ปวดก้นกบ ข้อมูล สาเหตุ การรักษา ป้องกัน scaled

ปวดก้นกบ ข้อมูล สาเหตุ วิธีรักษา การป้องกัน

กระดูกก้นกบ คือกระดูกส่วนล่างสุดของกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้ายหางของกระดูก ในวัยเด็ก กระดูกส่วนนี้จะเป็นข้อต่อ 4–5 ชิ้นที่เคลื่อนไหวจากกันได้ เมื่อโตขึ้น จึงค่อย ๆ เชื่อมติดจนขยับออกจากกันไม่ได้อีก

แม้จะไม่ได้ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวเหมือนกับข้อต่ออื่น ๆ แต่ก้นกบเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และเส้นเอ็น (Ligaments) จำนวนมาก 

ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นบริเวณหลังส่วนล่าง หรือสะโพกได้รับบาดเจ็บ ก็มักจะส่งผลให้เกิดอาการ “ปวดก้นกบ (Coccyx pain หรือ Coccydynia)” ได้

อาการปวดบริเวณก้นกบเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ ป้องกันอย่างไรดี บทความนี้จะพามาหาคำตอบกัน 

สารบัญ

ปวดก้นกบ เกิดจากอะไรได้บ้าง  

ก้นกบเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นเหล่านั้นหดรั้ง หรือตึงตัวมากกว่าปกติ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดก้นกบได้

อาการปวดก้นกบ พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2–3 เท่า โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนหรือกำลังตั้งครรภ์ 

นอกจากนี้ อุบัติเหตุ รูปร่าง พฤติกรรมในการใช้ชีวิต และปัญหาสุขภาพบางอย่าง ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดก้นกบได้ด้วย มีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ 

1. ปวดก้นกบจากอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุ เป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของอาการปวดก้นกบ เช่น หกล้มก้นกระแทก ลื่นล้ม หรือตกจากที่สูง บางรายอาจปวดรุนแรงมาก หรือถึงขั้นกระดูกก้นกบแตกได้ 

2. ปวดก้นกบจากการมีประจำเดือน

ในช่วงที่เป็นประจำเดือน ฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เส้นเอ็นยืดหรือหดตัวกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อระหว่างการเคลื่อนไหวทำงานได้ไม่สมดุล อาการปวดก้นกบจากสาเหตุนี้มักจะดีขึ้นเมื่อหมดรอบเดือนนั้น ๆ

3. ปวดก้นกบในผู้ที่มีครรภ์

นอกจากเรื่องของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงแล้ว น้ำหนักตัวที่มากขึ้น ขนาดของท้องที่ใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้จุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปด้วย  

ในช่วงที่ตั้งครรภ์ กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานจะทำงานหนักขึ้น เพราะต้องรับน้ำหนักของครรภ์ และเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด หรือระหว่างคลอด กระดูกเชิงกรานก็จะยิ่งขยายใหญ่มาก ๆ ทำให้เส้นเอ็นบริบริเวณนั้นยืดออก เป็นสาเหตุของอาการปวดก้นกบได้ 

4. ปวดก้นกบเพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป

ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมาก กลไกของอาการปวดจะคล้ายกับผู้ที่มีครรภ์ 

ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย มักจะทำให้มีบริเวณก้นมีไขมันและกล้ามเนื้อน้อย เมื่อนั่งเป็นเวลานาน ๆ น้ำหนักอาจกดทับลงบริเวณก้นกบ ส่งผลให้มีอาการปวดได้ 

5. ปวดก้นกบเพราะท่านั่งผิดปกติ 

ในท่านั่งหลังตรง จุดรับน้ำหนักของร่างกายจะอยู่ที่ปุ่มนั่งกระดูกก้น (Ischial tuberosity) มีลักษณะเหมือนเก้าอี้เล็ก ๆ 

ปุ่มนี้เป็นจุดรับน้ำหนักที่เหมาะสม แต่เมื่อนั่งผิดท่า โดยเฉพาะการนั่งตัวไหล ไหล่ห่อ น้ำหนักส่วนมากจะไปลงที่ก้นกบ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำหนัก จึงทำให้เกิดอาการปวดได้ 

ปวดก้นกบแค่ไหน ควรไปพบแพทย์ 

โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดก้นกบมักไม่รุนแรงจนก่อให้เกิดอาการชา ไม่ทำให้การทำงานของระบบปัสสาวะและอุจจาระรวน หรือถึงขั้นรบกวนการนอนหลับ 

แต่ถ้าพบอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้อาการรุนแรงได้ เช่น มะเร็งบางชนิด หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือติดเชื้อในช่องไขสันหลัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ชัดเจน และรับการรักษาต่อไป 

รักษาอาการปวดก้นกบอย่างไรดี  

รายงานชี้ว่า 90% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบ รักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการทำกายภาพบำบัด 

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่น ๆ อีก เช่น การฉีดยาสเตียรอยด์ การผ่าตัด การฝังเข็ม หรือการฉีดยาชา แต่วิธีเหล่านี้จะไปยับยั้งการทำงานของเส้นประสาท จึงไม่ค่อยนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบ 

การรักษาทางกายภาพมักมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การเปลี่ยนท่านั่งให้ถูกต้อง การควบคุมน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม 

รวมถึงการใช้อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น เบาะรองนั่ง หรือการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ก้นกบกลับมาทำงานได้อย่างสมดุล 

นอกจากนี้ การลดปวด เช่น การประคบร้อน การทำอัลตราซาวด์เพื่อลดปวด ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน 

แนะนำ ท่าออกกำลังกายแก้ปวดก้นกบ ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน 

การออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวดก้นกบ จะเน้นไปที่การยืดกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีท่าออกกำลังกายจำนวนมาก 

ลองมาดู 5 ท่าช่วยลดอาการปวดก้นกบ ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ดังนี้

1. ฝึกหายใจ ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic floor release)

  1. นอนหงาย อาจจะชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นหรือไม่ต้องก็ได้
  2. หายใจเข้าช้า ๆ ให้สุดปอด จนท้องป่องขึ้น โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย 
  3. กลั้นหายใจ ออกแรงเบ่งเบา ๆ เคลื่อนลมที่กักไว้ให้ไปในทิศทางของเชิงกราน 
  4. หายใจออกช้า ๆ ไม่ควรกลั้นหายใจนานไป ทำซ้ำ 5–10 ครั้ง

ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดก่อนออกกำลังกายด้วยวิธีนี้

2. ฝึกกล้ามเนื้อสะโพก (Piriformis stretching)

  1. นอนหงาย ชันเข่าขึ้น 
  2. ยกขาข้างที่ต้องการยืดสะโพกมาไขว้กับอีกข้างไว้ในลักษณะไขว่ห้าง
  3. ใช้มือกอดรัดต้นขาข้างที่อยู่ข้างล่างให้เข้ามาชิดกับอก ทำค้างไว้ 10–15 วินาที ทำซ้ำ 1–3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1–2 รอบ

3. ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring stretching)

  1. นอนหงาย ชันเข่า 
  2. ใช้มือสอดไปใต้ขาข้างที่ต้องการยืด แล้วยกเข่าเข้าหาลำตัวโดยที่เข่ายังงออยู่ 
  3. พยายามให้ฝ่าเท้าของเข่าข้างที่ชันอยู่แนบกับพื้นตลอดเวลา ทำค้างไว้ 10–15 วินาที ทำซ้ำ 1–3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1–2 รอบ

4. ยืดกล้ามเนื้อสะโพกด้านหน้า (Iliopsoas stretching)

  1. นั่งให้แก้มก้นวางพอดีกับขอบเตียง กอดเข่าหนึ่งข้าง
  2. ค่อย ๆ เอนตัวลงนอน จะรู้สึกตึงบริเวณสะโพกด้านหน้าของเข่าข้างที่ไม่ได้กอดไว้ ทำค้างไว้ 10–15 วินาที ทำซ้ำ 1–3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1–2 รอบ

5. ยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง (Cobra stretch)

  1. นอนคว่ำ 
  2. ค่อย ๆ เท้าแขนขึ้น โดยที่สะโพกทั้งสองข้างไม่ยกจากพื้น ค้างไว้ 10–15 วินาที ทำซ้ำ 1–3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1–2 รอบ

ถ้าออกกำลังกายตามคำแนะนำนี้แล้วปวดหลังหรือก้นกบมากขึ้น ควรหยุดออกกำลังกายทันที และให้ลองปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด 

ปวดก้นกบ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

สาเหตุหลักของอาการปวดก้นกบมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ การป้องกันอาการปวดก้นกบจึงไม่ใช่เรื่องยาก แค่ปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้ เช่น 

  1. ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม
  2. ไม่นั่งทำงานนาน ๆ เปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1–2 ชั่วโมง
  3. ปรับท่านั่งให้เหมาะสม ไม่นั่งตัวไหล ไหล่ห่อ 
  4. นั่งเก้าอี้ที่ไม่แข็งไป ไม่นุ่มไป ถ้าแข็งไป ควรหาเบาะมารองก้น แต่ถ้านุ่มไป ให้ระวังการนั่งตัวไหล ไหล่ห่อ 
  5. ยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง สะโพก และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ

ปวดก้นกบ ปวดเนื้อปวดตัว รักษายังไงก็ไม่หาย ไม่ต้องกังวล HDmall จัดให้แล้ว! ลองเข้ามาดู แพ็กเกจกายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษา จองตอนนี้มีส่วนลด หรือถ้าหาอันไหนไม่เจอ แช็ตมาถามเราได้เลย คลิก


เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล

Scroll to Top