ผื่นภูมิแพ้เป็นปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในวัยทารกและเด็กเล็ก เป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนต้องเผชิญ อาการอาจแตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญคือการดูแลที่เหมาะสม วันนี้เราจะมาดูว่า สาเหตุของผื่นภูมิแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร และควรดูแลลูกน้อยอย่างไรให้เหมาะสม เพื่อช่วยอาการไม่สบายตัวของลูกน้อยและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
สารบัญ
สาเหตุของผื่นภูมิแพ้ในเด็ก
การเข้าใจสาเหตุของผื่นภูมิแพ้ในเด็กจะช่วยให้พ่อแม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสภาพแวดล้อม และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดอาการและป้องกันการกำเริบของผื่นได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นภูมิแพ้ในเด็กหลักๆ จะแบ่งออกเป็น ดังนี้
กรรมพันธุ์
ผื่นภูมิแพ้มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด ลมพิษ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วย เพราะร่างกายมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ
อาหารที่กระตุ้น
อาหารบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผื่นภูมิแพ้ได้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีแนวโน้มแพ้อาหาร ตัวอย่าง ของอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ แป้งสาลี และถั่วและอาหารทะเล ซึ่งอาการแพ้อาหารอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เด็กบางคนอาจมีอาการแพ้ทันทีหลังรับประทาน ขณะที่บางคนอาจมีอาการสะสมและแสดงออกช้ากว่าปกติ
สารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม
เด็กที่มีภาวะผื่นภูมิแพ้มักมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้รอบตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผื่นคันและอักเสบได้ง่าย เช่น ฝุ่นละออง ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ น้ำหอมและสารเคมี เป็นต้น
ผิวแห้งและระคายเคืองง่าย
เด็กที่มีผิวบอบบางมักสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ทำให้เกิดอาการแห้ง ตึง และแตก ส่งผลให้ผิวมีแนวโน้มเกิดการอักเสบและผื่นภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น
ลักษณะผื่นภูมิแพ้ในเด็ก
ลักษณะของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไปตามอายุ ซึ่งโดยรวมจะมีลักษณะ ดังนี้
- ผื่นแดง หรือเป็นปื้นแดง
- คัน
- ผิวแห้ง ลอก แตกเป็นขุย
- ตุ่มน้ำใส หรือมีน้ำเหลืองซึม
- ผิวหนาขึ้นและมีรอยเกา
ตำแหน่งของผื่นที่ขึ้นตามช่วงอายุ ได้แก่
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผื่นมักขึ้นที่ แก้ม คอ ศีรษะ ข้อศอก ข้อเข่า หน้าผาก ผิวแขนขาด้านนอก ข้อมือ ข้อเท้า
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปี ผื่นมักขึ้นที่ ข้อพับแขน ข้อพับขา ข้อมือ หลังเข่า คอ ลำตัว
วิธีรักษาผื่นภูมิแพ้ในเด็ก
หากผื่นลุกลามหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการรักษาโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น ดังนี้
- ยาทาสเตียรอยด์: ใช้เพื่อลดการอักเสบ ยาจะมีความแรงหลายระดับ การเลือกใช้ยาควรพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ โดยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- ยาต้านฮีสตามีน: ช่วยลดอาการคัน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ทำให้เด็กนอนหลับได้ดีขึ้น การเลือกใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับอาการ
- ยาทาที่ไม่มีสเตียรอยด์: ยากลุ่มนี้ เช่น ยา Pimecrolimus หรือ Tacrolimus เป็นยากดภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ใช้ในกรณีที่เด็กไม่สามารถใช้ยาสเตียรอยด์ได้ หรือในบริเวณที่ผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- การรักษาด้วยการฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต: ใช้ในกรณีที่ผื่นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป และจะใช้รักษาในผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี เพราะอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น ผิวแก่ก่อนวัยหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
วิธีดูแลเด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้
การดูแลด้านอาหาร
อาหารบางชนิดอาจกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าอาหารชนิดใดมีผลต่อเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่อาจกระตุ้นภูมิแพ้ เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี อาหารแปรรูป น้ำตาลสูง แนะนำให้กินอาหารที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น ปลาแซลมอน อะโวคาโด ผักใบเขียว หรือน้ำมันมะกอก เป็นต้น
การดูแลสิ่งแวดล้อม
เด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้มักไวต่อสิ่งรอบตัว ควรปรับสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและปลอดสารก่อภูมิแพ้ เช่น ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด เพราะทำให้ผิวแห้ง รวมถึงระวังสารเคมีและกลิ่นแรง เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก น้ำหอม อาจทำให้ผื่นแย่ลงได้
การดูแลผิวและสกินแคร์
ผิวของเด็กที่เป็นภูมิแพ้จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการระคายเคือง เช่น เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและให้ความชุ่มชื้นทุกวัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการอาบน้ำนานหรือใช้น้ำร้อน เป็นต้น
รู้ทันโรคภูมิแพ้ ป้องกันก่อนเกิดอาการรุนแรง ดูแลลูกน้อยที่คุณรักด้วยแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ ในราคาสุดคุ้ม พร้อมโปรโมชันพิเศษได้ที่ HDmall.co.th