difference of type 1 type 2 diabetes disease definition scaled

ความต่างของเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 พร้อมสัญญาณเตือนโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs (Non-communicable diseases) ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ติดต่อและเกิดจากพฤติกรรมของเราเอง หลายคนเรียก “เบาหวาน” กันจนติดปาก แต่เบาหวานที่ว่านั้นคือเบาหวานไหน? เบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2

แล้วเบาหวานทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกันอย่างไร มีอาการเตือนตั้งแต่ระยะแรกไหม บทความนี้จะชวนมาแยกความต่างของเบาหวาน พร้อมแจงอาการเตือนโรคเบาหวานที่ควรเฝ้าระวังกัน  

โรคเบาหวาน คืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง 

เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เลย หรือผลิตออกมาไม่เพียงพอ ร่วมกับมีภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดไม่ถูกดึงไปใช้เป็นพลังงานตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้น้ำตาลในเลือดสะสมสูงเกินค่าปกติ 

โดยค่าน้ำตาลในเลือดของคนทั่วไปจะอยู่ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานจะอยู่ประมาณ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหรือสูงกว่านั้น

ปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่เพียงก่อให้เกิดโรคเบาหวาน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นประสาทถูกทำลาย เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต เบาหวานที่เท้า ปัญหาผิวหนัง หรือมีปัญหาการได้ยิน

ภาพจำของใครหลายคนอาจเป็นคนมีอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเสียส่วนใหญ่ และมักลงเอยด้วยการตัดอวัยวะส่วนใดส่วนนึง แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเบาหวานแล้วจะถูกตัดอวัยวะ 

ยิ่งถ้าควบคุมการรับประทานอาหาร ใช้ยาควบคุมน้ำตาลในเลือด และดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือต้องตัดอวัยวะทิ้งก็ลดลง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็จะดีในระยะยาวด้วย  

เบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ต่างกันอย่างไร

โรคเบาหวานนั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่จะยกมาพูดกันในวันนี้จะเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นชนิดหลักและพบได้บ่อย โดยเบาหวานทั้ง 2 ชนิดนี้ จะมีความต่างในแง่สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes)

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบได้น้อย ประมาณ 5-10% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด จัดเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease) ประเภทหนึ่ง 

สาเหตุหลักเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันได้ทำลายเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินในตับอ่อนโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินจะช่วยแปลงน้ำตาลให้เป็นพลังงาน เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ทำให้น้ำตาลถูกสะสมอยู่ในเลือด 

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนใหญ่จะพบในเด็กและวัยรุ่น ในช่วงอายุ 4-7 ปี และ 10-14 ปี แต่สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ โดยปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่

  • มีคนในครอบครัวเคยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มาก่อน
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด  

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดถึง 90-95% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด

สาเหตุหลักเกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ร่วมกับมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้ไม่ดี น้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน จึงส่งผลให้น้ำตาลสะสมอยู่ในเลือด 

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะพบในวัยผู้ใหญ่วัยกลางคน อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ช่วงวัยอื่นก็พบได้แต่จะน้อยกว่า โดยปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่

  • คนในครอบครัวเคยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มาก่อน
  • คนที่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดทารกน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม 
  • คนที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) 
  • น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ เป็นโรคอ้วน หรือมีไขมันสะสมในช่องท้องมาก
  • ขาดการออกกำลังกาย หรือออกกำลังน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์เป็นประจำ โดยเฉพาะอาหารน้ำตาลสูง
  • ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  • ปริมาณฮอร์โมนไม่สมดุล
  • การใช้ยาบางชนิด

จะเห็นได้ว่าเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังได้เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงความผิดปกติในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน และปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดโรค

โดยชนิดที่ 1 ร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ มักเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อมภายนอก

ส่วนชนิดที่ 2 ร่างกายสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอ ร่วมกับมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ไม่ดีพอ มักเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีมาเป็นเวลาหลายปี ร่วมกับมีความเสี่ยงจากปัจจัยด้านกรรมพันธุ์นั่นเอง 

สัญญาณเตือนเบาหวานที่ควรระวัง 

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มักเกิดอาการเฉียบพลันและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ภายในไม่กี่สัปดาห์หรือเดือน 

ส่วนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักไม่พบอาการแสดงออกมา แต่จะค่อย ๆ พัฒนาอาการอย่างช้า ๆ จนบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นเบาหวานกระทั่งพบภาวะแทรกซ้อนตามมา 

โดยทั่วไปเบาหวานทั้ง 2 ชนิด ก่อให้เกิดอาการที่คล้ายกัน ดังนี้

  • กระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย ปากแห้ง
  • หิวบ่อยหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะในปริมาณมาก
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย
  • รู้สึกหงุดหงิด หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
  • สายตาพร่ามัว
  • แผลหายช้า
  • ชาหรือเหมือนมีเข็มทิ่มปลายมือหรือเท้า
  • เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือช่องปาก
  • ในเด็กอาจปัสสาวะรดที่นอนจากที่ปกติไม่เคยทำ
  • ในผู้ชายจะพบปัญหาฮอร์โมนเพศและสมรรถทางเพศ
  • ในผู้หญิงมีปัญหาติดเชื้อในช่องคลอด คันผิดปกติ ตกขาวปริมาณมาก

หากพบสัญญาณอาการเบาหวานตามที่ยกมา ก็ควรรีบไปตรวจคัดกรองโรคเบาหวานโดยเร็ว 

ยิ่งได้รับการรักษาที่เหมาะสม ควบคู่กับการดูแลตัวเอง ทั้งการออกกำลังกายและการควบคุมอาหารอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุมน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะโรคหัวใจ เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ก็จะลดน้อยลง  

เบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 อาจมีสาเหตุการเกิดที่ต่างกัน แต่ก็เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีใครอยากจะเป็น แม้เบาหวานชนิดที่ 1 จะยากต่อการป้องกัน แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมมันได้ 

และหากเราใส่ใจดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญคือ ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

ไม่ได้ออกกำลังกายเลยใช่ไหม เพิ่งทานของหวานแสนอร่อยมาด้วยหรือเปล่า? ก่อนโรคเบาหวานจะถามหา เตรียมหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวานไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า จองกับ HDmall.co.th ได้โปรดี ๆ แถมมีส่วนลดเพิ่มทุกครั้ง คลิกที่นี่เลย!

 

Scroll to Top