child development toys disease definition

ของเล่นลูกต้องเลือก! HOW TO เลือกของเล่น เสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย

“ของเล่น” ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ให้ความสนุกเพลิดเพลินกับเจ้าตัวเล็ก ยังสามารถช่วยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการไปพร้อมกันด้วย แต่ก็ใช่ว่าของเล่นทุกชิ้นจะเหมาะกับลูกน้อยเสมอไป 

วันนี้ HDmall เลยได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว ของเล่นที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของลูกน้อย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 5 ปี มีอะไรบ้าง พ่อแม่ควรเลือกของเล่นอย่างไร ตามมาอ่านกันเลย!

“ของเล่น” สำคัญอย่างไรกับพัฒนาการของลูกน้อย

เด็กเล็กในช่วง 5 ปีแรกเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการรวดเร็ว ของเล่นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการในหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และระบบความคิด “ของเล่น เลยเป็นมากกว่า ของเล่น”

เนื่องจากของเล่นแต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน และความแตกต่างนี้เองจะกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การบีบ การจับ การทำสมาธิ การฝึกคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน เป็นต้น 

แน่นอนว่า ของเล่นจะต้องมาพร้อมกับความสนุก แต่ของเล่นที่ดีสำหรับลูกน้อย จำเป็นจะต้องปลอดภัย กระตุ้นความสนใจ และที่สำคัญต้องเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

วิธีการเลือก “ของเล่น” ให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย

ในช่วงอายุของเด็กตั้งแต่แรกเกิด-5 ปี ในช่วงนี้พ่อแม่จำเป็นต้องสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย พร้อมทั้งคอยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

แต่ละช่วงวัยก็มีจะมีรายละเอียดของพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้ 

ของเล่นสำหรับเด็กแรกเกิด-6 เดือน 

ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่กำลังมีพัฒนาการการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวผ่านตา หู จมูก การสัมผัส เด็กจะให้ความสนใจกับการเคลื่อนที่และเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว มีการเริ่มต้นขยับแขน ขา คอ และศีรษะ หรือการหยิบของต่าง ๆ เข้าปาก 

พ่อแม่ควรเลือกของเล่นที่ช่วยกระตุ้นและเสริมพัฒนาการเกี่ยวกับระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ โดยของเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ได้แก่

  • ของเล่นที่เด็กสามารถสัมผัสหรือเอื้อมจับได้ เช่น ตุ๊กตาผ้า ลูกบอลเล็ก ๆ ยางกัดนิ่ม ๆ หรือของเล่นสำหรับกัด   
  • ของเล่นที่กระตุ้นการฟัง เช่น ของเล่นหรือหนังสือภาพที่มีเสียง ส่งเสียงได้ หรือใช้การเปิดเพลงกล่อมเด็กได้เช่นกัน
  • ของเล่นสำหรับกระตุ้นการมองเห็น เช่น โมบายแขวน กระจกสำหรับเด็กที่ไม่แตก ซึ่งกระจกจะช่วยให้ลูกเรียนรู้การขยับหรือเปลี่ยนแปลงบนใบหน้าของตัวเอง 

ของเล่นสำหรับวัย 7-12 เดือน 

ในช่วงวัยนี้จะเป็นช่วงที่ลูกน้อยค่อย ๆ เรียนรู้การขยับตัว เริ่มตั้งแต่การกลิ้งไปมา การนั่ง การคลาน และการยืนตามลำดับ เป็นช่วงที่ลูกจะเริ่มรับรู้ชื่อของตัวเอง หรือคำพูดง่าย ๆ รู้จักอวัยวะบนร่างกายบางส่วน ตลอดจนมีระบบความคิดที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้น 

ของเล่นที่เหมาะกับช่วงวัยนี้ ได้แก่ 

  • ของเล่นที่เสริมสร้างจินตนาการและสติปัญญา เช่น ตุ๊กตา ตุ๊กตามือหรือหุ่นเชิ่ด รถของเล่น ของเล่นที่ออกแบบมาให้เล่นในน้ำหรือตอนอาบน้ำ
  • ของเล่นสำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ลูกบอล รถของเล่นที่ลากหรือเข็นได้ เบาะนุ่มนิ่มรูปทรงต่าง ๆ ที่เด็กปีนป่ายได้
  • ของเล่นที่ช่วยฝึกสมาธิและกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ตัวต่อแนวตั้ง หรือตัวต่อประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ควรมีขนาดเล็กมากเกินไป

ของเล่นสำหรับวัย 1 ปี

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วง 1 ปี ปกติแล้วลูกจะเริ่มเดินได้มากขึ้น สามารถเริ่มไต่ขึ้นบันไดได้ เริ่มพูดได้เป็นบางคำ ในวัยนี้เป็นวัยที่ลูกสามารถเล่นอะไรได้หลากหลายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับของเล่นที่มีความปลอดภัยมากขึ้นเช่นกัน 

ของเล่นที่เหมาะกับช่วงวัยนี้ ได้แก่ 

  • หนังสือบอร์ดบุ๊ค (Board books) เป็นหนังสือที่มีกลไกง่าย ๆ ให้เด็กดึง หมุน ดัน เลื่อน พร้อมภาพประกอบหรือรูปต่าง ๆ 
  • ของเล่นที่มีเสียงต่าง ๆ เสียงเพลง ทำนอง หรือเล่านิทานสั้น ๆ 
  • ของเล่นที่เสริมสร้างจินตนาการและสติปัญญา เช่น ตุ๊กตาที่มีอุปกรณ์เสริมหรือจับแต่งตัวได้ ของเล่นที่เป็นสิ่งของรอบตัวของลูก ไม่ว่าจะเป็นรถ ตุ๊กตาสัตว์ 
  • ของเล่นที่ช่วยฝึกสมาธิและกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น บล็อกตัวต่อ ควรเลือกขนาดไม่ใหญ่มาก หรือขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว หรืองานศิลปะสำหรับเด็กเล็ก อย่างพวกสีเทียน กระดาษ อุปกรณ์วาดเขียนอื่น ๆ ปราศจากสารพิษหรือล้างออกได้

ของเล่นสำหรับวัย 2 ปี

สิ่งที่โดดเด่นสำหรับพัฒนาการในวัย 2 ปี คือ พัฒนาการด้านภาษา ลูกจะเริ่มเรียนรู้คำต่าง ๆ พยายามเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เริ่มขยับร่างกายได้มากขึ้น สามารถวิ่ง กระโดด ปีนป่ายได้ 

ของเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ได้แก่

  • ของเล่นที่กระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา เช่น สมุดรูปภาพ สื่อวิดีโอการ์ตูนเด็ก  หรือนิทานที่มีเรื่องราวซับซ้อนมากขึ้น โดยให้อ่านช้า ๆ แล้วให้ลูกพูดตาม 
  • ของเล่นที่เสริมทักษะการแก้ปัญหา อย่างจิ๊กซอว์ จำนวนไม่ควรเกิน 12 ชิ้น หรือของเล่นที่ฝึกการจำแนกลักษณะสี ขนาด และรูปทรง 
  • ของเล่นเสริมจินตนาการและสติปัญญา เช่น ให้ลูกเล่นน้ำและทราย หรือของเล่นจำลองสิ่งรอบตัว อย่างเครื่องครัว กล่องพยาบาล ชุดสำหรับแต่งตุ๊กตา
  • ของเล่นที่ช่วยฝึกสมาธิ พวกงานศิลปะสำหรับเด็ก ในวัยนี้สามารถให้ลูกได้ทดลองใช้สีในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสีเทียน พู่กันหัวใหญ่ สีไม้ 
  • ของเล่นเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น จักรยานสี่ล้อ จักรยานสามล้อ ลูกบอล 

ของเล่นสำหรับวัย 3-5 ปี

เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัย 3-5 ปี จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กวัยนี้จะมีสมาธิมากขึ้น สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตัวเองสนใจได้ช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมกับเป็นช่วงวัยที่จะเริ่มหาเหตุผล และตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว 

เด็กจะสนใจอยากลองทำสิ่งต่าง ๆ และเริ่มเล่นกับเด็กวัยเดียวกันมากขึ้น ซึ่งของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ บางส่วนจะคล้ายกับของเล่นในวัย 2 ปี แต่เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ 

  • ของเล่นที่เสริมทักษะการแก้ปัญหา เช่น จิ๊กซอว์ จำนวน 12-20 ชิ้นขึ้นไป
  • ของเล่นเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อและการทรงตัว เช่น สกู๊ตเตอร์ จักรยาน 
  • ของเล่นเสริมสร้างจินตนาการและสมาธิ เช่น เลโก้ก่อสร้าง ตัวต่อรูปต่าง ๆ ดินน้ำมัน สีชอล์ค พู่กันระบายสีหลากหลายขนาด
  • ของเล่นที่เสริมการเรียนรู้สิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน เช่น หนังสือภาพ วิดีโอการ์ตูนสอนร้องเพลง หรือสอนคำศัพท์ต่าง ๆ 

ข้อควรระวังเลือก “ของเล่น” สำหรับลูกน้อย 

นอกเหนือจากการเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามวัยของลูกน้อยแล้วนั้น ยังมีข้อควรระวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม ดังนี้ 

ของเล่นที่ดี ไม่จำเป็นต้องทันสมัยเสมอไป

ในปัจจุบันมีของเล่นมากมายที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็ก ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าของเล่นที่ทันสมัยมากเกินไปก็ส่งผลเสียกับลูกน้อยได้เช่นกัน เช่น

ตุ๊กตาที่สามารถพูดหรือร้องเพลงอาจเป็นการปิดกั้นจินตนาการของลูก เมื่อเทียบกับตุ๊กตาธรรมดาที่ไม่สามารถพูดได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นบทบาทสมมติ เสริมสร้างจินตนาการในแบบของตัวเอง 

รู้จักเล่นให้พอดี 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการ์ตูนหรือเกมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะผ่านโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เรียกความสนใจของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ภายใต้ความสนุกนี้ ก็มีอันตรายซ่อนอยู่ 

มีการศึกษาพบว่า การดูทีวีหรือเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาษาและการสื่อสาร เหมือนเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย โต้ตอบ หรือใช้ความคิดเท่าที่ควร 

ดังนั้น ควรจำกัดระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรงดการให้ดูหรือเล่นสำหรับเด็กที่อายุไม่ถึง 2 ปี 

เล่นทีละน้อย ให้ลูกได้โฟกัสทีละอย่าง 

การมีของเล่นเยอะ ๆ วางอยู่ตรงหน้าพร้อมให้เล่น อาจเป็นสิ่งที่ดูธรรมดา แต่ของเล่นมากมายที่ให้เด็กเล่นพร้อมกันนี่แหละที่อาจทำให้เด็กสมาธิสั้นได้ 

พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องฝึกให้ลูกได้เลือกของที่อยากจะเล่นในแต่ละครั้ง และควรจำกัดจำนวนในการเลือกของเล่น เพื่อให้ลูกได้โฟกัสการเล่นในแต่ชิ้น 

ความปลอดภัย ต้องมาเป็นอันดับแรก 

พ่อแม่และผู้ปกครองจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยเสมอ เพราะของเล่นบางชนิด หากเลือกไม่เหมาะสมอาจเป็นอันตรายกับลูกน้อยได้เช่นกัน เช่น

ให้ของเล่นที่เล็กเกินไปในวัยที่ลูกมักจะนำสิ่งต่าง ๆ เข้าปาก อาจทำให้ติดคอและเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือซื้อสกู๊ตเตอร์ จักรยาน คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องดูพื้นที่ให้เหมาะสม อาจหาอุปกรณ์กันกระแทกมาช่วยป้องกันการบาดเจ็บ

ขึ้นชื่อว่า “ของเล่น” แต่การเลือกให้ลูกกลับไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเข้าใจและรับรู้ถึงพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย และช่วยเลือกของเล่นที่เหมาะกับลูกในช่วงนั้น ๆ จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการและทักษะให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม

และอีกสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรให้ คือ การให้เวลาและความใส่ใจ พ่อแม่และผู้ปกครองควรจะมีส่วนร่วมในการเล่น รวมถึงคอยสังเกต ส่งเสริม และสอนในสิ่งต่าง ๆ ระหว่างเล่นอยู่เสมอ เพื่อให้ในทุก ๆ การเล่นของลูก มีประโยชน์สูงสุด

ของเล่นช่วยเสริมพัฒนาการลูก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อย มีพัฒนาการที่สมวัย? ลองพาลูกน้อยมาตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก HDmall.co.th เรามีดีลดี ๆ พร้อมส่วนลดมากมายรอยู่ คลิก! 

หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ ทักแอดมินได้เลย

Scroll to Top