รู้หรือไม่? ในประเทศไทย “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะคนอายุ 50 ปีขึ้นไป โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรกส่วนมากจะไม่แสดงอาการ แต่มักจะแสดงอาการในช่วงระยะที่เป็นมากแล้ว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นโรคร้ายที่ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยอีกโรค แต่ก็ใช่ว่าโรคนี้จะตรวจได้ยากหรือไม่มีทางป้องกันเลย วันนี้ HDmall ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาฝาก จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย!
สารบัญ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องจนควบคุมไม่ได้ ในระยะแรกมักเกิดจากการเป็นเพียงติ่งเนื้องอกเล็กๆ ที่เรียกว่า “โพลิป” (Polyp) หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาหรือตัดทิ้ง ติ่งเนื้อเล็ก ๆ นี้ อาจกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ในที่สุด
อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นแบบไหน
มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้มีอาการชัดเจน หรือบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยได้เช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังป่วย โดยอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มักพบได้ มีดังนี้
- ขับถ่ายผิดปกติ มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก ถ่ายมากหรือน้อยกว่าปกติ ถ่ายได้ไม่สุด
- ลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น อุจจาระมีลักษณะลีบเป็นลำเล็ก หรือเป็นเม็ด อุจจาระปนเลือด
- มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ไม่สบายท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็ง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือคลำพบก้อนที่ท้อง
- น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย อ่อนแรง
- มีภาวะโลหิตจาง
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
ในปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำมาสู่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยแบ่งปัจจัยเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
ปัจจัยความเสี่ยงจากตัวบุคคล
- อายุ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ราว 90% มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็พบในคนอายุน้อยได้เช่นกัน
- พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอาจจะเกิดจากพันธุกรรม หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน โดยเฉพาะญาติสายตรงลำดับแรก คือ พ่อแม่ พี่น้อง และลูก
- มีประวัติเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสูงขึ้นในคนที่มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้
ปัจจัยความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม
- อาหาร การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง สัตว์เนื้อแดง หรืออาหารปิ้งย่าง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
- ไม่ออกกำลังกายและมีน้ำหนักเกิน การออกกำลังช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนตัวและทำงานมากขึ้น และยังพบว่าคนที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สูง
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของติ่งเนื้อ ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ทำให้คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนไม่สูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ แอลกอฮอล์จะไปยับยั้งกระบวนการซ่อมแซมเซลล์ทำให้ทำงานได้ไม่ดี
คุณหรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยง อย่ารอให้มีอาการ หาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ราคาประหยัดกับ HDmall.co.th คลิกเลย!
การตรวจและวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่
แพทย์จะสอบถามประวัติและความเสี่ยงของโรค เช่น อาหารที่รับประทาน อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว และอื่น ๆ ร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้น และมีการใช้นิ้วตรวจทางรูทวารหนัก เพื่อคลำหาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก หลังจากนั้นจะมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเสี่ยงในการเกิดโรคของแต่ละคน เช่น
- การตรวจอุจจาระ เพื่อตรวจดูว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำที่สุด ช่วยให้เห็นภาพในลำไส้ใหญ่และทวารหนักทั้งหมด และแพทย์สามารถเก็บตัวอย่างติ่งเนื้อที่คาดว่าอาจเป็นมะเร็งออกมาตรวจหาเซลล์มะเร็งได้
- การส่องกล้องทางทวารหนัก (Sigmoidoscopy) เป็นการส่องกล้องดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่เฉพาะส่วนปลาย หากพบติ่งเนื้อ แพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจหาเซลล์มะเร็ง
- การใช้สารทึบแสงแบเรียมสวนเข้าทางทวารหนัก ร่วมกับการถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์ (Double Contrast Barium Enema: DCBE) จะใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีส่องกล้องได้
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Scan: CT Scan) เพื่อตรวจดูตำแหน่งและการกระจายของมะเร็งไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้
- การอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่ามะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ และช่วยเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งยังเป็นเพียงติ่งเนื้อ หรือเป็นมะเร็งที่ยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้
- ระยะที่ 1 มะเร็งผ่านเยื่อบุลำไส้ แต่อยู่ในภายในผนังของลำไส้ ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงและต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 4 มะเร็งลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับ ปอด
มะเร็งลำไส้ใหญ่ รักษาอย่างไร
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มักใช้หลายวิธีร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ประเมินแนวทางและวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยดูจากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งวิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มีดังนี้
การผ่าตัด เป็นการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ทำได้ทุกระยะของโรค มีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดแผลและการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะตัดเฉพาะลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นมะเร็งและเนื้อโดยรอบมะเร็งออก รวมถึงเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง และต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งอาจแพร่ไปได้ แพทย์มักใช้การผ่าตัดควบคู่ไปกับเคมีบำบัดและการฉายแสง
เคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ หรือเป็นยาชนิดรับประทาน เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าทางกระแสเลือด ยาเคมีบำบัดจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ หรือทำลายเซลล์มะเร็ง และป้องกันกลับมาเกิดซ้ำ แต่ตัวยาไม่ได้มีผลเฉพาะกับเซลล์มะเร็งเท่านั้น ยังส่งผลกับเซลล์ปกติและอวัยวะใกล้เคียง ทำให้ผู้ป่วยอาจเกิดผลข้างเคียงหลังการรักษา เช่น ผมร่วง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
การฉายรังสีรักษาหรือการฉายแสง (Radiotherapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยสามารถทำก่อนการผ่าตัด เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น หรือทำหลังการผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังคงเหลืออยู่ได้ มักให้ทำควบคู่กับการใช้เคมีบำบัด
ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการให้ยาที่เข้าถึงเซลล์มะเร็งอย่างตรงจุด โดยไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียงอื่น ๆ ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีผลข้างเคียงน้อย ส่วนมากจะใช้รักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้ตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งเอง วิธีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้ดีขึ้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่หลายคนกลัว เพราะเป็นโรคที่พบบ่อย เกิดได้กับทุกเพศ ไม่มีสาเหตุการเกิดแน่ชัด และยังไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม กว่าจะรู้ตัวโรคก็ลุกลามแล้ว ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคได้ รวมไปถึงควรลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารไขมันสูง สัตว์เนื้อแดง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ และที่สำคัญอย่าลืมไปตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอตามช่วงวัย เพราะการตรวจพบได้ก่อน ยิ่งในระยะแรก ๆ จะยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษาได้มากขึ้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ตรวจก่อน สบายใจก่อน หาทางป้องกันและเลี่ยงได้ก่อน หาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ราคาประหยัด พร้อมส่วนลดพิเศษมากมาย เฉพาะที่ HDmall.co.th คลิก หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักแชทได้เลย ที่นี่