Default fallback image

อัมพฤกษ์ อัมพาต รู้ทัน รู้เร็ว รักษาได้

เมื่อเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตแล้ว โอกาสที่ร่างกายจะฟื้นฟูกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ค่อนข้างยาก ทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ใช้ชีวิตประจำได้ยากลำบาก หากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา ยังเสี่ยงเกิดความพิการ หรืออาจเสียชีวิตได้เลย 

แม้อัมพฤกษ์ อัมพาตจะดูน่ากลัว แต่ยังมีทางป้องกันและลดความเสี่ยงลงได้ เพียงแค่ต้องเริ่มดูแลตัวเองให้มากขึ้น ไปรู้จักกับอัมพฤกษ์ อัมพาตให้มากขึ้นกัน เพื่อดูแลตนเองและคนที่คุณรักได้อย่างถูกต้องและทันเวลา

อัมพฤกษ์ อัมพาต คืออะไร 

อัมพฤกษ์ อัมพาต (Cerebrovascular accident: CVA) เป็นอาการผิดปกติของ ระบบประสาทที่เกิดขึ้นทันทีทันใดจากหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้เซลล์สมองขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองได้น้อยลง ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลาย

อัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนมากมักเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เลยอาจเรียกได้ว่า เป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งความรุนแรงของอาการจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและบริเวณของสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง 

บางคนอาจเกิดอาการชั่วขณะแล้วหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนเป็นแบบถาวร  

อัมพฤกษ์ อัมพาต เหมือนกันไหม

ทั้งอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นกลุ่มอาการหรือโรคเดียวกัน แตกต่างกันที่ความรุนแรง ดังนี้

อัมพฤกษ์ (Hemiparesis) เป็นภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชาตามร่างกาย เนื่องจากเซลล์สมองถูกทำลายไปบางส่วน มักเกิดขึ้นกับซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย แต่ยังสามารถขยับร่างกายได้บ้าง ทำให้มีปัญหาในการควบคุมร่างกายบางส่วน 

อัมพาต (Paralysis) เป็นภาวะรุนแรงกว่าอัมพฤกษ์ ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้เลย เนื่องจากเซลล์สมองถูกทำลายไปอย่างถาวร แบ่งออกเป็นหลายประเภทตามตำแหน่งที่เป็น ได้แก่ 

  • อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia) จะสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
  • อัมพาตขาทั้งสองข้าง (Paraplegia) ขยับขาไม่ได้ แต่แขนยังใช้งานได้
  • อัมพาตทั้งตัว (Quadriplegia) ไม่สามารถขยับแขนและขาได้ทั้งหมด

สาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต

อัมพฤกษ์ อัมพาต มักเป็นผลมาจาก 2 สาเหตุหลัก อย่างแรกคือ โรคเกี่ยวกับสมอง เช่น มะเร็งในสมอง เส้นเลือดในสมองอุดตัน เลือดออกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง หรือหลอดเลือดในสมองแตกจากโรคความดันโลหิตสูง 

อีกสาเหตุมักมาจากโรคหรือปัญหาที่เกิดกับไขสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังหัก เคลื่อน การติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง เนื้องอกที่กระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต

มีปัจจัยหลายอย่างเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ดังนี้

โรคประจำตัว
โรคประจำตัวหลายโรคมีผลกระทบต่อสุขภาพหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดการอุดตัน เปราะบางจนปริแตกได้ง่าย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูงที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นอัมพาตได้ถึง 3 เท่า

การสูบบุหรี่
สารพิษในบุหรี่จะทำลายหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งหรือบางลง เสี่ยงต่อการปริแตกได้ง่าย รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือดน้อย ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงสมองและอวัยวะต่าง ๆ 

ภาวะอ้วน และขาดการออกกำลังกาย
การขาดการออกกำลังกาย มีน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย และยังเอื้อต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อีกทางด้วย

อายุมากขึ้น
อัมพฤกษ์ อัมพาตมักพบในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ความยืดหยุ่นน้อยลง เกิดคราบไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้ง่าย จนเสี่ยงต่อการแตก ตีบ หรือตันของหลอดเลือด และการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง

ประวัติครอบครัว
หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดสมอง จะเพิ่มโอกาสที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตมากขึ้น โดยเฉพาะญาติสายตรง ไม่ว่าจะพ่อ แม่ และพี่น้อง 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียดเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การนอนกรน ความดันโลหิตต่ำจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นต้น 

สัญญาณเตือนอัมพฤกษ์ อัมพาต เจอต้องรีบพบแพทย์

เบื้องต้นสามารถตรวจเช็กอาการตัวเองและคนใกล้ตัวได้ด้วยหลัก “BE-FAST” ดังนี้

  • B ย่อมาจาก Balance หมายถึง มีอาการวิงเวียนศีรษะ เดินเซ เสียการทรงตัว
  • E ย่อมาจาก Eye หมายถึง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด มองไม่เห็นอย่างฉับพลัน
  • F ย่อมาจาก Face drooping หมายถึง ปากและใบหน้าเบี้ยว ยิ้มแล้วไม่เท่ากัน หนังตาตก มุมปากตก
  • A ย่อมาจาก Arm weakness หมายถึง แขนขาชาหรืออ่อนแรง ไม่มีแรง ยกไม่ขึ้น หรือยกแล้วห้อยตกกว่าปกติ  
  • S ย่อมาจาก Speech difficulties หมายถึง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง พูดติดขัด นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด
  • T ย่อมาจาก Time to call หมายถึง รีบไปโรงพยาบาลทันที การรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ จะช่วยลดความเสียหายของสมอง และมีโอกาสฟื้นตัวได้มาก

อัมพฤกษ์ อัมพาต รักษาได้ไหม

ยิ่งผู้ป่วยมาโรงพยาบาลไว และได้รับการรักษาเร็วเท่าไร จะช่วยลดความพิการ และการเสียชีวิตลงได้ ซึ่งการรักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต จะขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด ระดับความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดอาการ เช่น

การให้ยาละลายลิ่มเลือด
เมื่ออัมพฤกษ์ อัมพาตเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน การใช้ยาละลายลิ่มเลือด (rt-PA) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ตัวยาจะช่วยละลายก้อนเลือดที่แข็งตัวในหลอดเลือดสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ

นอกจากนี้ แพทย์จำเป็นต้องดูจากหลายปัจจัยก่อนให้ยา เช่น สาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ ตัน ระยะเวลาเกิดอาการไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง อายุมากกว่า 18 ปี และไม่มีภาวะเลือดออกในสมอง

การใช้สายสวนหลอดเลือดสมอง
กรณีเส้นเลือดสมองตีบเส้นใหญ่ ให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมารักษาที่โรงพยาบาลช้ากว่า 4.5 ชั่วโมง จะรักษาด้วยการใช้สายสวนหลอดเลือดสมอง

โดยแพทย์จะนำสายสวนขนาดเล็กใส่ผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ตรงขาหนีบไปจนถึงจุดลิ่มเลือดอุดตันที่สมอง จากนั้นจะลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือด เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือดได้

การฝังเข็มและการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน
การฝังเข็มเป็นทางเลือกที่ช่วยฟื้นฟูสมองและระบบประสาท ทำให้การไหลเวียนเลือดกลับมาดีขึ้น ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน 

การทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดรูปแบบต่าง ๆ ในช่วง 3 เดือนแรกหลังเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เช่น ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ การฝึกการทรงตัว และการฝึกการเคลื่อนไหว จะช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ  

การรักษาด้วยเทคโนโลยี TMS
เทคโนโลยี TMS หรือเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เป็นวิธีช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่ยังมีอาการอ่อนแรงหลังการรักษาทั่วไป

นอกจากนี้ บางกรณีอาจจำเป็นต้องทำหัตถการต่าง ๆ เพื่อเอาลิ่มเลือดออก หรือต้องผ่าตัด เพื่อรักษาอาการบวมของสมอง และลดความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกมากขึ้น

วิธีลดความเสี่ยงจากการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต 

การป้องกันการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำได้โดยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรค และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนี้

  • ควบคุมโรคประจำตัว
    หากมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดอยู่ในภาวะปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
  • ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
    การออกกำลังกายช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะการลดอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานจัด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
    การตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยให้สามารถพบความผิดปกติในร่างกายได้แต่เนิ่นๆ และสามารถรักษาได้ทันที ก่อนที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว
  • คลายความเครียด
    ความเครียดสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น ควรพยายามควบคุมและจัดการกับความเครียดให้ได้

โรคสมองไม่ใช่เรื่องที่เกิดทันทีทันใด การเปลี่ยนแปลงของสมองจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ป้องกันก่อนสาย! รวม แพ็กเกจตรวจสุขภาพสมอง จากผู้เชี่ยวชาญ สะดวก จองง่าย ผ่าน HDmall.co.th

Scroll to Top