ยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน (bromhexine-codeine) ยาที่มีตัวยาสำคัญ 2 ชนิดนี้ เป็นยารูปแบบยาผสม บรอมเฮกซีน-โคดิอีนเป็นตำรับยาแก้ไอ ขับเสมหะ โดยประกอบด้วยตัวยาสำคัญ 2 ตัวยา คือ บรอมเฮกซีน ซึ่งมีฤทธิ์ขับเสมหะ และโคดิอีน ซึ่งมีฤทธิ์กดอาการไอ
บรอมเฮกซีน เป็นยาในกลุ่มยาละลายเสมหะ ใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับการมีเมือกในระบบทางเดินหายใจมากเกินไป นอกจากนี้แล้วบรอมเฮกซีนยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย
ยาโคดิอีน เป็นยาในกลุ่มโอพิออยด์ (opioid) มีฤทธิ์ยับยั้งการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง มีฤทธิ์ยับยั้งการไอ มีการใช้ในตำรับยาแก้ไอ แต่นับไม่มีหลักฐานการศึกษารองรับการใช้โอพิออยด์เพื่อใช้กดอาการไอเฉียบพลันในเด็ก โดยในยุโรปไม่แนะนำให้ใช้ยาโคดิอีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
สารบัญ
- สรรพคุณของบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- กลไกการออกฤทธิ์ของบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- ข้อบ่งใช้สำหรับบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- ข้อควรระวังของการใช้ยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- ข้อมูลการใช้ยาบรอมเฮกซีน ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
สรรพคุณของบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- Bromhexine เป็นยาละลายเสมหะ ที่ช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้เสมหะไหลออกง่ายขึ้น และช่วยในการขับเสมหะออกจากทางเดินหายใจ ใช้ในการรักษาอาการไอที่มีเสมหะ เช่น อาการไอจากโรคหลอดลมอักเสบ หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
- Codeine เป็นยาต้านไอ และยาแก้ปวดที่ช่วยระงับอาการไอและบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยทำงานที่สมองเพื่อลดการตอบสนองต่ออาการไอ ใช้ในการระงับอาการไอแห้งที่ไม่มีเสมหะ และบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง
ยา Bromhexine ที่ใช้ในไทยส่วนใหญ่เป็นยาเม็ดขนาด 8mg นอกจากนี้มีขนาด 16 mg ใช้ในบางประเทศ และมียาแบบน้ำเชื่อมและแบบแบบหยอดให้เลือกใช้
กลไกการออกฤทธิ์ของบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
บรอมเฮกซีนออกฤทธิ์กับเสมหะที่ขั้นการสร้างเสมหะที่เกิดขึ้นในเซลล์ที่เกิดการหลั่งเมือก โดยบรอมเฮกซีนเข้าทำลายโครงสร้างของกรดมิวโคโพลิแซกคาไรด์ (mucopolysaccharide) ทำให้เสมหะมีความเหนียวลดลง การขับเสมหะออกทำได้ง่ายขึ้น บรอมเฮกซีนมีความเป็นพิษต่ำ
โคดิอีนเลียนแบบการออกฤทธิ์ของโอพิออยด์ที่หลั่งขึ้นภานในร่างกายโดยเข้าจับที่ตัวรับโอพิออยด์ ในระบบประสาทส่วนกลาง การกระตุ้นตัวรับมิว (mu receptor) ทำให้เกิดการลดลงของการหลั่งสารสื่อประสาทโนซิเซปทีฟ ได้แก่ substance P, GABA, dopamine, acetylcholine, และ noradrenaline กลไกการยับยั้งการไอนั้นยังไม่มีการศึกษากลไกชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากความสามารถในการกดการตอบสนองต่อการไอที่ศูนย์การไอในสมองส่วนเมดัลลา
ข้อบ่งใช้สำหรับบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
พิจารณาจากปริมาณตัวยาสำคัญของยาในสูตรผสม โดย
- ยาโคดิอีน ข้อบ่งใช้สำหรับกดอาการไอ ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 15-30 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง จำเป็นต้องมีการปรับขนาดการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ
- ยาบรอมเฮกซีน ข้อบ่งใช้สำหรับละลายเสมหะ ยาในรูปแบบยาเม็ดหรือยาน้ำสำหรับรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 8-16 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
ไม่แนะนำให้ใช้ยาสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของโคเดอีนในเด็ก
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
ข้อควรระวังของการใช้ยาบรอมเฮกซีน มีดังนี้
- ระวังการใช้ยานี้ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหืด (asthma)
- ระวังการใช้ยานี้ ในผู้ป่วยโรคตับ และไตรุนแรง
ข้อควรระวังของการใช้ยาโคเดอีน มีดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วย acute respiratory depression
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยตับวาย
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยหืดเฉียบพลัน หรือรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของระบบทางเดินอาหาร
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความดันในกระโหลดสูง
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
- ห้ามใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitor ในช่วง 14 วันก่อนได้รับยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบรอมเฮกซีน-โคดิอีน
- ยาบรอมเฮกซีน นี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาจก่อให้เกิด คลื่นไส้ อาเจียน angioedema อาการบวม ผื่นแดง หลอดลมหดตัว มึนงง เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ปวดท้องส่วนบน ท้องเสีย เพิ่มค่าผลปฏิบัติการ serum amino transferase
- ยาโคเดอีน อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง ได้แก่ กดระบบประสาทส่วนกลาง ความดันโลหิตต่ำ ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า ใจสั่น น้ำตาลในเลือดสูง อาการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ กดระบบทางเดินหายใจ อาการอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ มึนงง ปวดศีรษะ สับสน ส่งผลต่ออารมณ์ เห็นภาพหลอน ฝันร้าย ผื่น เหงื่ออกมาก
ข้อมูลการใช้ยาบรอมเฮกซีน ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- ตัวยาบรอมเฮกซีนจัดอยู่ในกลุ่ม category A คือ ยามีความปลอดภัยในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์
- ตัวยาโคเดอีนจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
- ยังไม่มียาสูตรผสมนี้ในประเทศไทย โดยยาบรมเฮกซีน จัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป (NDD) และยาโคเดอีน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภทที่ 2 ไม่มีวางจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป
- การใช้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา
- แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
- แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง