีคู่นอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี)
- เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือมีประวัติเคยเป็น เช่น เริม หนองใน ซิฟิลิส การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์
- รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
- ผู้หญิงที่มีบุตรมาก ผู้หญิงที่ได้รับยาป้องกันการแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์ อย่างยาไดเอทธิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol หรือ DES)
2. วัคซีนมะเร็งปากมดลูกป้องกันโรคได้ แต่ไม่ 100%
ตอบ: วัคซีนมะเร็งปากมดลูกหรือที่เรียกกันว่าวัคซีน HPV นั้นช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 70–90% โดยจะให้ผลดีหากฉีดตั้งแต่อายุยังน้อย หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
หากฉีดช้า ฉีดตอนอายุมาก หรือฉีดหลังมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคก็อาจลดลง เพราะร่างกายอาจเคยติดเชื้อ HPV มาแล้ว จึงมักแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ แม้จะเคยฉีดวัคซีน HPV แล้วก็ตาม
ค้นหาแพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV จากสถานพยาบาลใกล้บ้านได้เลย HDmall.co.th คัดโปรราคาดีแถมส่วนลดเพิ่มเติม มีที่นี่ที่เดียว!
3. ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
ตอบ: เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกใช้เวลานานในการพัฒนาโรคราว 10–15 ปี พอเป็นหรือแสดงอาการแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
จึงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองเมื่อถึงเกณฑ์อายุที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้
ผู้หญิงอายุ 25–65 ปี หากมีเพศสัมพันธ์แล้ว แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี หรืออายุ 30 ปี แต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear, Pap test) หรือตรวจตินเพร็พ (Thin Prep) ทุก 1–2 ปี
- ตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA test) ทุก 3–5 ปื หรือตรวจหาเชื้อเอชพีวีร่วมกับวิธีอื่น (Co-testing) อาจจะเป็นแปปสเมียร์หรือตินเพร็พ ทุก 5 ปี
ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลตรวจคัดกรองเป็นปกติ อาจหยุดตรวจได้ตามคำแนะนำแพทย์
กรณีอายุต่ำกว่า 25 ปี จะไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ยกเว้นมีความเสี่ยงต่อโรคสูง เช่น มีคู่นอนหลายคน ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
4. มะเร็งปากมดลูกในระยะแรกมักไม่มีอาการ
ตอบ: เป็นจริงที่ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงตกขาวที่มากกว่าปกติ แต่หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามอาจแสดงสัญญาณเตือนออกมา เช่น
- มีตกขาว เลือด หรือของเหลวที่ผิดปกติไหลลออกทางช่องคลอด
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมามาก นานผิดปกติ หรือมากะปริบกะปรอย
- ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
- ปัสสาวะขัดหรือเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระลำบาก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
- ขาบวม ซึ่งเป็นสัญญาณของการลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง
หากพบความผิดใด ๆ ในข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
5. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทำได้หลายวิธี ไม่ใช่แค่ตรวจภายใน
ตอบ: การตรวจภายในถือเป็นวิธีพื้นฐานในการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในระบบสืบพันธ์ุหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน ไม่เฉพาะแค่ค้นหาสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น แต่รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะนี้ด้วย
ส่วนการคัดกรองมะเร็งปากมูดลูกจะเป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาและชีวโมเลกุล ซึ่งมีด้วยกันอยู่ 3 วิธีหลัก ได้แก่
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear, Pap test) เป็นการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติระยะก่อนลุกลามเป็นมะเร็ง โดยแพทย์จะใช้ไม้พายเก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูก และนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้เป็นวิธีพื้นฐาน ความแม่นยำอาจไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวิธีอื่น
การตรวจตินเพร็พ (Thin Prep)
วิธีนี้จะตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ผ่านการเก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูกด้วยเครื่องมือแพทย์ที่สอดเข้าไปในช่องคลอด มีความแม่นยำกว่าการตรวจแปปสเมียร์ แต่ไม่สามารถระบุสายพันธ์ุที่ติดเชื้อได้
การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA test)
จะช่วยตรวจหาและระบุสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและผนังมดลูก โดยจะเก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ นำใส่ขวดน้ำยา และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ
การตรวจหาเชื้อเอชพีวีด้วยวิธี HPV DNA มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีอื่น สามารถบอกสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ได้ และตรวจพบเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งผู้หญิงที่พบได้บ่อยอันดับต้น ๆ และผู้หญิงทุกคนก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค สิ่งสำคัญคือ การหมั่นดูแลตัวเองและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ หากพบสัญญาณของมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้รีบไปตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งตรวจเจอเร็ว ก็ยิ่งรักษาได้เร็ว
ไม่มีอาการ… ก็ใช่ว่าจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก เริ่มคัดกรองและป้องกันตั้งแต่ตอนนี้ HDmall.co.th คัดครบทั้งแพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV คลิกที่นี่ และแพ็กเกจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิง คลิกที่นี่เลย โปรราคาพิเศษ พร้อมส่วนลดดี ๆ ห้ามพลาด!