สิวสามารถบอกโรคได้จริงหรือไม่

สิวสามารถบอกโรคได้จริงหรือไม่

สิวเป็นปัญหาการอุดตันของต่อมไขมันและรูขุมขนที่มักเกิดบนใบหน้า ซึ่งในแต่ละคนก็จะเป็นสิวตามตำแหน่งของใบหน้าที่แตกต่างกัน อีกทั้งระยะเวลาในการหายจากสิว ยังช้าเร็วแตกต่างกันด้วย ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมีการเผยแพร่ข้อมูล หรือรูปภาพเกี่ยวกับการเกิดสิวตามตำแหน่งต่างๆ ของใบหน้าซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงสัญญาณการเกิดโรค หรือความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายได้ ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่า สิวบอกโรคได้จริงหรือไม่

คำตอบคือ “ได้” เพียงแต่การเกิดสิวจะต้องเกิดขึ้นพร้อมอาการผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายด้วย จึงจะบ่งบอกได้ว่า คุณกำลังป่วยเป็นโรคบางอย่างอยู่ แต่หากคุณเป็นสิวตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของใบหน้า แต่ไม่ได้เจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวอะไร ปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เข้ามาพิสูจน์ได้ว่า คุณกำลังป่วยเป็นโรคร้ายแรงอยู่ ดังนั้นหากคุณเป็นสิวร่วมกับมีภาวะความผิดปกติของร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด

จากข้อมูลแพทย์แผนจีน และแพทย์แผนปัจจุบัน ได้สันนิษฐานสาเหตุการเกิดสิวตามตำแหน่งบนใบหน้า รวมถึงวิธีรักษาได้ดังนี้

สิวที่หน้าผาก และขมับ

สิวบนหน้าผากมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือความเครียด

นอกจากนี้สิวบนหน้าผากยังเกิดขึ้นได้จากการใส่หมวก การไว้ผมหน้าม้า เครื่องสำอาง หรือการใส่ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมก็ได้ ส่วนผู้ที่มีพฤติกรรมชอบจับหน้าผาก หรือปาดเหงื่อระหว่างวันก็เสี่ยงทำให้เกิดสิวบนหน้าผากได้เช่นกัน

วิธีลดสิวบนหน้าผาก

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • สระผมให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
  • เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม หากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นๆ ทำให้เป็นสิว
  • เปลี่ยนทรงผม ไม่ให้ปรกหน้าผาก
  • อย่าใส่หมวกบ่อยๆ หรือหากจำเป็นต้องใส่ ให้หมั่นทำความสะอาดหมวกเป็นประจำ
  • ล้างหน้าทุกวันเพื่อขจัดน้ำมันจากรูขุมขนไม่ให้เกิดการหมักหมม แต่หากลองแล้วยังเป็นสิวอยู่ ให้ซื้อยาแต้มสิว benzoyl peroxide หรือ Saliylic Acid มาลองใช้ดู
  • ใช้เครื่องสำอางที่ไม่ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน (non comedogenic)

สิวที่แก้ม

เราสามารถแบ่งตำแหน่งที่เกิดสิวที่แก้มได้ 2 ตำแหน่งคือ โหนกแก้มและพวงแก้ม

  • สิวที่ตำแหน่งโหนกแก้ม มักมีสาเหตุมาจากระบบทางเดินหายใจที่อาจได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือสารระคายเคืองเข้าไปมากโดยที่คุณไม่รู้ตัว
  • สิวที่พวงแก้ม มักมีสาเหตุหลักๆ มาจากการไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะที่เป็นพิษ รวมถึงเชื้อโรคบนปลอกหมอนหนุน โทรศัพท์มือถือที่ต้องแนบแก้มขณะพูดคุย

นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพฟันและพฤติกรรมชอบเอามือจับใบหน้าบ่อยๆ ก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดสิวที่แก้มได้

วิธีลดสิวที่แก้ม

  • ปรับให้สภาพอากาศรอบตัวสะอาดขึ้น เช่น ซื้อเครื่องฟอกอากาศ ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ปลูกต้นไม้รอบบ้าน การทำให้สภาพอากาศรอบๆ ตัวสะอาด นอกจากจะช่วยลดสิวได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อากาศ โรคไข้หวัด โรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งเกี่ยวพันกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ด้วย
  • แปรงฟันให้สะอาดทุกวันและไปตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ เพราะสุขภาพฟันมีผลทำให้เกิดสิวที่แก้มได้
  • ทำความสะอาดหน้าจอโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ หรืออาจหาซื้อหูฟังบลูทูธที่สามารถคุยโทรศัพท์ได้ โดยไม่ต้องเอาโทรศัพท์มือถือแนบกับแก้ม
  • เปลี่ยนปลอกหมอนหนุนและหมอนข้างทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรีย

สิวที่ตำแหน่งทีโซน (T-Zone)

ทีโซนคือ ตำแหน่งระหว่างคิ้วทั้งสองข้างลงไปตำแหน่งจมูกจนถึงคางของใบหน้าคล้ายกับรูปตัว T ส่วนมากมักเกิดจากอาการภูมิแพ้อาหาร

ส่วนสิวตำแหน่งจมูกมักมีสาเหตุมาจากปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของตับ และไต นอกจากนี้การเกิดสิวที่ตำแหน่งทีโซนก็ยังเกี่ยวข้องกับการอุดตันของรูขุมขนเช่นเดียวกับสิวตำแหน่งอื่นๆ ด้วย

วิธีลดสิวที่ตำแหน่งทีโซน

  • ล้างหน้าอย่างสม่ำเสมอเพราะตำแหน่งทีโซน จัดเป็นตำแหน่งที่มีการผลิตน้ำมันบนใบหน้ามากกว่าตำแหน่งอื่น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด หรือรสเผ็ดบ่อยๆ เพราะจะทำให้ตับกับไตทำงานหนักขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย หรือไม่มีประโยชน์ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารจากนม อาหารฟาสต์ฟู้ด และหันมารับประทานผัก ผลไม้มากขึ้น เพื่อเสริมวิตามินและแร่ธาตุให้ร่างกาย
  • ลดความเครียด หมั่นหากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียดและไม่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูง หรือหากมีความเครียดมากอาจไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม

สิวที่คาง และกราม

สิวที่เกิดตำแหน่งคาง กราม หรือกรอบหน้าทั้งสองข้าง มักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ จนทำให้น้ำมันที่ผลิตออกมาจากรูขุมขนเพิ่มปริมาณมากขึ้นและเกิดการอุดตัน

ดังนั้นผู้หญิงทุกคนอย่าแปลกใจหากคุณจะเป็นสิวที่คาง หรือที่กรอบหน้าในช่วงใกล้มีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้การทำงานของลำไส้ยังเกี่ยวข้องกับการเกิดสิวตำแหน่งคาง และกรามด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต หรือน้ำตาลสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารจากนม

วิธีลดสิวที่คาง และกราม

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน นม และคาร์โบไฮเดรตสูงเป็นประจำ แล้วเปลี่ยนมารับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เสริมสารเพิ่มระดับฮอร์โมนเข้าไป โดยตรวจเช็คที่ฉลากอาหารก่อนซื้อ
  • พักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนเพลีย
  • ลองดื่มชาสเปียร์มินต์ และอาหารที่มีไขมันโอเมกา 3 (Omega-3) เช่น ไข่ ปลาแซลมอน ถั่วลันเตา เพราะอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้มีส่วนช่วยปรับการทำงานที่ไม่สมดุลของฮอร์โมนได้
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อให้รู้ถึงผลข้างเคียงจากการรับประทานยา ซึ่งอาจรวมไปถึงการเกิดสิวด้วย

สิวที่หลัง แขน และต้นขา

นอกจากสิวที่ตำแหน่งบนใบหน้า สิวยังสามารถเกิดตามตัว โดยเฉพาะบริเวณแผ่นหลัง หลังแขน หรือต้นขาได้ โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการเสียดสีของเสื้อผ้ากับผิวหนังตำแหน่งที่เป็นสิว

ผู้ที่เล่นกีฬาหนักๆ หรือบ่อยครั้งจนเสื้อผ้าเปียกเหงื่อ ผู้ที่ชอบสะพายเป้ที่หลัง ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ผู้ที่แพ้น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงสบู่อาบน้ำ โลชั่นทาตัว หรือครีมกันแดดคือ กลุ่มผู้ที่มักเสี่ยงเกิดสิวตามตัวมากที่สุด

หรือหากไม่เกิดอาการแพ้ ผู้ที่เป็นสิวตามตัวก็อาจมีน้ำมันจากรูขุมขนตามร่างกายมากกว่าคนปกติ จนเมื่อไปสัมผัสกับครีมบำรุงที่ทาตามตัว หรือเสื้อผ้าที่ใส่มาทั้งวัน จึงเกิดการหมักหมม และอักเสบกลายเป็นสิว

วิธีลดสิวที่หลัง แขน และต้นขา

  • ใส่เสื้อผ้าไม่คับ หรือแน่นเกินไป หลีกเลี่ยงการใส่ผ้าใยสังเคราะห์ เพราะจะยิ่งไปสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหนัง
  • เปลี่ยนน้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักผ้า น้ำยารีดผ้า รวมถึงสบู่ โลชั่น ครีมกันแดด คุณอาจลองเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน เพื่อสังเกตว่า สิ่งนั้นใช่ตัวการทำให้เกิดสิวหรือไม่
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการทำงานของฮอร์โมนว่า “ผิดปกติหรือไม่” แต่โดยปกติ การเกิดสิวตามตัวสามารถเกิดขึ้นได้ในวัยรุ่น หรือผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลง
  • หลีกเลี่ยงอย่าให้ผิวส่วนที่เป็นสิวสัมผัสแสงแดด เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันออกมา จนเกิดการอุดตันมากขึ้น
  • อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำโดยเฉพาะหลังเล่นกีฬา หรือเมื่อมีเหงื่อออกมากๆ แต่ไม่จำเป็นต้องล้าง หรืออาบซ้ำๆ มากเกินไป เพราะการอาบน้ำบ่อยเกินไปก็ทำให้ผิวหนังอักเสบ หรือแห้งจนระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นต่อผิวที่มีสารมอยเจอร์ไรเซอร์มากเกินไป เพราะนั่นไม่ต่างจากการเพิ่มน้ำมัน และสารเพิ่มการอุดตันให้กับผิวหนัง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ได้มีประโยชน์แค่เพื่อลดการเกิดสิวเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณรู้จักดูแลความสะอาด และบำรุงสุขภาพผิวอย่างถูกวิธีด้วย

อย่างไรก็ตาม หากลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดสิวแล้วยังไม่หายดี ให้ลองปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อให้วินิจฉัยลักษณะ หรือชนิดของสิว รวมถึงวิเคราะห์สภาพผิวหนังอย่างละเอียด เพื่อให้ได้รับการรักษาสิวอย่างถูกต้องและเหมาะสม


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top