ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมลง อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคตามวัยมากขึ้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งการตรวจสุขภาพในวัยนี้มักจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด และตรวจในบางรายการเพิ่มเติมกว่าวัยอื่น เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงตามวัย บทความนี้ HDmall ได้รวบรวมข้อมูลการตรวจสุขภาพว่ามีความสำคัญอย่างไรกับผู้สูงอายุ แล้วรายการตรวจสุขภาพจำเป็นมีอะไรบ้าง และต้องเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย
สารบัญ
การตรวจสุขภาพจำเป็นแค่ไหนในวัยสูงอายุ
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่สภาพร่างกายเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ความแข็งแรงของร่างกายมีน้อยลง ละมักมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าวัยอื่น จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยตรวจเช็กสภาพร่างกายว่ายังแข็งแรงดี มีแนวโน้มความเจ็บป่วยหรือไม่แล้ว ยังช่วยประคับประคองโรคที่เป็นอยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวอีกด้วย
แม้สุขภาพจะแข็งแรงดี ผู้สูงอายุควรรับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะบางโรคอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นระยะแรก หรือผู้สูงอายุบางคนอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคโดยไม่รู้ตัว และแน่นอนว่า อาจต้องรับการตรวจในบางรายการมากกว่าวัยรุ่นและวัยทำงาน
ก่อนตรวจสุขภาพ ผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพในวัยผู้สูงอายุมีการเตรียมตัวเหมือนกับช่วงวัยอื่น ๆ ดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง
- กรณีต้องตรวจหาน้ำตาลและไขมันในเลือด ให้งดอาหาร เครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ยกเว้นน้ำเปล่า
- หากมีโรคประจำตัวต้องใช้ยาเป็นประจำ ไม่ต้องงดยา แต่ให้นำยาไปในวันตรวจสุขภาพด้วย เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ
- วันที่เข้ารับการตรวจสุขภาพ ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือด และการตรวจร่างกาย
ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุจะเหมือนกับช่วงอายุอื่น ๆ เพียงแต่จะมีการตรวจที่ถี่ขึ้น และตรวจบางรายการเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมกับความเสี่ยงตามวัยมากขึ้น หลัก ๆ การตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป ประกอบด้วยรายการตรวจดังนี้
การซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป
ก่อนการตรวจสุขภาพทุกครั้งจะมีการสอบถามประวัติสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อคัดกรองความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงของโรคเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นอายุ ประวัติของคนในครอบครัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไปประกอบไปด้วยการวัดน้ำหนัก วัดส่วนสูง หาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิต รวมถึงมีการวัดความยาวแขนด้วย เพราะร่างกายของผู้สูงอายุเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น หลังโก่ง กระดูกหัก ทำให้ความสูงไม่คงที่
การตรวจตา
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการมองเห็นหรือโรคทางสายตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ภาวะจอรับภาพเสื่อม สายตาสั้น สายตายาว แต่โรคที่น่ากังวล คือ ต้อหินที่อาจทำให้ตาบอดได้เมื่อได้รับการรักษาช้า จึงแนะนำให้ตรวจสายตาทุก 2-4 ปีในช่วงอายุ 60-64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
การตรวจหู
ผู้สูงอายุมักมีภาวะหูหนวก หูตึง สาเหตุพบบ่อยเกิดจากหูชั้นนอกอุดกั้นจากขี้หูอุดตัน ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ (Presbycusis) และภาวะประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมาก โดยสองสาเหตุหลังจำเป็นต้องรับได้การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ จึงมักไม่ได้ตรวจในการตรวจพื้นฐาน ส่วนใหญ่จะตรวจเฉพาะหูชั้นนอกอุดกั้นจากขี้หูอุดตัน โดยใช้เครื่องมือส่องเข้าไปในหู หากพบความผิดปกติจะสามารถรักษาได้เลย
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจการได้ยินง่าย ๆ ด้วยวิธี Finger Rubbing Test คือ ให้ผู้สูงอายุใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลางถูกัน โดยมีระยะห่างจากหูประมาณ 1 ฟุต ในห้องเงียบ ๆ แล้วสังเกตว่าผู้สูงอายุได้ยินเสียงถูนิ้วชัดเจนหรือไม่
การตรวจช่องปาก
ผู้สูงอายุควรเข้าตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือปีละ 1 ครั้ง โดยปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อย เช่น การสูญเสียฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ รวมถึงปัญหาการกลืน การสำลัก หรือมีโอกาสเกิดความเสี่ยงมะเร็งช่องปาก ซึ่งเป็นปัญหาที่มีกระทบสุขภาพและคุณภาพชีวิตรุนแรง
การตรวจผิวหนัง
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านผิวหนัง เช่น การติดเชื้อราที่ผิวหนัง มะเร็งของผิวหนัง ผื่นแพ้ยา ภาวะผิวแห้ง ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัยและรักษาเป็นรายคน
การประเมินความเสี่ยงโรคต่าง ๆ
ผู้สูงอายุควรได้รับการประเมินสภาวะสุขภาพที่จำเป็น เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น
- สมรรถภาพในการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน
- ภาวะโภชนาการ เพื่อดูว่าผู้สูงอายุได้รับอาหารที่เหมาะสม ทั้งปริมาณและความครบถ้วนของสารอาหาร
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
- โรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
- สมรรถภาพการทำงานของสมอง
- ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
- ภาวะซึมเศร้า หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้าจะได้รับเข้ารักษาที่ถูกต้อง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจระดับไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรตรวจทุกปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือตรวจภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง ดูความเข้มข้นของเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
- การตรวจเลือดดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต และป้องกันโรคไต
- การตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจอุจจาระ ควรตรวจทุกปี ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งที่จำเป็น
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ผู้หญิงควรตรวจทุก 1 ปี จนถึงอายุ 69 ปี
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) ผู้หญิงควรตรวจปีละ 1 ครั้ง แต่หากผลการตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปีก็สามารถเปลี่ยนเป็นตรวจทุก 3 ปีได้ และให้ตรวจไปจนถึงอายุ 65 ปี
- การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรตรวจอุจจาระปีละ 1 ครั้ง การตรวจด้วยการส่องกล้องทุก 5 ปี และตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดทุก 10 ปี
การตรวจสุขภาพเป็นประจำเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยิ่งต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียด เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรค การได้รับการตรวจและคำแนะนำจากแพทย์ จึงเป็นเรื่องที่ดี
หาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคาดูก่อน HDmall.co.th มีให้พร้อม จ่ายครบหรือจ่ายผ่อนก็เลือกได้ แถมได้ส่วนลดทุกครั้งที่จอง คลิกเลย หรือ ไม่แน่ใจเลือกแพ็กเกจแบบไหนให้ครอบคลุม แต่ละรายการตรวจ มีอยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพแบบไหน ปรึกษากับแอดมินทางไลน์ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่นี่