cholecystitis disease definition scaled

รู้ครบถุงน้ำดีอักเสบ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกัน

หากพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี หลายคนคงนึกถึงนิ่วในถุงน้ำดีเป็นอันดับแรกแน่ ๆ แต่รู้ไหมว่ายังมีปัญหาที่เราควรใส่ใจไม่แพ้กันคือ ถุงน้ำดีอักเสบ บทความนี้ได้รวมรวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับถุงน้ำดีอักเสบมาให้ครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการ สาเหตุ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันถุงน้ำดีอักเสบ มาสังเกตตัวเองไปพร้อมกันเลยดีกว่า! 

ถุงน้ำดีอักเสบ คืออะไร

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบย่อยอาหาร มีลักษณะคล้ายลูกแพร์ ตำแหน่งอยู่บริเวณช่องท้องด้านขวาใกล้กับตับ ทำหน้าที่เหมือนจุดพักน้ำดี (Bile) ที่ผลิตจากตับ และส่งน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก เพื่อเอาไปใช้ในการย่อยอาหารจำพวกไขมัน 

ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) เป็นปัญหาที่เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำดี ทำให้น้ำดีไหลไปสู่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ไม่ได้ ความดันในถุงน้ำดีจะเพิ่มขึ้นจนถุงน้ำดีบวมและอักเสบ การอักเสบนั้นเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยประเภทเฉียบพลันมักก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงมากกว่า ส่วนประเภทเรื้อรัง อาการอาจไม่รุนแรงเท่า แต่สามารถอักเสบซ้ำได้บ่อยกว่า 

เมื่อถุงน้ำดีควรได้รับการรักษาหรือผ่าตัดนำถุงน้ำดีอักเสบออกโดยเร็ว เพราะไม่เพียงส่งผลต่อถุงน้ำดี แต่กระทบต่อระบบย่อยอาหารทั้งหมด และการไหลเวียนของเลือด หากปล่อยทิ้งไว้อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อในถุงน้ำดี เนื้อเยื่อในถุงน้ำดีตาย (Gangrene) ถุงน้ำดีฉีกขาดหรือแตก ตับอ่อนอักเสบ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ  

อาการถุงน้ำดีอักเสบ สังเกตได้อย่างไร 

ถุงน้ำดีอักเสบมักก่อนให้เกิดอาการในระบบย่อยอาหาร แต่ละคนก็อาจมีอาการต่างกันไป เช่น 

  • ปวดท้องตรงกึ่งกลางหรือใต้ชายโครงขวาอย่างรุนแรง ในลักษณะปวดแปลบ ปวดตื้อ หรือปวดเกร็ง และอาจแย่ลงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ 
  • อาการปวดอาจลามไปถึงหลังหรือหัวไหล่ด้านขวา 
  • มักปวดท้องหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรือมีไขมันเยอะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • มีไข้
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • ปวดเกร็งท้อง 
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง  

อาการถุงน้ำดีอักเสบใกล้เคียงกับอาการจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เมื่อพบอาการในข้างต้น หรืออาการที่เป็นอยู่กระทบการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว

อาการเหมือนจะใช่ แต่บางทีก็ดูไม่ใช่ อย่าเสียเวลาเดาไปไกล รีบให้คุณหมอตรวจประเมินหรือค้นหาแพ็คเกจเอกซเรย์ช่องท้องที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ที่นี่ จองกับ HDmall.co.th ได้รับส่วนลดเพิ่มทุกครั้ง พร้อมแอดมินช่วยดูแลนัดหมาย อุ่นใจแน่นอน ทักเลย

สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบ

อย่างที่บอกว่าถุงน้ำดีอักเสบได้จากการอุดตันที่ท่อส่งน้ำดี ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ ก้อนนิ่วในถุงน้ำดี และสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากก้อนนิ่ว 

ถุงน้ำดีอักเสบจากนิ่ว (Calculous Gallbladder)

กว่า 95% ของผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบนั้นมีสาเหตุมากจากเจ้าก้อนนิ่วนี้ ไม่ว่าจะแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ตาม โดยก้อนนิ่วที่เกิดจากส่วนประกอบของน้ำดีอย่างคอเลสเตอรอลและสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่ให้สีเหลือง จะตกผลึกกันอยู่ที่ก้นถุงน้ำดี และอาจไปอุดตันที่ท่อน้ำดี ทำให้น้ำดีค้างอยู่และเกิดแรงดันภายในถุงน้ำดี จนเป็นที่มาของการอักเสบและติดเชื้อในถุงน้ำดีได้ โดยคนอายุมากกว่า 40 ปี คนท้อง หรือคนมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือน้ำหนักลดลงฉับพลัน อาจเสี่ยงเกิดนิ่วได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น

ถุงน้ำดีอักเสบจากสาเหตุอื่น (Acalculous Gallbladder)

นอกเหนือจากนิ่ว ถุงน้ำดียังอาจอุดตันจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน โดยมักเป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหรือมีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น 

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ท่อน้ำดี
  • เนื้องอกที่ตับอ่อนหรือตับ
  • เลือดไปเลี้ยงถุงน้ำดีไม่เพียงพอ
  • ตะกอนในถุงน้ำดี (Gallbladder Sludge)
  • ท่อน้ำดีตีบ
  • การเคลื่อนไหวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อถุงน้ำดีผิดปกติ
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะหรือท่อน้ำดี แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยมาก

การตรวจถุงน้ำดีอักเสบมีอะไรบ้าง 

การตรวจถุงน้ำดีอักเสบจะคล้ายคลึงกับการตรวจโรคทั่วไปคือ สอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากสงสัยว่าอาจเป็นถุงน้ำดีอักเสบ แพทย์อาจให้ลองสูดหายใจลึก ๆ ขณะกดหรือคลำบริเวณท้องด้านขวาบนแล้วสังเกตอาการผู้ป่วย นอกจากนั้นอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัย ดังนี้

  • การตรวจเลือดหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาว (Complete Blood Count) โดยจำนวนเม็ดเลือดขาวที่สูงอาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อภายในร่างกาย 
  • การตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Tests) เพื่อเช็กสมรรถภาพของตับว่าทำงานผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจภาพถ่ายอวัยวะ เช่น
    • การอัลตราซาวน์ (Ultrasound) โดยใช้คลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจความผิดปกติของตับ กระเพาะปัสสาวะ และการไหลเวียนของเลือด
    • การเอ็กซเรย์ช่องท้อง (X-ray) จะช่วยสร้างภาพของเนื้อเยื่อ กระดูก และอวัยวะภายในช่องท้อง 
    • การทำซีที สแกน (CT Scan) เป็นการใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยให้เห็นรายละเอียดหรือความผิดปกติภายในช่องท้องได้ละเอียดขึ้น
    • การสแกนตับและถุงน้ำดี (HIDA Scan) วิธีนี้จะใช้การฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่หลอดเลือด เพื่อเช็กความผิดปกติหรือการเคลื่อนไหวของถุงน้ำดี รวมถึงท่อน้ำดีที่อุดตัน  

ถุงน้ำดีอักเสบรักษาได้ไหม ทำได้ยังไง

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำดีอักเสบมักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง ในบางกรณีก็จำเป็นต้องผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกไปเลย ซึ่งการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความรุนแรงของถุงน้ำดี รวมถึงดุลยพินิจของแพทย์ เช่น 

การใช้ยารักษาและควบคุมอาการ

  • งดทานอาหารและดื่มน้ำในช่วงแรก เพื่อลดการทำงานของถุงน้ำดีที่อักเสบ
  • ให้น้ำเกลือผ่านหลอดเลือดดำเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปและป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ ช่วยรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย
  • ใช้ยาแก้ปวด ช่วยบรรเทาอาการอักเสบและปวดที่ถุงน้ำดี

ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นใน 2-3 วัน แต่อาการถุงน้ำดีอักเสบอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ จึงอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีในท้ายที่สุด

การผ่าตัดถุงน้ำดีออก 

ปกติแล้วผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัดได้ทันทีที่พร้อม โดยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Cholecystectomy) จะเป็นวิธีที่นิยมใช้ผ่าถุงน้ำดีอักเสบออก เพราะสร้างแผลเล็กเพียงไม่กี่แผล ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่น้อยครั้งมากที่จะใช้วิธีดังกล่าว หลังจากนำถุงน้ำดีออก น้ำดีจะไหลจากตับไปสู่ลำไส้เล็กโดยตรง ซึ่งผู้ป่วยจะยังย่อยอาหารได้ตามปกติ แม้จะไม่มีถุงน้ำดีแล้วก็ตาม 

ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาปรับตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ จนถึงหลักเดือน เพื่อให้คุ้นชินมากขึ้นกับร่างกายที่ไม่มีถุงน้ำดี หลังการผ่าตัดก็อาจพบอาการข้างเคียงได้เช่น น้ำดีไหลช้า ทำให้ปวดท้อง หรือท้องเสียเนื่องจากย่อยอาหารจำพวกไขมันได้ยากขึ้น  

กรณีไม่ได้ผ่าตัดหรือเลื่อนผ่าตัด

หากอาการไม่ดีจนไม่พร้อมที่ผ่าหรือจำเป็นต้องเลื่อนผ่าตัด แพทย์อาจใส่ท่อระบายน้ำดีออกจากถุงน้ำดีผ่านทางช่องท้องหรือผ่านการส่องกล้องทางปาก เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ในกรณีผ่าตัดไม่ได้หรืออาจกำจัดนิ่วในท่อน้ำดีด้วยการส่องกล้อง (ERCP) โดยแพทย์จะฉีดสีที่ท่อน้ำดี หาความผิดปกติแล้วนำนิ่วออกมา

ถุงน้ำดีอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีเป็นส่วนใหญ่ เราควรดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่ว เช่น ลดน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ 

อย่าช้า! ถุงน้ำดีอักเสบจัดว่าเร่งด่วน อย่าปล่อยให้รุนแรงถึงค่อยไปหาคุณหมอ รีบตรวจก่อน ไม่ต้องกังวล หาโปรตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หาความผิดปกติของถุงน้ำดี และโปรตรวจสุขภาพอื่นได้ที่ HDmall.co.th คลิกเลย จองแพ็กเกจได้ก่อนในราคาพิเศษ พร้อมใช้ได้เมื่อสะดวก หรือ ไม่แน่ใจเลือกแพ็กเกจไหนดี ให้แอดมินช่วยแนะนำได้ ที่นี่   

Scroll to Top