รู้ไหมว่า…ตั้งแต่ลูกลืมตาดูโลก ดวงตาของเด็กจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลานี้เองที่พ่อแม่ควรใส่ใจต่อความผิดปกติที่อาจเกิดกับดวงตาของลูก เพื่อให้ลูกมีการมองเห็นที่ดีในระยะยาว และยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้และพัฒนาการที่ดีในด้านอื่น ๆ ตามมา
ในบทความนี้ เราจะพาไปดูพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นของเด็กพัฒนาอย่างไร พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพดวงตาของลูกน้อยอย่างไร
สารบัญ
พัฒนาการทางสายตาของลูกน้อย แต่ละช่วงวัยมองเห็นอะไรบ้าง
ดวงตาของเด็กไม่ได้มองเห็นชัดเจนตั้งแต่แรกเกิด แต่จะค่อย ๆ พัฒนาไปจนใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 4–5 ปี พ่อแม่ควรสังเกตพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกให้เป็นไปตามปกติตามช่วงวัย ดังนี้
แรกเกิด–3 เดือน
การมองเห็นยังไม่ชัดเจน เด็กจะเห็นแค่ลาง ๆ ในระยะ 8–12 นิ้ว เป็นภาพขาวดำ ยังไม่สามารถโฟกัสภาพและมองตามวัตถุได้ เมื่อเจอแสงจ้ามักหันหน้าหรือกะพริบตา ลูกตายังไม่ประสานกันดี อาจดูเหมือนตาเขหรือตาเหล่เล็กน้อย
4 เดือนขึ้นไป
เริ่มมองเห็นภาพแบบมีมิติมากขึ้น เห็นสีได้นิดหน่อย จดจำสิ่งของและใบหน้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะใบหน้าพ่อแม่ การโฟกัสภาพดีขึ้น มองตามสิ่งของที่อยู่ใกล้ได้ สายตาทำงานประสานกับมือได้ดี เริ่มเอื้อมมือหยิบของที่อยู่ใกล้ ถ้ามีอาการตาเหล่ชัดเจน ควรพาไปพบจักษุแพทย์
6 เดือนขึ้นไป
สนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น หันมองตามวัตถุที่สนใจหรือเคลื่อนไหวเร็วได้ เห็นสีได้ชัดเจน มองเห็นภาพสามมิติใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เริ่มแยกระยะใกล้และไกลได้ แต่ยังมองระยะไกลได้ไม่ชัดมาก คลานไปหาวัตถุที่ไกล ชี้หรือหยิบจับสิ่งของได้แม่นยำ
ช่วงอายุ 1–3 ปี
พัฒนาทางสายตาจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วจนสมบูรณ์ในช่วงอายุ 2 ปี ใช้ตาทั้งสองข้างร่วมกันได้ดีในทุกระยะ รู้ความลึกของภาพดีขึ้น แยกรูปร่างและวัตถุต่าง ๆ จดจำวัตถุที่คุ้นเคยได้ เดินเข้าไปหาและเล่นกับสิ่งที่สนใจ
ช่วงอายุ 3–6 ปี
การมองเห็นใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เห็นภาพและรายละเอียดต่าง ๆ ได้ชัดเจน แยกแยะสีต่าง ๆ ได้ จดจำรูปร่างซับซ้อนและตัวอักษร รู้จักตัวอักษรหรือคำบางคำ เริ่มอ่านหนังสือได้ มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น
สัญญาณเตือนลูกอาจมีปัญหาทางสายตา
แม้ว่าลูกจะมีพัฒนาการเป็นไปตามปกติ แต่หากพบความผิดปกติทางสายตา พ่อแม่ไม่ควรชะล่าใจ ต้องรีบพาลูกไปตรวจตากับจักษุแพทย์ก่อนสายเกินไป โดยเฉพาะเด็กมีประวัติสายตาผิดปกติในครอบครัว
เด็กอายุ 2 เดือน–2 ปี
เด็กยังไม่มองหน้าแม่ ไม่มองตาม ไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คล้ายมองไม่เห็น ตาเข น้ำตาเอ่อล้น ตาดำสั่น จุดขาวหรือจุดสว่างในตา กระจกตาดำใหญ่กว่าปกติ หนังตาตก 1 หรือ 2 ข้าง อาจเสี่ยงกับภาวะสายตาขี้เกียจ
เด็กอายุ 2–6 ปี
เด็กเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ตาเข คันตา ขยี้ตา กะพริบตาบ่อยผิดปกติ ปวดศีรษะหรือปวดตาจากการมอง เวลามองจะเอียงหน้า เอียงคอ หยีตามอง หรือเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ทุกครั้ง อาจบ่งบอกว่าเด็กมีปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสาเหตุอื่นที่ต้องตรวจโดยจักษุแพทย์
วิธีดูแลสุขภาพตาในเด็ก พ่อแม่ทำเองได้ง่าย ๆ
วิธีถนอมสายตาของลูกให้สุขภาพดีและแข็งแรง ควรเริ่มดูแลตั้งแต่ลูกยังเล็ก เริ่มจากดูแลร่างกายของลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เมื่อต้องอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน ควรให้ลูกนั่งในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่สลัวหรือแสงจ้าเกินไป ไม่ควรให้นอนคว่ำหรือนอนหงาย เพราะหน้าลูกอยู่ใกล้กับหนังสือมากไป ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อตามากกว่าปก ติจนอาจเกิดอาการปวดตาได้
นอกจากนี้ ไม่ควรให้ลูกเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ต วิดีโอเกม ดูทีวีหรืออยู่หน้าจอทั้งวัน เพราะแสงสีฟ้า (Blue light) เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา ควรให้เด็กออกไปเล่นกลางแจ้งบ้าง และควรปรับแสงของหน้าจอให้ไม่จ้าจนเกินไป ในห้องควรมีแสงสว่างพอสมควร
อีกสิ่งที่ควรระวังคือ ไม่ควรให้ลูกอ่านหนังสือหรือเล่นเกมในรถ เพราะการสั่นสะเทือนของรถทำให้สายตาล้าได้ง่าย และต้องเพ่งสายตามากกว่าปกติ และควรพาลูกไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพราะบางโรคอาจไม่แสดงอาการทางสาย หรืออาการอาจไม่ได้ชัดเจน
เมื่อไรควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์
โดยทั่วไป จักษุแพทย์เด็กมีคำแนะนำให้พาเด็กไปตรวจตาตามช่วงวัย คือ แรกเกิดถึง 6 เดือน อายุ 3 ปี อายุ 5–6 ปี หลังจากนั้นทุก 1–2 ปี หรือบ่อยกว่านั้นได้หากลูกมีปัญหาสายตา
กรณีที่ไม่ได้รับการตรวจตาตามช่วงวัย เด็กทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าเรียน หรือก่อนช่วงอายุ 3–4 ปี เพื่อประเมินการมองเห็น และคัดกรองความผิดปกติด้านสายตา
ตรวจตาเด็กก่อนวัยเรียน เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย ปรึกษาจักษุแพทย์เด็กในราคาพิเศษ คลิกดู ตรวจประเมินพัฒนาการและสายตาเด็กทุกช่วงวัย ที่ HDmall.co.th