รู้หรือไม่ว่า มีภาวะหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเฝ้าระวังไว้ นั่นคือ “ภาวะท้องนอกมดลูก” แม้จะไม่พบได้บ่อย แต่หากเกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย
มาทำความรู้จักกับภาวะท้องนอกมดลูกให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ อาการเตือน ความเสี่ยง และวิธีป้องกัน เพื่อให้คุณแม่ดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ได้ปลอดภัยมากที่สุด
สารบัญ
ภาวะท้องนอกมดลูก คืออะไร
ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นภาวะที่ตัวอ่อนที่ผ่านปฏิสนธิแล้ว ไม่ได้ฝังตัวในโพรงมดลูกตามปกติ แต่กลับไปฝังตัวอยู่ที่ตำแหน่งอื่น ทำให้ทารกไม่สามารถเจริญเติบโตจนคลอดได้ตามปกติ และยังเป็นอันตรายกับตัวคุณแม่ด้วย
โดยตำแหน่งพบบ่อยที่สุด คือ “ท่อนำไข่” หรือ “ปีกมดลูก” คิดเป็นประมาณ 90% ของกรณีทั้งหมด และยังอาจเกิดที่รังไข่ ปากมดลูก หรือแม้แต่ในช่องท้อง ซึ่งล้วนไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์
สาเหตุของภาวะท้องนอกมดลูก
โดยปกติแล้ว เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปฝังตัวที่ผนังมดลูก แต่กรณีของภาวะท้องนอกมดลูกนั้น ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วกลับไปฝังตัวภายนอกโพรงมดลูกแทน เนื่องจากท่อนำไข่มีลักษณะผิดรูป เกิดการตีบตัน หรือได้รับความเสียหายจากหลายสาเหตุ เช่น
- มีพังผืดในท่อนำไข่หรือท่อนำไข่ติดเชื้ออักเสบจากการผ่าตัด
- ท่อนำไข่ได้รับความเสียหายจากโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้หรือหนองในเทียม
- ท่อนำไข่มีรูปร่างผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
- มีก้อนหรือเนื้องอกในท่อนำไข่
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะท้องนอกมดลูก เช่น ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี การสูบบุหรี่ การทำหมันถาวร การทำเด็กหลอดแก้ว การใช้ยาหรือฮอร์โมน อย่างยาคุมฉุกเฉิน หรือห่วงอนามัย (IUD)
สัญญาณเตือนของภาวะท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกจะมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ปกติในช่วงแรก เช่น ประจำเดือนขาด อ่อนเพลีย คัดเต้านม พอเวลาผ่านไปจะมีบางอาการที่แตกต่าง และมีสัญญาณเตือนสำคัญ ดังนี้
- ปวดท้องน้อย อุ้งเชิงกราน และหลังส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดร้าวไปถึงบริเวณทวารหนัก ต้นขา คอหรือไหล่
- มีเลือดออกทางช่องคลอด เลือดอาจออกกะปริบกะปรอย เล็กน้อย หรือออกปริมาณมาก
- ผิวซีด อ่อนแรง เวียนศีรษะ
- หน้ามืด เป็นลม
- อาจเกิดภาวะช็อก
ภาวะท้องนอกมดลูกเป็นเหตุฉุกเฉินทางสูติกรรมที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว หากเกิดอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะท้องนอกมดลูก ต้องรีบพบแพทย์ทันที
ท้องนอกมดลูกตรวจด้วยวิธีไหน เจอตอนกี่สัปดาห์
ภาวะท้องนอกมดลูกมักเกิดขึ้นในช่วง 2–3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งตัวคุณแม่เองอาจยังไม่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ และอาจยังไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งอายุครรภ์ 7–8 สัปดาห์เป็นต้นไป ถึงเริ่มสังเกตอาการได้ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณแม่มักตรวจพบภาวะท้องนอกมดลูกตอนไปพบแพทย์ระหว่างการฝากครรภ์ เบื้องต้นจะมีการสอบถามประวัติประจำเดือน และอาการต่าง ๆ ว่าผิดปกติหรือไม่ ร่วมกับการตรวจต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน เช่น
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อทดสอบการตั้งครรภ์
- การตรวจอัลตราซาวด์บริเวณหน้าท้อง และช่องคลอด จะแสดงภาพการตั้งครรภ์ในมดลูก และตรวจการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับฮอร์โมน hCG ที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีระดับฮอร์โมน hCG ผิดปกติ มักมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การตรวจภายใน หากคุณแม่มีอาการเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน
การตรวจในช่วงไตรมาสแรกหรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะท้องนอกมดลูกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้คุณแม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และปลอดภัย
การรักษาภาวะท้องนอกมดลูก
แพทย์จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ทันทีเมื่อตรวจพบว่าตั้งครรภ์นอกมดลูก เพราะเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
แพทย์จะให้ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่เจริญเติบโตได้ หากใช้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดการฉีกขาดของท่อนำไข่ อาจเปลี่ยนไปใช้การผ่าตัดแทน
การผ่าตัดอาจเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อนำตัวอ่อนออกมาแล้วเย็บปิดท่อนำไข่ หากท่อนำไข่เกิดความเสียหาย อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกมาด้วย
นอกจากนี้ หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะท้องนอกมดลูก จำเป็นต้องรักษาอื่น ๆ ตามอาการ เช่น เสียเลือดมากจนเกิดอาการช็อกจะรักษาด้วยการให้เลือดทดแทน หรือเกิดการอักเสบจนติดเชื้อจะได้รับยาปฏิชีวนะ และยาลดอาการอักเสบ
คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มไหนเสี่ยงท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
- ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก หรืออายุ 35 ปีขึ้นไป ระบบสืบพันธุ์อาจเปลี่ยนแปลงไปหรือทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม
- มีประวัติเป็นท้องนอกมดลูกมาก่อน มักมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้สูงกว่าคนทั่วไป
- มีภาวะมีบุตรยากหรือภาวะไม่เจริญพันธุ์ มักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์
- เคยผ่าตัดท่อนำไข่ ช่องท้อง หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจทำให้ท่อนำไข่เสียหาย เพิ่มโอกาสการท้องนอกมดลูกมากขึ้น
- มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ทำให้ขนเล็ก ๆ ที่ลำเลียงไข่ที่ปฏิสนธิแล้วถูกทำลาย ไข่จึงไม่ถูกส่งไปยังโพรงมดลูกตามปกติ หรือการติดเชื้อทำให้เกิดแผลเป็น จนกีดขวางการลำเลียงของไข่
- มีประวัติเคยเป็น หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม หรือโรคติดต่ออื่น ๆ ทำให้ท่อนำไข่อักเสบหรือเกิดพังผืด
การป้องกันภาวะท้องนอกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูกป้องกันไม่ได้ แต่ลดความเสี่ยงลงได้ โดยปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ถึงความเสี่ยงที่มี และควรเข้ารับฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์ติดตามการเติบโตของครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ
นอกจากนี้ อาจลดปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูกด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและโรคทางเพศสัมพันธ์ ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายเป็นประจำ
เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อย ดูแลเร็ว ปลอดภัยทุกขั้นตอนด้วย แพ็กเกจฝากครรภ์ คลอดบุตร โปรแรงจากรพ.ชั้นนำทั่วประเทศ จองเลยที่ HDmall.co.th