checklists migraine screening how to check yourself scaled

เช็กด่วน! ปวดหัวแบบนี้…ไมเกรนรึเปล่า?

คุณเคยเจอกับอาการปวดหัวตุบ ๆ เป็นจังหวะที่หัวข้างใดข้างหนึ่งไหม? หากใครเคยเจอกับอาการปวดหัวในลักษณะนี้ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะต้องเข้าใจว่าเป็นอาหารปวดหัวไมเกรน (Migraine) อย่างแน่นอน 

ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดหัวไมเกรนมีรายละเอียด และอาการอื่น ๆ ที่มากกว่าการปวดหัวข้างเดียว HDmall จะพาคุณไปรู้จักกับไมเกรนว่าคืออะไร รวมทั้งวิธีสังเกตสัญญาณอื่น ๆ ของไมเกรนกันด้วย

ไมเกรนคืออะไร ใช่อาการปวดหัวข้างเดียวรึเปล่า?

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทในสมอง เกิดจากระดับสารเคมีในสมองผิดปกติชั่วคราว ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบตัว และคลายตัวมากกว่าปกติ 

ทำให้เกิดอาการปวดหัวตุบ ๆ เป็นจังหวะเดียวกับชีพจร มักจะเป็นเพียงข้างเดียว ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง เสียงดัง และกลิ่น 

อย่างไรก็ตาม อาการปวดไมเกรนก็อาจปวดหัวทั้ง 2 ข้างได้ และยังมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจากอาการปวดหัวทั่วไปด้วย มีรายละเอียดต่อไปนี้

ลักษณะอาการปวด

อาการปวดหัวไมเกรนจะเป็นอาการหัวปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะ เหมือนมีอะไรเต้นอยู่ในหัวหรือโดนบีบตรงขมับ มักจะปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดจากข้างเดียวก่อนแล้วค่อยปวด 2 ข้าง บางคนอาจปวดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็มี โดยแต่ละครั้งที่ปวดอาจปวดสลับข้างไปมา หรือปวดไม่ซ้ำตำแหน่งเดิมได้

ความรุนแรงของอาการปวด

ความรุนแรงของอาการปวดหัวมีหลายระดับ แต่ส่วนใหญ่จะปวดในระดับปานกลางไปถึงรุนแรงมาก 

หากปวดรุนแรงมากก็มักจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีสมาธิจดจ่อ หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นไม่ได้ตามปกติ อาการปวดมักจะกำเริบหรือปวดมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยในข้างต้นมากระตุ้น 

ระยะเวลาและความถี่ของอาการปวด

อาการปวดไมเกรนจะเป็นอยู่หลายชั่วโมง อาจปวดต่อเนื่องเป็นวันหรือหลายวัน ตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง แต่ระยะเวลาการปวดในแต่ละครั้งมักจะเกิดประมาณ 4-7 ชั่วโมง และความถี่ของอาการไมเกรนขึ้นอยู่กับแต่ละคน ส่วนใหญ่จะเกิดราว 2-4 ครั้งต่อเดือน และมักเกิดขึ้นในตอนเช้า 

ระยะของอาการปวด

อาการปวดไมเกรนแบ่งเป็น 4 ระยะด้วยกัน แต่บางคนอาจไม่มีอาการปวดตามระยะของไมเกรนเสมอไป  

  • ระยะก่อนมีอาการ (Prodrome) มักจะมีสัญญาณนำมาก่อนเป็นไมเกรนประมาณ 1-2 วัน เช่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ กล้ามเนื้อคอตึงตัว และท้องผูก
  • ระยะอาการเตือนนำ (Aura) จะเกิดขึ้นราว 1 ชั่วโมงก่อนหน้าอาการปวดหัว หรือระหว่างปวดหัว เช่น มือไม้อ่อนแรง เป็นเหน็บชา ตาพร่ามัว เห็นแสงวูบวาบ ระยิบระยับ หรือได้ยินเสียงวิ้งในหู แต่บางคนอาจไม่มีอาการเตือนระยะนี้ 
  • ระยะปวดหัว (Headache / Attack) เกิดอาการปวดหัวตุบ ๆ อย่างรุนแรงตามจังหวะชีพจร หรือปวดเพียงข้างเดียว อาจเกิดร่วมกับอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ไวต่อแสง เสียงดัง และกลิ่น 
  • ระยะหาย (Postdrome) ภายหลังจากเริ่มหายปวดหัว อาจพบอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบลอ ไม่มีสมาธิคล้ายกับอาการเมาค้าง ไวต่อแสง เสียงดัง และกลิ่น อาการอาจอยู่ได้นานเป็นวัน

สาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของไมเกรน แต่คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่กระตุ้นให้สารเคมีในสมองไม่สมดุล จนทำให้เกิดอาการปวดขึ้น และบางส่วนอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม โดยพบเกือบร้อยละ 80 ของคนเป็นไมเกรน มีประวัติว่าพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

นอกจากนี้ อาการปวดไมเกรนอาจเป็นมากขึ้นหรือกำเริบขึ้นเมื่อเจอกับปัจจัยกระตุ้น เช่น

  • แสงจ้า แสงไฟสว่าง แสงไฟกระพริบ การใช้สายตาเยอะ
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป อาการร้อนชื้นอย่างช่วงก่อนฝนตก 
  • เสียงดัง เสียงจอแจ 
  • ความเครียด อารมณ์หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น ตกใจ
  • การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การอดนอน 
  • การมีประจำเดือน
  • อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต ของหมักดอง แอลกอฮอล์ และผงชูรส

สรุปได้ว่าแค่ปวดหัวข้างเดียวอาจไม่ใช่ไมเกรนเสมอไป ไมเกรนสามารถเกิดกับหัวทั้งสองข้างได้เช่นเดียวกัน ทั้งยังมีปัจจัยและสัญญาณอื่น ๆ ที่อาจแตกต่างจากอาการปวดหัวชนิดอื่น 

แม้ว่าอาการไมเกรนจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่มักใช้เวลานาน จึงอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ หากอ่านบทความนี้แล้วคิดว่า คุณมีความเสี่ยงของไมเกรน การไปปรึกษาแพทย์จะช่วยให้คุณจัดการกับอาการปวดหัวไมเกรนที่กวนใจได้ดีขึ้น โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาป้องกันไมเกรน และแนะนำวิธีดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันไมเกรนกำเริบหรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

ปวดหัวเรื้อรังจนน่าหงุดหงิด? สงสัยว่ากำลังเจอกับไมเกรน? เช็กให้ชัวร์ เพื่อรักษาให้ถูกจุด เช็กและเปรียบเทียบแพ็กเกจตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหัว โดยแพทย์ผู้ชำนาญ จากรพ. ชั้นนำได้ที่ HDmall.co.th จองราคาโปรได้ก่อนทันที คลิกเลย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม นัดหมายจองคิวคุณหมอ แช็ตหาแอดมินที่นี่

Scroll to Top