depression disease misunderstanding scaled

หยุดเข้าใจผิดเรื่องซึมเศร้า! กับ 8 ความเชื่อที่อาจทำร้ายคุณ

ทุกคนเคยมีวันที่รู้สึกเศร้าหรือหดหู่ แต่บางคน ความเศร้ากลับกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมชีวิต 

“โรคซึมเศร้า” เป็นภาวะที่ซับซ้อนและมีผลกระทบต่อทุกด้านของการดำเนินชีวิต ทว่า ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ทำให้เราเข้าใจโรคไม่ถูกต้อง และส่งผลต่อการเข้ารับการรักษาด้วย 

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับโรคซึมเศร้าและ 8 ความเชื่อที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนที่ถูกต้อง

1. โรคซึมเศร้า คือ โรคจิต เป็นบ้า?

ข้อเท็จจริง: ไม่ใช่ โรคจิตทางการแพทย์จะเป็นอาการเจ็บป่วยทางสมอง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของความคิดและการรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง 

เช่น มีอาการหลอน ได้ยินเสียงคนนินทาหรือสั่งให้ทำอะไรบางอย่าง คิดไปเองว่ามีคนมาทำร้าย หรือตัวเองเป็นผู้วิเศษ อาการมักเป็นเรื้อรัง

ส่วนโรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองหลายชนิดไม่สมดุลกัน เช่น ซีโรโตนิน (Serotonin) นอร์เอปิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ ทั้งทางด้านอารมณ์และทางด้านความคิดอย่างต่อเนื่อง จนกระทบกับการใช้ชีวิต

เช่น อารมณ์เปลี่ยนไปจากปกติ รู้สึกตัวเองไร้ค่า เศร้าซึม ท้อแท้ หงอยเหงา ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย มีปัญหาในการกินและการนอน 

หากเรียกให้ถูก “โรคซึมเศร้าก็คือโรคทางอารมณ์นั้นเอง ไม่ใช่โรคจิต หรือเป็นบ้าแบบที่หลายเข้าใจ” 

2. คนเป็นโรคซึมเศร้า คือ คนอ่อนแอ 

ข้อเท็จจริง: โรคซึมเศร้าเป็นอาการเจ็บป่วยเช่นเดียวกับโรคทางกายอื่น ๆ แต่เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดกับจิตใจของเรา และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเหมือนกัน

นอกจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้นให้เป็นซึมเศร้าได้ ทั้งกรรมพันธุ์ ลักษณะนิสัยส่วนตัว และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อย่างความเครียดสะสม และความกดดันจากการเรียนหรือการทำงาน 

การมองว่าคนเป็นโรคซึมเศร้า คือ คนอ่อนแอ คิดมาก หรือไม่สู้ปัญหา เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะอาการเหล่านั้นเกิดมาจากตัวโรคต่างหาก 

เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็สามารถหายได้ กลับมามีสภาพจิตใจปกติ แจ่มใส ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้เหมือนปกติ

3. ยาต้านเศร้าทำให้คนเสพติด ติดยา

ข้อเท็จจริง: ยาต้านเศร้าจะช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะกับอาการของโรค และปรับการใช้ยาเป็นระยะ จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเสพติดยาหรือติดยาจากการรักษา

สิ่งที่น่ากังวลกว่า คือ การกินยาไม่ต่อเนื่อง ไม่ครบโดส ยิ่งทำให้รักษายากมากขึ้น ไม่ได้ผลดี และอาจใช้เวลารักษายาวนานกว่าเดิม ฉะนั้น ผู้ป่วยควรกินยาให้ต่อเนื่อง และทำตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีที่สุด

4. โรคซึมเศร้าหายได้ โดยไม่ต้องกินยา หรือหาหมอ

ข้อเท็จจริง: โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่อาจไม่จำเป็นต้องกินยาทุกคน โดยแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้ประเมินว่าควรรักษาแบบใด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และการตอบสนองของผู้ป่วย

การรักษาโรคซึมเศร้ามีอยู่หลายวิธี ตั้งแต่การรักษาด้วยจิตบำบัด การใช้ยาหลายชนิด การรักษาอื่น ๆ อย่างการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS (Transcranial magnetic stimulation) โดยผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแต่ละวิธีไม่เหมือนกัน 

การรักษาโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลาและความอดทน ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับแพทย์ และทำคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงครอบครัวและคนรอบข้างก็ควรให้กำลังใจ และสนับสนุนผู้ป่วยด้วย ซึ่งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

5. กินยาต้านเศร้าแล้ว อาการดีขึ้นเลย

ข้อเท็จจริง: หลายคนอาจเข้าใจว่ากินยาแล้วอาการดีขึ้นเลย หรือใช้เวลาไม่นานหลังกินยา จริง ๆ แล้ว อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป บางรายอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือน อาการถึงจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

อีกทั้งยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งได้หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มออกฤทธิ์ต่างกัน ผู้ป่วยอาจตอบสนองกับยาแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน แพทย์จะต้องปรับขนาดยาเป็นระยะ และเลือกชนิดของยาให้เหมาะกับผู้ป่วย 

หากเกิดปัญหาที่คิดว่าอาจเกิดจากยา หรือปัญหาอื่น ๆ ในระหว่างรักษาควรสอบถามแพทย์ทุกครั้ง

6. เป็นซึมเศร้าแล้วดื้อยา กินยาไม่ได้ หมดโอกาสรักษา

ข้อเท็จจริง: ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ดื้อยา หรือมีข้อห้ามในการใช้ยา  

การรักษาด้วย TMS เป็นการกระตุ้นสมองด้วยการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านหนังศีรษะ เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กจนเกิดกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นเซลล์สมอง จึงช่วยลดอารมณ์เศร้า ความกังวล ความคิดอยากตาย และเพิ่มความจำในผู้ป่วย 

นอกจากนี้ การรักษาด้วย TMS ยังมีผลข้างเคียงต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายน้อยกว่าการใช้ยา ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบเดิม

7. ซึมเศร้าไปเข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ หายได้

ข้อเท็จจริง: คนเป็นโรคซึมเศร้านั้นเกิดจากความผิดปกติของสมดุลสารเคมีในสมอง ต่างคนต่างมีสาเหตุการเกิดโรคต่างกันไป ทั้งพันธุกรรม เหตุการณ์กระทบจิตใจบางอย่าง สภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง เครียดง่ายจากมรสุมในชีวิต และอีกหลายปัจจัย

อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยไม่ได้เป็นอาการที่เกิดชั่วคราวแบบอารมณ์เศร้าของคนทั่วไป การแนะนำให้ผู้ป่วยไปเข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ จึงไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ได้รักษาโรคซึมเศร้าตรงจุด 

พอผ่านไประยะหนึ่ง อาการซึมเศร้าจะรุนแรงและยาวนานมากขึ้น ทางออกที่ดี คือ ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม คนที่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนและอาการซึมเศร้ายังไม่รุนแรง การใช้ธรรมะเข้ามาช่วยเยียวยาอาการไปพร้อมกับการรักษาหลักจากแพทย์ ก็มีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพใจให้ดีขึ้นได้ 

8. ห้ามพูดโรคซึมเศร้ากับผู้ป่วย ผู้ป่วยจะเศร้ามากขึ้น

ข้อเท็จจริง: การพูดคุยเรื่องโรคซึมเศร้า แสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจ ใส่ใจ และพร้อมจะ

ช่วยเหลือผู้ที่เผชิญกับโรคซึมเศร้า เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ฟังพวกเขาด้วยใจ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก สร้างความหวังและให้กำลังใจ บอกพวกเขาว่าคุณอยู่เคียงข้างเสมอ 

แต่ก็ควรระวังการใช้คำพูดกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความคิดที่แตกต่างจากคนปกติ บางครั้ง “คำพูด” อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีแก่ผู้ป่วย หรืออาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยคิดสั้น โดยเฉพาะคำพูดปลุกใจที่แสดงถึงความสงสาร ความกดดัน หรือความคาดหวังกับอาการป่วย  

ตัวอย่างประโยคหรือคำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดเด็ดขาด เช่น 

  • จะรู้สึกดีกว่านี้ถ้า…  
  • เข้มแข็งหน่อย อย่าอ่อนแอสิ
  • รู้หรือเปล่า มีคนอื่นที่แย่กว่านะ
  • คิดถึงแต่เรื่องดี ๆ สิ
  • อย่าคิดมาก เดี่ยวมันก็ดีขึ้น
  • สู้ ๆ นะ

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยต้องการเพียงคนรับฟังและเข้าใจ การกอดกัน หรือช่วยทำสิ่งต่าง ๆ ก็เพียงพอแล้ว

หยุดความทุกข์ใจวันนี้! ทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยามืออาชีพของเราพร้อมรับฟังคุณ ไม่ว่าคุณจะเผชิญอะไร กับโปรแกรมปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ HDmall.co.th ​สอบถามเพิ่มเติม จองคิวคุณหมอ หรือแนะนำแพ็กเกจ ถามแอดมินทางไลน์ได้เลย ที่นี่

Scroll to Top